xs
xsm
sm
md
lg

เผยหน่วยแพทย์พระราชทานฯ ช่วยเหลือผู้ป่วยนาร์กีสเกือบ 4,000 ราย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สธ.เผยหน่วยแพทย์พระราชทานฯ ชุดแรกจำนวน 30 คน ที่เดินทางไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจากพายุไซโคลนนาร์กีส ที่ประเทศพม่า เป็นเวลา 2 สัปดาห์ ได้ช่วยเหลือผู้ป่วยเกือบ 4,000 ราย พร้อมวางแผนให้การดูแลต่อเนื่อง ทั้งด้านการฟื้นฟูสภาพจิตใจ การดูแลเด็กกำพร้า และการปรับปรุงสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม

นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า วานนี้ (29 พ.ค.) ได้เดินทางพร้อมคณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข นำหน่วยแพทย์พระราชทานในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ชุดที่ 2 จำนวน 30 คน เดินทางไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจากพายุไซโคลนนาร์กีส ที่ประเทศพม่า ต่อ เนื่องจากชุดแรก โดยเข้าพบนายแพทย์เมียวอู (Dr. Mya Oo) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขสหภาพพม่า หารือแนวทางการทำงานช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติต่อไป ซึ่งทางการพม่าได้ขอบคุณและยินดีในความช่วยเหลือของไทย สำหรับสิ่งที่พม่ายังต้องการ คือ ยาและเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ ซึ่งไทยยินดีให้การสนับสนุน

นายไชยา กล่าวว่า ได้รับรายงานสรุปผลการดำเนินงานหน่วยแพทย์พระราชทานฯ ชุดที่ 1 จากนพ.พิชิต ศิริวรรณ หัวหน้าคณะ ว่า จากการช่วยเหลือตรวจรักษาโรคผู้ประสบภัยที่เมืองเมียเมี๊ย (Myaungmya) และ เมืองลาบุดทา (Labutta) เป็นเวลา 2 สัปดาห์ พบผู้ป่วยจำนวนกว่า 3,600 ราย ในจำนวนนี้เป็นเด็กประมาณ 900 ราย ส่วนใหญ่ร้อยละ 90 ป่วยเป็นโรคทั่วๆ ไป เช่น โรคระบบทางเดินหายใจ ทางเดินอาหาร บาดแผล แผลอักเสบเป็นฝี ไม่พบโรคติดต่อร้ายแรงใดๆ ที่น่าเป็นห่วงคือสภาพจิตใจของผู้ประสบภัย เพราะผ่านการสูญเสียครั้งใหญ่ในชีวิต โดยเฉพาะเด็กกำพร้าที่มีอยู่กว่า 320 ราย ซึ่งทางการพม่าได้ตั้งศูนย์ดูแลเด็กกำพร้าที่เมืองเมียเมี๊ย

ด้านนพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กล่าวว่า ขณะนี้ทางพม่ายังมีปัญหาที่หลงเหลืออยู่หลายเรื่อง ได้แก่ การเยียวยาด้านจิตใจ การปรับปรุงสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม และการดูแลเด็กกำพร้า การเตรียมหน่วยแพทย์พระราชทานฯ ชุดที่ 2 จึงมีการปรับทีมให้เหมาะสม ตรงกับความต้องการของพื้นที่มากขึ้น โดยแพทย์ชุดแรกจะเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ เช่น แพทย์ผ่าตัด ด้านกระดูก แต่ผู้ป่วยที่พบส่วนใหญ่จะป่วยด้วยโรคทั่วไปมากกว่า ในการจัดหน่วยแพทย์พระราชทานฯ ชุดที่ 2 นอกจากจะมีแพทย์รักษาโรคทั่วไปแล้ว ยังได้เพิ่มกุมารแพทย์ ทันตแพทย์ จิตแพทย์ รวมทั้งทีมด้านระบาดวิทยา และทีมสำรวจปรับปรุงด้านสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมด้วย สำหรับพื้นที่การทำงานของหน่วยแพทย์พระราชทานฯ ชุดที่ 2 ขณะนี้อยู่ระหว่างหารือกับทางการพม่า
กำลังโหลดความคิดเห็น