xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการ สธ.เผยงานวิจัย ตัดจีเอสพีไม่เกี่ยวซีแอล ชี้ไม่กระทบสินค้าส่งออก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักวิชาการ สธ.เสนองานวิจัยยัน ตัดจีเอสพีไม่เกี่ยวซีแอล ไม่กระทบยอดขายสินค้าส่งออก แถมขายดีกว่าเดิม การค้าขยายตัวเพิ่มขึ้น เพราะสินค้าไทยมีจุดเด่น

นายอดุลย์ โมฮารา นักวิจัยประจำโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ได้นำเสนอผลงานประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุขเรื่องการศึกษาผลกระทบของการประกาศใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร(ซีแอล)ต่อการส่งออกสินค้าของประเทศไทยปี 2548-2550 โดยได้ศึกษาแนวโน้มการส่งออกของสินค้าในช่วงปี 2548-2550 และประวัติการให้สิทธิ ซึ่งพบว่า จากข้อมูลของกรมส่งเสริมการส่งออกพบว่า ภายหลังจากที่ไทยทำซีแอลและสหรัฐอเมริกาตัดสิทธิพิเศษทางการค้า(จีเอสพี) แต่การส่งออกสินค้าโดยภาพรวมก็เพิ่มขึ้น ไม่ได้ลดลงตามที่กระแสข่าวแต่อย่างใด อีกทั้งการตัดสิทธิจีเอสพีเกิดขึ้นก่อนการที่ไทยทำซีแอลด้วยซ้ำ

นายอดุลย์ กล่าวต่อว่า ไทยเริ่มใช้ซีแอลเมื่อปลายปี 2549-2550 แต่ไทยถูกตัดสิทธิจีเอสพีตั้งแต่ปี 2549 ในสินค้า 3 รายการได้แก่ 1 อัญมณีที่ทำจากทอง 2 เม็ดพลาสติกโพลีเอทิลีนเทเรฟทาเลต และ 3 โทรทัศน์สีจอแบน ซึ่งจากการวิจัยพบว่า การส่งออกของสินค้าไทยโดยรวมได้ปรับเปลี่ยนตลาดคู่ค้าจากเดิมเป็นสหรัฐอเมริกา และ ญี่ปุ่น ได้ขยายตลาดมาเพิ่มสัดส่วนการส่งออกที่ประเทศจีน และสิงคโปร์ มากขึ้น ทั้งนี้ สัดส่วนของสินค้าที่ส่งออกที่โดยอาศัยจีเอสพีมีปริมาณน้อยมากเมื่อเทียบกับสินค้าส่งออกทั้งหมด เท่ากับว่า สินค้าของไทยที่ส่งออกต้องพึ่งพาจีเอสพีในปริมาณที่น้อยมาก เริ่มจากเครื่องประดับอัญมณีทองคำก็ยังส่งออกไปสหรัฐฯในปริมาณที่เพิ่มจากเดิม แม้ว่าจะถูกตัดจีเอสพีแล้วก็ตาม เพราะเป็นสินค้าที่มีจุดเด่นของไทย มีความปราณีต ละเอียดอ่อน ส่วนทีเม็ดพลาสติกก็มีการส่งออกไปสหรัฐลดลงก่อนทำซีแอล แต่เมื่อสหรัฐประกาศตัดสิทธิจีเอสพีแล้วการส่งออกไปสหรัฐก็ขยายตัวเพิ่มขึ้น

“มีสินค้าชนิดเดียวเท่านั้นที่เมื่อถูกตัดจีเอสพีแล้ว การส่งออกไปยังสหรัฐลดลงคือ โทรทัศน์จอแบน แต่เมื่อดูภาพรวมการส่งออกโทรทัศน์จอแบนไปต่างประเทศกลับมีภาพรวมเพิ่มขึ้นอยู่ดี เพราะไทยได้เปลี่ยนกลุ่มตลาดใหม่เป็นจีนกับสิงคโปร์ แทนที่จะเป็นกลุ่มเดิมอย่างสหรัฐฯและญี่ปุ่น นอกจากนี้เมื่อย้อนดูการพึ่งพาสิทธิจีเอสพีในช่วง 10ปีที่ผ่านมาก็พบว่ามีแนวโน้มลดลงมาตลอดจาก 16% ในปี 2540 เหลือเพียง 8% ในปี 2550 ของสินค้าส่งออกทั้งหมด เนื่องจากไทยมีการส่งสินค้าออกเกินเกณฑ์ที่แต่ละประเทศตั้งไว้ว่าจะให้จีเอสพี ดังนั้นจึงไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องซีแอลแต่อย่างใด”นายอดุลย์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น