xs
xsm
sm
md
lg

กศน.จัดทำหลักสูตร ใช้ประสบการณ์ต่อยอดการศึกษา เพื่อยืดหยุ่นให้คนทำงาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กศน.จัดทำหลักสูตรของตัวเอง เพื่อให้คนทำงานได้ใช้ประสบการณ์จากการทำงานมาเป็นทุนประเดิมในการศึกษาต่อยอด เตรียมหารือกับ สพฐ.เพื่อเทียบเคียงกับมาตรฐานหลักสูตรของ สพฐ.แต่ให้มีความยืดหยุ่นมากกว่า

ดร.จรวยพร ธรณินทร์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมสนับสนุน และประสานความร่วมมือการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ซึ่งมีนายสมชาย วงษ์สวัสดิ์ รมว.ศึกษาธิการ เป็นประธานว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (สำนักงาน กศน.) จัดทำร่างหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยปรับจากหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่มี 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ให้เหลือ 5 กลุ่มสาระ คือ ทักษะการเรียนรู้ ความรู้พื้นฐาน การประกอบอาชีพ ทักษะดำเนินชีวิต และกิจกรรมพัฒนาชุมชน รวมทั้งจะมีกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิตสำหรับผู้เรียนเข้าไปร่วมกิจกรรมด้วย โดยนำความรู้และประสบการณ์เพิ่มเติมเฉพาะตัวมาเทียบเป็นระดับการศึกษา

ดร.จรวยพร กล่าวอีกว่า สาเหตุที่ กศน.ต้องทำหลักสูตรเองเพราะเราต้องการความยืดหยุ่น เนื่องจากผู้เรียนส่วนใหญ่เป็นผู้ใหญ่ ซึ่งจะทำงานและเรียนควบคู่กันไป โดยมีทักษะพื้นฐานเป็นทุนประเดิมอยู่ ดังนั้น น่าจะนำทุนประเดิมที่มีอยู่มาต่อยอดได้ ไม่จำเป็นต้องใช้ชั่วโมงเรียนเหมือนกับเด็กทั่วไป เพราะผู้ใหญ่ที่มาเรียนก็เพื่อนำทักษะไปใช้ในการประกอบอาชีพในชีวิตประจำวันมากกว่าเรียนเพื่อเป็นทักษะเพียงรู้เพื่อรู้ ทั้งนี้ จะต้องนำร่างหลักสูตรดังกล่าวไปหารือกับ สพฐ.อีกครั้ง เพื่อเทียบเคียงมาตรฐานให้เท่ากับ สพฐ. แต่จะมีความยืดหยุ่นกว่า ซึ่งคาดว่าจะสามารถใช้หลักสูตรดังกล่าวได้ในปีงบประมาณ 2552

ปลัด ศธ.กล่าวต่อไปว่า ที่ประชุมยังเห็นชอบแผนยุทธศาสตร์การจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยบนพื้นที่สูง ซึ่งศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขาแม่ฟ้าหลวง 744 แห่งใน 15 จังหวัด จะจัดการศึกษาให้กลุ่มเป้าหมายได้ 97,680 คน แต่จากการสำรวจประชากรชาวไทยภูเขาที่มี 1,230,149 คน พบว่ามีผู้ยังไม่รู้หนังสือไทยอีกประมาณ 48% จึงต้องปรับยุทธศาสตร์เพื่อดึงชาวไทยภูเขาเข้ามาเรียนกับ กศน.มากขึ้น โดยจะมีการฝึกอาชีพ และส่งเสริมให้รู้ภาษาไทย เพื่อผลักดันให้เป็นภาษาที่ 2 ของชาวเขา นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มอบหมายให้ กศน.เตรียมจัดทำบัญชีรายชื่อ และจัดระบบเลขประจำตัวประชาชน 13 หลักของเด็กในกลุ่มชาวเขา กลุ่มชายแดน และกลุ่ม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากในปี 2552 กศน.ได้รับการงบฯ จำนวน 56 ล้านบาท เพื่อจัดสรรเป็นทุนการศึกษาสำหรับเด็กด้อยโอกาสกลุ่มดังกล่าว

ปลัด ศธ.กล่าวอีกว่า ที่ประชุมยังเห็นชอบมาตรฐานตัวบ่งชี้เกณฑ์การประเมินคุณภาพภายในการจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ซึ่งมี 6 มาตรฐาน 21 ตัวบ่งชี้ โดยศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยที่ได้ประเมินตนเองตามมาตรฐานประกันคุณภาพภายในแล้ว ทางสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพ (สมศ.) ก็จะเข้าไปประเมินคุณภาพภายนอก ซึ่งจะเริ่มเข้ามาประเมินในวันที่ 23 มิ.ย.นี้ โดยตั้งเป้าว่าภายในปี 2551 จะประเมินคุณภาพภายนอกให้ได้ 100 แห่งจากทั้งหมดกว่า 1,000 แห่ง ขณะเดียวกันที่ประชุมยังเห็นชอบที่จะประกาศหลักเกณฑ์ในการสรรหาคณะกรรมการสถานศึกษาของ กศน. ซึ่งมีอยู่กว่า 1,000 แห่ง ซึ่งคาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการสรรหาได้ในเดือนมิ.ย.นี้
กำลังโหลดความคิดเห็น