xs
xsm
sm
md
lg

“Plasma RX” วิศวะจุฬาฯ เผยแชมป์หุ่นโลกอีกสมัย ไม่ไกลเกินฝัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เผยความพร้อม 4 เยาวชนคนเก่งกับทีม Plasma Rx จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เจ้าของแชมป์หุ่นยนต์ประเทศไทยปีล่าสุด ก่อนจะเดินไปทางป้องกันแชมป์สมัยที่สามที่ประเทศจีน ด้านตัวแทนเยาวชนเผย โอกาสคว้าชัยไม่ไกลเกินฝัน

วันนี้ (28 พ.ค.) ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีการจัดการแถลงข่าว “เตรียมส่งหุ่นยนต์กู้ภัย ขึ้นเวทีชิงแชมป์โลกอีกครั้ง ในการแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยในงาน ROBOCUP 2008 ณ เมืองซูโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน” โดยการแถลงข่าวในครั้งนี้จัดขึ้นโดยผู้สนับสนุนหลักอย่างเครือซิเมนต์ไทย

โดยเยาวชนในทีม Plasma RX ได้นำหุ่นยนต์กู้ภัยที่จะใช้ในการแข่งขัน มาแสดงสมรรถนะที่ได้ทุ่มเทศึกษาและพัฒนานับตั้งแต่ที่ทีมได้เข้าแข่งขันหุ่นกู้ภัยระดับประเทศและได้แชมป์มาเมื่อหกเดือนก่อน

“ก็ทุ่มเททำกันมาตลอดตั้งแต่ชนะการแข่งขันระดับประเทศประมาณหกเดือนที่แล้ว ก็ยังไม่ได้พักเลยค่ะ แต่สู้เต็มที่ เพราะเราทำอะไรแล้วสักอย่างหนึ่งก็อยากทำให้ดีที่สุด ยิ่งคราวนี้เราไปในฐานะตัวแทนประเทศไทย ทุกคนในทีมก็ทุ่มเทกันเต็มที่ แต่ก็ยอมรับว่ามีความกดดันประมาณหนึ่ง

เพราะเรามีเวลาน้อยมาก ตามปกติในการวางแผนโปรเจ็คแบบนี้เราวางกันแบบข้ามปี แต่นี่เรามีเวลาน้อย นี่ก็เหลือประมาณเดือนเดียวก่อนเข้าแข่ง แต่ก็พยายามทำให้ดีที่สุด เชื่อว่าความหวังการคว้าแชมป์และป้องกันแชมป์ในการแข่งคราวนี้ เรามีโอกาสค่ะ” น้องแหวนน.ส.นวรัตน์ เติมธนาสมบัติ สาวน้อยหนึ่งเดียวภายในทีมกล่าว

ด้าน “เล่ย” หรือนายชนินทร์ จันมา หนึ่งในทีมกล่าวปนหัวเราะว่า เวลาอีกเพียงเดือนเดียวที่ถือว่าว่า “เดือด” มากสำหรับเขา

“เดือดครับ ถือว่าเรามีเวลาน้อย แต่อย่างไรก็ตาม เราก็ต้องทำให้เสร็จทันตามเวลาครับ” โดยหนุ่มเล่ยได้อธิบายถึงจุดแข็งของหุ่น Plasma Rx ตัวนี้ต่อไปอีกว่า ก่อนหน้านี้ที่ประกวดระดับแชมป์หุ่นกู้ภัยประเทศไทยนั้น เป็นหุ่นยนต์อีกตัวหนึ่ง ที่ยังไม่มีระบบแขนและระบบเซ็นเซอร์ไม่ดีเท่าตัวปัจจุบัน

“ตั้งแต่แข่งแชมป์ประเทศไทยจบ เราก็ช่วยกันพัฒนาทั้งทางด้านซอฟแวร์และแมคคานิคเพิ่มขึ้น อย่างล้อของหุ่นเราเห็นว่าล้อตีนตะขาบเกาะพื้นผิวได้ดีกว่าอย่างอื่น ก็ใช้ล้อตีนตะขาบและได้พัฒนาเสริมซิลิโคนเข้าไปด้วยเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นและกันแรงสั่นสะเทือนครับ”

ด้าน น้องอิ๊ก หรือนายกมล จึงเสถียรทรัพย์ ผู้ร่วมทีมอีกคนเสริมว่า ล้อที่เสริมซิลิโคน จะช่วยกันสะเทือนให้อุปกรณ์ต่างๆ ในหุ่นยนต์กระทบกระเทือนน้อยลง นอกจากนี้ทีมฯยังได้ร่วมพัฒนาในส่วนของระบบกล้องที่ติดอยู่กับหุ่นยนต์ให้ระนาบขนานกับพื้นโลกในทุกสภาพพื้นผิว

“เราทำกล้องให้ขนานกับพื้น ไม่ว่าจะขึ้นบันไดหรืออยู่ในพื้นที่ที่เอียง เพื่อเราจะได้เห็นเหยื่อผู้ประสบภัยได้ และเราก็ได้พัฒนาระบบเซ็นเซอร์ ระบบการควบคุมหุ่นยนต์ และซอฟต์แวร์การทำแผนที่เพิ่มขึ้นด้วย”

น้องอิ๊ก อธิบายต่อว่า ระบบเซ็นเซอร์ที่ถูกพัฒนาขึ้นมานั้น มีทั้งเซ็นเซอรอุณหภูมิและเซ็นเซอร์คาร์บอนไดออกไซด์ คือสามารถตรวจสอบว่าข้างหน้ามีมนุษย์ผู้ประสบภัยอยู่หรือไม่ ด้วยการตรวจจับอุณหภูมิร่างกาย จากนั้นก็สามารถตรวจสอบสถานะชีวิตได้จากเซ็นเซอร์คาร์บอนไดออกไซด์ว่ายังหายใจอยู่หรือไม่ จากนั้นก็จะทราบได้ว่าเหยื่อสามารถร้องขอความช่วยเหลือได้หรือไม่จากเซ็นเซอร์เสียงคือไมโครโฟนที่ติดกับตัวหุ่น และสามารถดูภาพเหยื่อได้จากกล้องเวบแคมรายละเอียดสูงที่ติดเอาไว้ได้อีกด้วย

“และในส่วนของแผนที่นี้ เป็นสิ่งที่ทางคณะกรรมการบังคับให้ทุกทีมทำอยู่แล้ว ในระดับแชมป์ประเทศไทย เราใช้การพล็อตแผนที่เป็นแบบสองมิติ แต่ตอนนี้เราพัฒนาให้สามารถสร้างแบบจำลองเป็นสามมิติได้แบบคร่าวๆ คือ ดูได้ว่าพื้นที่ประสบภัยมีกำแพงตรงไหน มีสภาพพื้นที่ภายในเป็นอย่างไร ต้องเข้าด้านใดจึงจะถึงตัวผู้ประสบภัย เป็นเหมือนนาวิเกเตอร์ที่จะให้หน่วยกู้ภัยเข้าไปช่วยได้โดยไม่หลงทาง ซึ่งระบบการทำแผนที่เป็นสามมิตินี่หลายประเทศพยายามจะทำ แต่ไม่ได้ทำได้ทุกประเทศ ถือเป็นอีกหนึ่งจุดแข็งของทีมเรา”

อย่างไรก็ตาม น้องอิ๊ก ยังได้เล่าถึงจุดแข็งสุดท้ายที่ได้พัฒนาขึ้นมาอีกอันหนึ่งก็คือ ระบบการควบคุมหุ่นยนต์ ที่ขณะนี้สามารถพัฒนาซอฟแวร์ได้ในระดับที่คุมได้ทั้งสองระบบคือทั้งแบบออโต้ไพลอทและแบบแมนวลในตัวเดียว ซึ่งน้องอิ๊กกล่าวว่า อีกหนึ่งเดือนที่เหลือก่อนจะไปแข่งที่ประเทศจีนในวันที่ 16-20 กรกฎาคม นี้จะใช้เวลาซ้อมการบังคับทั้งสองระบบให้ดียิ่งขึ้น

ด้านผศ.ดร.มานพ วงศ์สายสุวรรณ อาจารย์ที่ปรึกษาโครงการ กล่าวว่า แนะนำและสอนเยาวชนในทีมมาตลอดว่า ขอให้ทำให้เต็มที่และดีที่สุด ในอนาคตอีกประมาณสิบปีอาจเห็นองค์ความรู้จากฝีมือเด็กไทยได้เอาไปใช้จริงในงานกู้ภัย

“ก็มีกดดันบ้างครับ เพราะพระจอมเกล้าพระนครเหนือเค้าทำไว้ระดับแชมป์ถึงสองสมัยซ้อน แต่ก็บอกให้เขาทำดีที่สุด ให้ทุ่มเทและตั้งใจให้ชนิดที่หากเราไม่ได้แชมป์ จะไม่รู้สึกเสียใจที่หลัง เด็กไทยมีฝีมือไม่แพ้ชาติใดในโลกครับ ผมเชื่ออีกองค์ความรู้และนวตกรรมด้านการกู้ภัยนี้จะถูกพัฒนาจนได้ใช้งานจริงๆ อีกประมาณ 5-10 ปีนี้ครับ”

ในขณะที่ผศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ นายกสมาคมวิชาการหุ่นไทย กล่าวว่า ทีม PlasmaRx ถือว่ามีโอกาสคว้าแชมป์ เพราะดูจากจุดแข็งหลายจุดที่ทีมฯ ร่วมกันพัฒนา ถือว่าได้เปรียบจากทีมหุ่นยนต์กู้ภัยจากหลายๆ ประเทศที่เข้าร่วมการแข่งขัน

ปีแรกที่เราได้แชมป์ ผมไปดูทีม Independent ผมบอกเขาว่า เราไปคว้าแชมป์กัน ปีต่อมาผมก็บอกเขาอีกว่า เราจะไปป้องกันแชมป์กัน ปีนี้ผมก็จะบอกอีกว่าเราจะไปป้องกันแชมป์หุ่นกู้ภัยโลกได้อีกครั้ง เพราะผมเชื่อว่าเรามีโอกาส จากจุดแข็งที่เด็กๆ เขาพัฒนาขึ้นมาหลายแบบ โดยเฉพาะเซ็นเซอร์ที่ของเราตรวจได้ละเอียด ถ้าในวันแข่ง เราค้นเหยื่อได้ห้าราย แล้วเรารายงานได้ว่า เขาอยู่ตรงไหน เขายังมีชีวิตอยู่หรือไม่ และเขาสามารถขอความช่วยเหลือจากเสียงได้หรือเปล่า เราจะสามารถชนะทีมที่หาเหยื่อพบสิบคน แต่รายงานรายละเอียดอะไรไม่ได้ และสำหรับเด็กๆ เหล่านี้ พวกเขาทำให้องค์ความรู้ด้านหุ่นยนต์กู้ภัย พัฒนาไปได้อีกขั้นหนึ่งครับ”นายกสมาคมหุ่นไทย กล่าวชื่นชม
กำลังโหลดความคิดเห็น