xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการแนะ กทม.เพิ่มความมั่นคงอาคาร-ทางด่วน รับแผ่นดินไหว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักวิชาการแนะเพิ่มความมั่นคงอาคารสาธารณะรับมือเหตุแผ่นดินไหว โดยเฉพาะโรงเรียน โรงพยาบาล สะพาน ทางด่วนต้องมีความมั่นคงแข็งแรงเป็นพิเศษ

ในการสัมมนาการเตรียมความพร้อมในการป้องกัน และรับมือเหตุสาธารณภัย ณ อาคารกีฬาเวสน์ 2 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) กทม. โดยมีนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าฯ กทม.เป็นประธาน เจ้าของอาคารสูง อาคารขนาดใหญ่พิเศษ และอาคารชุมนุมคนในพื้นที่กว่าเข้าร่วมสัมมนากว่า 1,900 ราย

นายจรูญ เลาเลิศชัย ผู้อำนวยการส่วนพยากรณ์อากาศเชิงตัวเลข กรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า ภัยธรรมชาติแบ่งลักษณะการเกิดได้เป็น 12 ชนิด คือ อุทกภัย ภัยแล้ง วาตภัย คลื่นพายุซัดฝั่ง พายุฝนฟ้าคะนอง แผ่นดินถล่ม แผ่นดินไหว คลื่นขนาดใหญ่ในทะเล (สึนามิ) ไฟป่า ภูเขาไฟระเบิด คลื่นความร้อน พายุหิมะ ซึ่งภัยที่พบมากที่สุดคือน้ำท่วมคิดเป็น 37% พายุลมแรงคิดเป็น 28% ส่วนแผ่นดินไหวคิดเป็น 2% ทั้งนี้ สาเหตุที่ทำให้เกิดน้ำท่วมในไทยมากที่สุดมาจาก หย่อมความกดอากาศต่ำ พายุหมุนฤดูร้อน ร่องมรสุม โดยในเดือนกันยายน-ตุลาคม จะมีความน่าเป็นห่วงมากที่สุดที่จะเกิดลมพายุดีเปรสชั่นในกทม.ถึง 24.7-28%

ศ.ดร.ปณิธาน ลักคุณะประสิทธิ์ อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เมืองเฉินตู สาธารณรัฐประชาชนจีน ที่มีอาคารเรียนต่างๆ พังถล่มลงมาทำให้มีนักเรียนเสียชีวิตจำนวนมาก ดังนั้น โรงเรียนต้องออกแบบอาคารเรียนให้มีความมั่นคงแข็งแรงพิเศษมากกว่ามาตรฐานทั่วไป รวมทั้งโรงพยาบาล และสิ่งก่อสร้างพื้นฐานสะพาน ทางด่วน หากไม่ได้ออกแบบมาเพื่อต้านแผ่นดินไหวโดยรัฐจะต้องจัดสรรงบประมาณมาปรับปรุงโครงสร้างให้มีความแข็งแรง ส่วนอาคารที่อ่อนแออย่างอาคารโรงเรียนก็ควรจะเสริมความแข็งแรงในเบื้องต้นก่อนหากมีงบจำกัด นอกจากนี้รัฐควรกำหนดเขตเสี่ยงภัยเพื่อจะได้แบ่งมาตรฐานการดูแลอย่างชัดเจนซึ่งส่วนใหญ่เขตเสี่ยงภัยจะอยู่ใกล้รอยเลื่อน

โดยรอยเลื่อนที่อยู่ใกล้ กทม.มากที่สุด คือ รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ และรอยเลื่อนด่านเจดีย์สามองค์ จ.กาญจนบุรี ซึ่งนักธรณีวิทยาศึกษาพบว่าทั้ง 2 รอยเลื่อนอาจทำให้เกิดแผ่นดินไหวขนาด 7 ริกเตอร์ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเกิดขึ้นใน 10 ปี หรือ 100 ปี


ศ.ดร.ปณิธาน กล่าวอีกว่า ส่วนอาคารที่ออกแบบตามหลักวิชาการ และก่อสร้างได้มาตรฐาน มีผนังคอนกรีตเสริมเหล็กก็สามารถต้านแรงสั่นสะเทือนระดับ 10% จี ได้โดยไม่พังถล่ม แต่หากสร้างไม่ได้มาตรฐานอย่างอาคารดีพาร์ทเม้นท์สโตร์ ที่ประเทศเกาหลีสูง 5 ชั้น แม้ไม่เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวแต่ตึกดังกล่าวกลับถล่มลงมาเพราะมีการดัดแปลงอาคาร มีการทุจริต ไม่ทำตามที่ออกแบบ เช่น ลดขนาดเสาให้เล็กลงซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 500 คน ดังนั้น เมื่อได้ยินเสียงร้าวของตึกก็ให้รีบออกจากอาคารทันที อย่างไรก็ตาม แม้อาคารสูงต่างๆ ในบ้านเราจะสร้างก่อนที่กฎกระทรวงการกำหนดการรับน้ำหนักความต้านทาน ความคงทนของอาคารและพื้นดินที่รองรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนแผ่นดินไหว พ.ศ.2550 จะบังคับใช้แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวและรับรู้ได้ถึงแรงสั่นสั่นสะเทือน อาคารดังกล่าวแม้จะสร้างตามมาตรฐานเก่าก็สามารถต้านแรงแผ่นดินไหวได้พอสมควร

ด้าน นายประสงค์ ธาราไทย นายกสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ประชาชนและเจ้าของอาคารควรเข้มงวดในการออกแบบ อย่าออกแบบผิดวิธี อย่าใช้งานอาคารผิดประเภท และมั่นบำรุงรักษาความมั่นคงแข็งแรงของอาคารอยู่เสมอ ทั้งนี้อาคารเก่าปกติจะออกแบบรับแรงสั่นสะเทือนได้ 2 เท่าครึ่ง แต่หากต่อเติมอาคารความมั่นคงแข็งแรงก็จะลดลง

นายอภิรักษ์ กล่าวว่า โรงเรียนในพื้นที่ กทม.มีอาคารเก่าอยู่หลายแห่งแต่จะย้ำให้เจ้าหน้าที่ออกตรวจสอบอย่างเคร่งครัด รวมถึงอาคารพาณิชย์ที่จะต้องมีวิศวกรเข้าตรวจสอบเป็นประจำทุกปี อย่างไรก็ตาม อาคารโรงเรียน และอาคารสาธารณะต่างๆ มีการตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงอย่างสม่ำเสมอ และกทม.พร้อมสนับสนุนภาคเอกชนในการส่งเจ้าหน้าที่เข้าให้ความรู้คำแนะนำ ส่วนการจัดสรรงบประมาณเพื่อเพิ่มความมั่นคงแข็งแรงให้แก่อาคารภาคเอกชน เพื่อเพิ่มความมั่นคงแข็งแรงของอาคารนั้นภาคเอกชนจะต้องเป็นผู้ดำเนินการตามกฎหมาย
กำลังโหลดความคิดเห็น