เอเอฟพี - จอห์น เพรสคอตต์ อดีตรองนายกรัฐมนตรีอังกฤษ เปิดโปงความสัมพันธ์ร้าวฉาน ระหว่างโทนี แบลร์ และกอร์ดอน บราวน์ ในสมัยที่เพรสคอตต์ได้ร่วมงานกับนายกรัฐมนตรีเมืองผู้ดีทั้ง 2 คนนี้ โดยเล่าเหตุการณ์ความขัดแย้งของพวกเขาไว้ในอัตชีวประวัติที่ทยอยลงเป็นตอนๆ ในหนังสือพิมพ์ เดอะ ซันเดย์ ไทมส์
โทนี แบลร์ ผิดสัญญาอยู่เสมอในเรื่องที่จะเปิดทางให้กอร์ดอน บราวน์ ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทำให้บราวน์โกรธหัวฟัดหัวเหวี่ยงเหมือนภูเขาไฟระเบิด เพรสคอตต์ วัย 69 บอกเล่าถึงการเมืองเบื้องลึกของผู้นำสูงสุดในอังกฤษจากประสบการณ์นับ 10 ปี ที่เขาได้พบเห็นตลอดสมัยที่ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีในยุคของโทนี แบลร์ โดยที่ในระหว่างเวลานั้น บราวน์ก็นั่งเก้าอี้รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง
เพรสคอตต์ประทับตราให้กับบราวน์ ว่า “เป็นคนหัวเสียง่าย น่ารำคาญ ชอบทำเรื่องปวดหัว และมีแต่ปัญหา” และบ่อยครั้งบราวน์ก็จะโกรธขึ้งไม่พูดไม่จาจนต้องเลิกการประชุมไป
ในระหว่างที่เพรสคอตต์ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เขาจึงต้องใช้เวลาส่วนใหญ่เป็นทูตสันติภาพคอยไกล่เกลี่ยความขัดแย้งของผู้นำทั้งสอง
บราวน์เป็นผู้สนับสนุนแบลร์ก้าวขึ้นเป็นผู้นำพรรคเลเบอร์ ในปี 1994 และมีข่าวลืออย่างต่อเนื่องว่าแบลร์จะหลีกทางให้บราวน์ขึ้นรั้งตำแหน่งแทนเขา ในช่วงที่แบลร์เป็นผู้นำในสมัยที่สอง ทว่าแบลร์ก็ผิดสัญญาดังกล่าวมาตลอด
“ทีแรกเขา (แบลร์) บอกว่า จะอยู่ในตำแหน่งราว 6 เดือน หรืออาจจะเป็นหนึ่งปี (ของสมัยที่สอง) แต่ก็ผัดผ่อนว่าจะอยู่จนถึงเลือกตั้งครั้งหน้า แต่มันไม่เคยเป็นตามที่เขาพูด กอร์ดอนก็จะโกรธจัด แล้ววงจรแบบเดิมๆ ก็เริ่มหมุนกลับมาอีก” เพรสคอตต์เล่า
“ทั้งสองต่างพยายามดึงผมให้เป็นพวก แล้วคอยบ่นเรื่องของอีกคนให้ผมฟัง โทนี บอกว่า กอร์ดอนไม่ให้ความร่วมมือกับเขาแม้แต่น้อย ส่วนกอร์ดอนก็บอกว่า เขาถูกหลอกอีกแล้ว”
คนกลางอย่างเพรสคอตต์จึงได้แต่แนะแบลร์ให้ไล่บราวน์ออกไปเสีย ถ้าบราวน์ทำตัวน่าเบื่อมาก และแนะบราวน์ให้ลาออกไป ถ้าหากเจ้านายไม่ดีพอ
แต่ทั้งสองต่างก็ไม่ยอมตัดสินใจทำอะไร “ต่างคนต่างติดกับตัวเอง โทนีรู้ว่าถ้าไล่บราวน์ออก จะเกิดความแตกแยกในพรรค” เพรสคอตต์ บอก
“กอร์ดอนเชื่อว่าโทนีเคยพูดว่าเขาจะไปเมื่อดำรงตำแหน่งสมัยสองไปได้ครึ่งเทอม แต่โทนีปฏิเสธว่าไม่เคยพูดเช่นนั้น”
ด้วยเหตุนี้ ในการประชุมที่มีแบลร์ เพรสคอตต์ และบราวน์ อยู่ร่วมกันในที่ประชุม ที่นั่นจะมี “บรรยากาศตึงเครียดเสมอ”
“กอร์ดอนอาจโกรธจนไม่พูดไม่จา ปล่อยให้ผมเป็นฝ่ายพูดเองเออเองทั้งหมด แล้วการประชุมก็จบลง”
“กอร์ดอนสามารถที่จะอาละวาดเหมือนภูเขาไฟระเบิด แต่โทนีไม่ชอบวิธีเผชิญหน้า เขามักจะหลบเลี่ยงหรือปัดเรื่องต่างๆ ออกไปก่อน”
เมื่อบราวน์เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เขามีคะแนนนิยมอย่างสูง แต่ตอนนี้กลับมีสถานภาพคลอนแคลนอย่างยิ่ง เพราะทั้งจากผลการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น และจากผลสำรวจความคิดเห็นล่าสุดก็ออกมาในทิศทางเดียวกัน
ขณะนี้ เชรี ภรรยาของแบลร์ก็เขียนอัตชีวประวัติลงเป็นตอนๆ ในหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งเช่นกัน ส่วน ลอร์ด ไมเคิล เลวี พันธมิตรใกล้ชิดของแบลร์อีกคนหนึ่ง และเคยเป็นทูตประจำตะวันออกกลางก็กำลังทำอย่างเดียวกัน โดยที่ข้อเขียนของทั้งสองนี้ต่างก็กล่าวโจมตีบราวน์