ในช่วงเดือนที่ผ่านมานี้ผู้คนเกือบทุกสาขาอาชีพ ต้องเจอกับมรสุมข้าวของที่ขึ้นราคาแทบทุกวัน ประชาชนส่วนใหญ่ที่มีโทรศัพท์มือถือก็ต้องฝันร้ายทุกครั้งเมื่อเสียง sms เข้ามาแจ้งข่าวการขึ้นราคาของน้ำมัน 40 สตางค์บ้าง 50 สตางค์บ้าง และที่เป็นที่ฮือฮามากๆ เมื่อล่าสุดอั้นไว้ไม่ไหวปรับขึ้นครั้งเดียว 80 สตางค์...
เมื่อน้ำมันขึ้นราคาจนไม่มีอะไรจะฉุดรั้งได้ แน่นอนผลกระทบที่ตามมาคงหนีไม่พ้นการขอปรับขึ้นราคาของรถประจำทาง ตลอดจนรถโดยสารระหว่างจังหวัด จนมีเสียงจากกลุ่มผู้ประกอบบางรายที่อาจต้องยกเลิกกิจการเพราะแบกรับภาระเรื่องค่าน้ำมันไม่ไหว
หากจะพูดถึงคนเมืองกรุง แน่นอนว่ารถประจำทางเป็นขนส่งมวลชนกระแสหลักที่ประชาชนเลือกใช้ แต่จากข่าวที่ทำให้เหล่ามนุษย์เงินเดือน ผู้หาเช้ากินค่ำ ต้องนั่งกุมขมับไปตามๆ กันนั่นคือ เมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้วกระทรวงคมนาคมได้ไฟเขียวให้ รถประจำทาง ขสมก. รถร่วมบริการต่างๆ ปรับขึ้นราคาค่าโดยสาร โดยรถร้อนเพิ่ม 1.50 บาท ทำให้รถ ขสมก. ครีม-แดง จากราคา 7 บาท เป็น 8.50 บาท รถร่วมบริการจาก 8.50 เป็น 10 บาท และรถแอร์ทั้งหลายปรับเพิ่มช่วงละ 1 บาท นั่นอาจทำให้การนั่งรถเมล์ในพ.ศ.นี้ไม่เป็นเพียงแค่การใช้เศษเหรียญเพื่อจ่ายค่าโดยสารอีกต่อไป
** รถเมล์ขึ้นราคาหนีขึ้นรถตู้ !!
ผลกระทบด้านค่าใช้จ่ายนี้เองที่ส่งผลอย่างมากต่อปากท้องของผู้คนในเมืองหลวงแห่งนี้เหมือนอย่างที่ (ป๊อป) -โกสินทร์ โกศินานนท์ อายุ 26 ปี พนักงานบริษัทเอกชน ตำแหน่งกราฟฟิคดีไซน์ แจงให้เห็นถึงค่าใช้จ่ายในแต่ละวันว่า บ้านของตนอยู่ชุมชนบางบัว (ซ.พหลโยธิน 49/1) ในการทำงานแต่ละวันนั้นใช้บริการรถประจำทางทุกวัน โดยต้องเดินทางไปทำงานย่านรามอินทรา สำหรับทางเลือกที่ใช้เดินทางในแต่ละวันนั้นมีแตกต่างกันไป ซึ่งก็แล้วแต่ช่วงเวลาหากรีบก็จะใช้บริการของวินมอเตอร์ไซด์จากหมู่บ้านมาปากซอยราคา 12 บาท
จากนั้นก็นั่งรถเมล์สายไหนก็ได้มาลงรถที่อู่บางเขนเพื่อต่อรถอีก 7 บาท แล้วต่อรถสาย 95 อีก 7 บาท ลงหน้าปากซอยที่ทำงานหากรีบมากๆ ก็จะนั่งวินมอเตอร์ไซด์อีกเช่นกันในราคา 7 บาท แต่หากไม่รีบก็เลือกที่จะเดินเพื่อเป็นการประหยัด หรืออีกทางหนึ่งที่ใช้ในการเดินทางไปทำงานคือรอรถ ขสมก. สาย 26 ซึ่งมีทั้งรถร้อนและรถแอร์ก็จะเป็นการเดินทางต่อเดียวจากหน้าปากซอยถึงที่ทำงาน แต่ติดปัญหาอยู่ที่รถสายนี้นานๆ ทีจะมาคัน ใช้เวลาในการรอนานบางครั้งทำให้เสียเวลาถึงแม้ว่าจะประหยัดก็ตาม
และจากข่าวที่ว่ารถเมล์กำลังจะปรับขึ้นราคานั้น ป๊อป บอกว่า ก็น่าเห็นใจสำหรับคนทำงานที่มีรายได้น้อย ถึงแม้จะมีการปรับขึ้นเพียง 1.50 บาท แต่มันก็เป็นเงินที่มีค่ามากในตอนนี้ ซึ่งคิดว่าหากมีการปรับขึ้นมากเกินไป ผู้คนอาจหันไปขึ้นรถตู้ เพราะหากเทียบราคากันแล้วการนั่งรถตู้ถึงแม้จะแพงกว่าแต่ไม่ต้องรอนาน แถมได้ที่นั่งตามสะดวก หากขึ้นรถเมล์คนเยอะ ก็ต้องยืนตลอดเส้นทาง
“การปรับขึ้นราคาของสินค้า รวมไปถึงล่าสุดที่จะมีการขึ้นค่ารถนั้นส่งผลเสียต่อเราแน่นอน เพราะทุกอย่างขึ้นหมดแต่เงินเดือนเท่าเดิม จึงต้องเลือกที่จะประหยัดค่าใช้จ่ายในส่วนที่ไม่จำเป็น สำหรับการเดินทางนั้นก็เลือกที่จะวางแผนการเดินทางก่อนล่วงหน้า เลือกเส้นทางที่สะดวก รวดเร็ว และประหยัดค่าใช้จ่ายมากที่สุด หากต้องไปทำงานในละแวกเดียวกันก็จะเลือกที่จะติดต่อธุระให้เสร็จสิ้นในวันเดียว จะได้ไม่ต้องมาหลายเที่ยว ในส่วนการเดินทางกลับจากที่ทำงานก็จะเลือกการนั่งรถแท็กซี่กลับพร้อมกับเพื่อนหลายคน โดยการช่วยหารค่ารถกัน เป็นการช่วยให้รวดเร็ว และคุ้มค่ากว่า เมื่อคิดดูแล้วอาจจะหารกันเพียงคนละ 20 บาท ไม่ต้องไปโหนรถเมล์ให้เหนื่อย และเสียเวลา หงุดหงิด กับรถติด” ป๊อป เสนอแนวทาง
** ทำไมรถใช้ ‘ก๊าซเอ็นจีวี’ ถึงขึ้นราคา ?
เช่นกันกับ (เอ็ม) – พลกฤต ขวัญมณี อายุ 23 ปี นักศึกษาชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ที่ทำงานพาร์ทไทม์ ณ โรงภาพยนตร์เมเจอร์ ซีนีเพล็ก สาขาเสรีเซ็นเตอร์ ศรีนครินทร์ ให้ข้อมูลว่า พักอาศัยอยู่กับเพื่อนย่านห้วยขวางในการไปทำงานแต่ละครั้งต้องเดินทางระยะทางไกลจึงใช้บริการรถเมล์เป็นประจำ แต่เช่นกันที่ต้องใช้บริการของวินมอเตอร์ไซด์เพื่อเดินทางจากที่พักมาขึ้นรถเมล์ซึ่งเสียค่ารถไป 20 บาท เมื่อขึ้นรถเมล์สาย 206 ก็มีให้เลือกทั้งรถร้อนและรถแอร์ที่ราคา 7 และ 20 บาท ซึ่งตนเองก็ไม่ได้เลือกว่าจะต้องขึ้นรถประเภทไหน หากคันไหนมาก่อนก็ไปคันนั้น อีกทั้งเมื่อไปถึงยังที่ทำงานซึ่งเป็นห้างสรรพสินค้า ค่าอาหารช่วงกลางวันก็สูงตามไปด้วย โดยที่ข้าวแกงจะอยู่ที่ประมาณ 30-40 บาทต่อมื้อ
เมื่อมีข่าวว่าค่ารถจะขึ้นราคานั้น เอ็ม บอกว่า เมื่อค่ารถขึ้นก็เป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายขึ้นอีกส่วนหนึ่ง เพราะต้องทำงานทุกวัน หากรวมๆ แล้วในแต่ละวันก็เสียเงินเพิ่มขึ้นในปริมาณที่มาก และเมื่อทุกอย่างขึ้นก็จะส่งผลกระทบตามเป็นลูกโซ่ค่ารถขึ้น ค่าขนส่งขึ้น ค่าอาหารก็ขึ้น แต่เมื่อเลี่ยงไม่ได้ที่ผู้ประกอบการจะต้องขึ้นราคาค่าโดยสารรถเมล์ก็อยากให้ปรับการบริการให้ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ด้วยเช่นกัน คือคำนึงถึงความปลอดภัยในชีวิตของผู้โดยสาร พนักงานควรบริการด้วยมนุษย์สัมพันธ์ที่ดีกว่าที่เป็นอยู่นี้
“แต่ที่ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับการปรับราคาค่าโดยสารนั้นเหตุผลก็บอกว่าน้ำมันขึ้นราคา แต่ความจริงและที่ผู้คนทราบกันคือ ผู้ประกอบการบางรายได้เปลี่ยนให้รถเมล์มาใช้ก๊าซเอ็นจีวี(NGV) เกือบหมดทุกราย ซึ่งตรงส่วนนี้ก็ไม่น่าจะเกี่ยวอะไรกับน้ำมันดีเซลที่ขึ้นราคา จึงไม่น่าจะมีการปรับขึ้นราคาค่าโดยสาร น่าจะมีการกำหนดมาตรการการขึ้นราคาที่เหมาะสมกว่านี้ และน่าจะให้รถเมล์ทุกคันเปลี่ยนมาใช้ก๊าซเอ็นจีวีให้หมด เพื่อที่จะได้เป็นการประหยัดในค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการเอง” เอ็ม เผยข้อสงสัย
ในส่วนของการใช้ชีวิตในยุคข้าวของขึ้นราคานี้นั้น เอ็ม บอกอีกว่า ในแต่ละเดือนจะพยายามลดค่าใช้จ่ายทุกอย่างที่ไม่จำเป็น เช่นลดการเที่ยวให้น้อยลง ใช้โทรศัพท์น้อยลงเพื่อที่จะได้ไม่ต้องเติมเงินบ่อย หรือการไม่กินของกระจุกกระจิก เน้นกินในส่วนที่ทำให้ท้องอิ่มได้นานๆ อีกทั้งการซื้อของใช้ต่างๆ เช่นแชมพู ผงซักฟอก ก็จะซื้อในปริมาณบรรจุมากๆ ไม่ต้องซื้อบ่อย คือยอมจ่ายครั้งเดียวเพื่อจะได้มีไว้ใช้นานๆ
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของผู้ได้รับผลกระทบจากภาวะข้าวของขึ้นราคา ซึ่งอยู่ที่ว่าแต่ละคนจะมีแนวทางในการรับมือเพื่อการอยู่รอดในสังคมนี้ได้อย่างไร กับการเปลี่ยนแปลงที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติได้เลย...