xs
xsm
sm
md
lg

ตีแผ่ประวัติ “บอร์ด อภ.” รายตัว “บิ๊กแป๊ะ” ลั่นไม่กดดันนั่งเก้าอี้ ปธ.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“บิ๊กแป๊ะ” เผยถูก “ไชยา” ทาบทามนั่งเก้าอี้ประธานบอร์ด อภ.นานแล้ว ไม่รู้สึกกดดัน เจตนาบริสุทธิ์ ด้านแพทย์ชนบทยันย้ายบอร์ด อภ.ทำหมันซีแอลยาตัวใหม่ กลไกการทำซีแอลพิการ ต้องจับตาการทำงานต่อไป ขณะที่เครือข่ายผู้ป่วย เตรียมแฉประวัติการทำงานของบอร์ด อภ.ชุดใหม่ทั้งคณะ
นายถิรชัย วุฒิธรรม หรือ บิ๊กแป๊ะ
นายถิรชัย วุฒิธรรม ประธานคณะกรรมการบริหาร อภ.กล่าวว่า ที่ผ่านมาเคยได้รับการทาบทามจาก นายไชยา สะสมทรัพย์ รมว.สาธารณสุข แต่ได้คุยกันมานานแล้วว่าถ้ามีงานใดพอจะช่วยเหลือได้บ้างก็จะช่วยอย่างเต็มที่ และหลังจากนั้น ก็ไม่ได้ติดต่อ หรือตามเรื่องแต่อย่างใด จนล่าสุดว่าเป็นมติ ครม.จึงเพิ่งทราบข่าว ซึ่งตนเองคงมาทำหน้าที่ในการบริหารดูยุทธศาสตร์ ภาพรวม และการตลาดเท่านั้น ส่วนเรื่องเทคนิคคงต่างๆ คงเป็นเรื่องวิชาการที่เภสัชกรและผู้ทรงคุณวุฒิจะทำหน้าที่ไป

“ไม่ได้รู้สึกกดดันแต่อย่างใด เพราะยังไม่ได้ทำงาน อีกทั้งการทำหน้าที่ของผมในอดีตก็ต่างกรรมต่างวาระทั้งสิ้น เรื่องการเปลี่ยนแปลงบอร์ดรัฐวิสาหกิจก็เกิดขึ้นกับรัฐบาลทุกสมัยเช่นกัน ซึ่งหากรัฐบาลเห็นว่าผมพอทำประโยชน์อะไรได้บ้างก็เรียกมาใช้งาน ไม่คิดว่าใครอยู่ก่อนอยู่หลัง เรามีเจตนาบริสุทธิ์ไม่มีเบื้องหน้าเบื้องหลังอยู่แล้ว ซึ่งผมก็ไม่แน่ใจว่า อภ.จะมีเรื่องผลประโยชน์อย่างไร”นายถิรชัย กล่าว

นายถิรชัย กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อน อภ.ในเบื้องต้น สิ่งที่สำคัญ คือ การรับใช้ประชาชน ผลิตยารักษาโรคให้มีราคาถูก และเพียงพอต่อความต้องการของผู้ป่วยในไทยมากกว่าเรื่องของกำไรขององค์กร แต่เมื่อมีการแข่งขันทางธุรกิจ อภ.ก็ต้องปรับตัวในการแข่งขันที่สูงขึ้น ซึ่งตนเองก็พอมีประสบการณ์ในด้านการตลาดที่น่าปรับใช้ได้ โดยประสบการณ์ที่ผ่านมา มีโอกาสได้เป็นรองผู้ว่าฯกทม.ทำมา 4 ปี ซึ่งเป็นงานที่หนัก แต่ก็ชอบงานบริการรับใช้ประชาชน นอกจากนี้ ยังมีประสบการณ์ด้านการบริหารงานจากบอร์ดบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด, การท่าเรือแห่งประเทศไทย, บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด และการกีฬาแห่งประเทศไทย และองค์กรตลาดเพื่อเกษตรกรจนได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้อำนวยการแต่ก็ต้องถอนตัว เพราะลงรับสมัครเลือกตั้งเป็น ส.ส.พรรคเพื่อแผ่นดิน เสียก่อน ซึ่งประสบการณ์การทำงานทั้งหมดนี้พอที่จะบริหารงาน อภ.ได้

ขณะที่ นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า เรื่องนี้อยู่ในความคาดหมายของชมรมแพทย์ชนบท ที่ประกาศไว้ตั้งแต่ที่มีการโยกย้าย นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล จากตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)ไปเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวง จะต้องมีการโยกย้ายคณะกรรมการบริหารองค์การเภสัชกรรม(บอร์ด อภ.) ที่มี นพ.วิชัย โชควิวัฒน เป็นประธานอีก เพราะเป็นกลไกในการทำเรื่องประกาศบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร (ซีแอล) และวันนี้ก็พิสูจน์ว่าเรื่องดังกล่าวเป็นจริง เพราะทั้ง นพ.ศิริวัฒน์ และ นพ.วิชัย ต่างเป็นผู้ขับเคลื่อนเรื่องซีแอลได้

“ขณะนี้กลไกในการในการทำซีแอลได้มืดไปหมด เพราะกลไกในการทำซีแอลที่เป็นผู้ขับเคลื่อนไม่ว่าจะเป็นในส่วนของ อย.ที่เดิมมี นพ.ศิริวัฒน์ หรือไม้สุดท้ายที่ทำหน้าที่จัดหายาที่ทำซีแอลมาให้ผู้ป่วยอย่าง อภ.ที่มี นพ.วิชัย บริหารจัดการอยู่นั้นก็พิการไปหมดแล้ว และถือว่าเป็นการทำหมันซีแอลยาตัวใหม่ด้วยเช่นกัน”นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าว

นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าวด้วยว่า รู้สึกแปลกใจที่ก่อนหน้านี้ที่ นายไชยา สะสมทรัพย์ รมว.สาธารณสุข ได้เข้าร่วมประชุมบอร์ด อภ.และยังกล่าวชื่นชม บอร์ด อภ.ว่าทำงานดีจะไปเปลี่ยนทำไม แต่ตอนนี้กลับเสนอคณะรัฐมนตรีให้เปลี่ยนบอร์ด ก็คงต้องดูกันต่อไปว่าเป็นอย่างไร และการดำเนินการของ อภ.จะดีเหมือนกับช่วงที่ นพ.วิชัย เป็นประธานบอร์ดหรือไม่ เพราะบริษัทที่มาประเมิน อภ.ในช่วงปีที่ผ่านมา ให้คะแนนการบริหารองค์กรกับ อภ.ถึง 4 คะแนน จากเต็ม 5 คะแนน จากเดิมที่ไม่เคยได้ถึง 4 คะแนน ได้ 3 คะแนนมาโดยตลอด

“ภาคประชาชนจะจับตาในการทำงานของบอร์ด อภ.ต่อไปว่าจะเป็นอย่างไร ทั้งยาที่ทำซีแอลไปแล้วจะจัดซื้อมาแล้วนั้นจะจัดสรรให้ผู้ป่วยเข้าถึงเพียงใด และราคายาที่กำลังอยู่ในการต่อรองราคาทั้งยารักษาโรคมะเร็งจะเป็นเช่นไร การทำงานคงมีความกดดันมากขึ้น เพราะมาตรฐานในการทำงานของบอร์ดเดิมทำไว้ดีอยู่แล้ว” นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าว

ขณะที่นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผอ.เข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า ภายในสัปดาห์นี้เครือข่ายผู้ป่วยทั้งหมด จะร่วมกับแถลงข่าวเปิดเผยประวัติการทำงานของบอร์ด อภ. ชุดใหม่ทั้งคณะ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลอยู่ เนื่องจากได้เห็นรายชื่อทั้งหมด ทำให้เกิดความสงสัยว่าเหตุผลที่ได้รับการแต่งตั้งมาจากอะไร หรือมีความเหมาะสมหรือไม่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ควรได้รับคำชี้แจงเหตุผลที่แท้จริงจากนายไชยา

“รมว.สธ.ควรจะออกมาชี้แจงเหตุผลได้แล้ว ทั้งสาเหตุที่ต้องเปลี่ยนบอร์ด และความเหมาะสมของบอร์ดชุดใหม่ ซึ่งสิ่งสำคัญประการหนึ่ง คือ ความสมศักดิ์ศรีของกรรมการแต่ละท่าน ที่ขณะนี้คงไม่สามารถพูดอะไรได้มาก คงต้องให้เวลากับบอร์ด อภ.ชุดใหม่ได้ลองทำงานก่อนจึงจะรู้ว่าตำแหน่งที่ได้สมศักดิ์ศรีหรือไม่”นายนิมิตร์ กล่าว

แหล่งข่าวจาก อภ.กล่าวว่า นายไชยา มีความพยายามที่จะเปลี่ยนบอร์ด อภ.มาตั้งแต่ต้นแล้ว โดยในช่วงแรกมีการบีบบังคับกรรมการบอร์ดหลายคนลาออก จนในที่สุดก็เหลือ 9 คน แต่ก็สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ตามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความพยายามต่อไปที่จะบีบกรรมการลาออกเหลือกรรมการต่ำกว่า 9 คน ตามที่กฎหมายระบุว่าจะต้องตั้งขึ้นมาแทนใหม่หรือเปลี่ยนทั้งชุดก็ได้ แต่ไม่ว่าจะทำอย่างไรก็ไม่มีใครลาออกเพิ่ม เพราะต้องการปกป้องสมบัติของชาติ จึงน่าจะเป็นเหตุผลให้ นายไชยา เสนอแต่งตั้งบอร์ดใหม่ทั้งชุด ซึ่งมติ ครม.ถือเป็นคำสั่งทางปกครอง ถ้าไม่มีเหตุผลที่อธิบายได้ ก็คงต้องอธิบายในชั้นศาลปกครอง ส่วนที่กรรมการบางท่านมีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจเอกชน ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลหรือบริษัทเอกชนเข้ามาก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมอยู่แล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อตรวจสอบประวัติการทำงานแล้ว พบว่า ประธานบอร์ด อภ.คนใหม่นายถิรชัย วุฒิธรรม หรือ “บิ๊กแป๊ะ” อดีตประธานมูลนิธิฟุตบอลทีมชาติไทย ผ่านประสบการณ์งานบริหารองค์กร รัฐวิสาหกิจ มาแล้วหลายแห่ง อาทิ การท่าเรือแห่งประเทศไทย บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด และการกีฬาแห่งประเทศไทย ส่วนคณะกรรมการอีก 13 คน แบ่งสัดส่วนเป็นบุคลากรภายในกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ซึ่งเป็นโดยตำแหน่ง จำนวน 6 คน ประกอบด้วย 1.นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัด สธ.2.นพ.ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค 3.นพ.เรวัต วิศรุตเวช อธิบดีกรมการแพทย์ 4.นพ.ม.ล.สมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต 5.นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการ อภ. 6.นพ.ธวัชชัย เจริญวงศ์ กรรมการสมาคมโรงพยาบาลเอกชน และผู้อำนวยการ รพ.เยาวรักษ์ เขตธนบุรี ในโควตาของแพทยสภา

สำหรับคณะกรรมการอีก 7 คน เป็นโควตาจากหน่วยงานนอก ซึ่งมีเพียงรายเดียวที่เป็นบอร์ด อภ.ชุดเก่า คือ 1.นางสิรินุช พิศลยบุตร หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง 2.พ.ต.อ.ชัยวัฒน์ เกตุวรชัย รองผู้บังคับการกองปราบปราม มีความสนิทสนมกับ นายไชยา ตั้งแต่สมัยเป็น ผกก.5 ป.จ.นครปฐม นอกจากนี้ ยังเป็นคนสนิทของ นายเนวิน ชิดชอบ และ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง เนื่องจากเป็นรุ่นพี่รุ่นน้องกันในโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ส่วน 3.นายพงษ์ภัฏ เรียงเครือ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม อดีตอัยการจังหวัด เมื่อต้นปี 2551 เพิ่งได้รับทุนรัฐบาลจากสำนักงานข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ไปฝึกอบรมหลักสูตร Advanced Executive Program ที่ Kellogg School of Management, North Western University, USA.

4.ผศ.ดร.มานวิภา อินทรทัต รองคณบดี คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ภรรยา พล.อ.ไตรรงค์ อินทรทัต หรือเสธไอซ์ มีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมาย และมีประสบการณ์การบริการหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ 5.นายเอนก เพิ่มวงศ์เสนีย์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี มีความใกล้ชิดกับ 111 ที่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง และเคยเป็นรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายบริหาร อีกทั้งเป็นนักวิชาการเชี่ยวชาญด้านการเมือง เศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะประเทศเกาหลีเหลือ-ใต้

6.นายประเสริฐ เกษมโกเมศ ผู้คร่ำหวอดวงการอสังหาริมทรัพย์ ผ่านการบริการบริษัทเอกชนมาแล้ว 5 แห่ง ทั้งการพัฒนาที่ดิน โครงการทาวน์เฮาส์ คอนโด กลางเมืองย่านสุขุมวิท ทองหล่อ รวมถึงผู้รับบริการโครงการรถไฟรางเดี่ยวโมโนเรลภายในสวนสัตว์เชียงใหม่ และ 7.น.อ.ธนอรรถ นาครทรรพ เป็นบุคคลที่ไม่เป็นที่รู้จัก ทั้งแวดวงการเมืองและสาธารณสุข
กำลังโหลดความคิดเห็น