xs
xsm
sm
md
lg

ล้างบางองค์การเภสัชกรรม : ธรรมาภิบาล หรือ ต่างตอบแทน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วิทยา กุลสมบูรณ์ มูลนิธิเภสัชชนบท

จากคำแถลงของ นายแพทย์ วิชัย โชควิวัฒน อดีตประธานองค์การเภสัชกรรม ที่ว่า ผลงานของเภสัชกรรม ในปี 2550 สามารถทำกำไรได้ 1,000 ล้านบาท มากที่สุดในรอบ 50 ปี และลดราคายาได้หลายรายการ ตลอดจนผลงานในระดับ 4 เต็ม จากคะแนนเต็ม 5 คะแนน โดยจากบริษัทประเมินผลทริส รวมกับความสำเร็จในการเริ่มก่อสร้างโรงงานผลิตยาต้านไวรัส และการสนับสนุนการดำเนินการในสิทธิเหนือสิทธิบัตรยา ย่อมแสดงให้เห็นว่า การดำเนินงานขององค์การเภสัชกรรมในระหว่างที่ นายแพทย์ วิชัย โชควิวัฒน บริหารงานในฐานะประธานบอร์ดองค์การมีผลลัพธ์เชิงประจักษ์ต่อสังคม ไม่หน่อมแน้มแต่อย่างใด

ตรงกันข้าม นายไชยา สะสมทรัพย์ แถลงถึงการปลดบอร์ดองค์การเภสัชกรรม ว่า เขาไม่ได้เข้าประชุมคณะรัฐมนตรี และไม่รู้เรื่องการปลดบอร์ดองค์การเภสัชกรรม ซึ่งย่อมแสดงให้เห็นถึงความผิดปกติที่รัฐมนตรีเจ้ากระทรวงปฏิเสธความรับผิดชอบต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ได้เคยให้หลักการของการใช้อำนาจไว้ 3 ประการ ว่าด้วย ที่มาของอำนาจ สาระของการใช้อำนาจ และวิธีการใช้อำนาจ ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี แม้แต่ผู้บริหารระดับในก็ตาม หากพิจารณาหลักการทั้ง 3 ประการดังกล่าว ก็อาจตรวจสอบได้ในระดับหนึ่ง ว่า การใช้อำนาจของตนนั้นถูกต้อง และเหมาะสมหรือไม่

คงไม่มีใครปฏิเสธที่มาของ นายไชยา เพราะมาจากการเลือกตั้ง แต่สถานะของนายไชยา ปัจจุบันก็ประดุจ “เป็ดง่อย” เนื่องจากตกอยู่ในภาวะที่รอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เรื่องไม่แจ้งบัญชีทรัพย์สิน รวมทั้งการถูกยื่นเสนอให้ถอดถอนจากตำแหน่ง เนื่องจากประพฤติตนไม่เหมาะสมโดยภาคประชาชนได้รวบรวมรายชื่อกว่าสองหมื่นชื่อ ดังนั้น จึงมีแนวโน้มที่ นายไชยา จะถูกปลดออกจากคณะรัฐมนตรี ในเร็วๆ นี้

แต่ นายไชยา ก็ไม่สนใจภาวะแวดล้อมอื่นใด นอกจากว่า ตนเองสามารถใช้อำนาจได้ตามอำเภอใจ คล้ายกับเป็นการยืนยันว่า ถ้าตนเองมาจากการเลือกตั้ง และได้รับตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีแล้ว จะกระทำการใดๆ ก็ถูกต้องเหมาะสม สมควร ไปหมด ดังที่ทำให้เกิดปัญหามากมายเหมือนที่ผ่านมา

หากตรวจสอบสาระการใช้อำนาจเปลี่ยนบอร์ดองค์การเภสัชกรรมในครั้งนี้ ก็มองไม่เห็นว่า มีเหตุผลใดที่สามารถจะชี้แจงแสดงเหตุให้สาธารณชนตระหนักเข้าใจ ในทางกลับกัน มีการตั้งข้อสังเกตว่า เป็นการจัดการกับผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามแนวคิดเรื่องการใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา ที่มีภาคประชาชนตั้งโจทย์ต่อตัวรัฐมนตรีผู้นี้อยู่ ยิ่งการแถลงของ นายแพทย์ วิชัย เกี่ยวกับผลงานขององค์การเภสัชกรรมด้วยแล้ว เหตุผลที่จะสนับสนุนการปลดบอร์ด ยิ่งขาดน้ำหนัก แต่ดูจะเป็นการทำตามใจตนเองของรัฐมนตรีเสียมากกว่า

วิธีการใช้อำนาจครั้งนี้ของ นายไชยา ยิ่งแปลก เพราะแถลงว่า ไม่รู้ เนื่องจากตนมิได้เข้าประชุมคณะรัฐมนตรี ไม่มีการชี้แจงเหตุผล ไม่มีการบอกแจ้งในการประชุมที่กระทรวงสาธารณสุข แต่อย่างใด ดังนั้น แม้ว่าในเชิงกฎหมายจะสามารถทำได้ แต่น้ำหนักเหตุผลก็น้อยมาก เมื่อเปรียบเทียบกับสภาวการณ์ของสถานภาพของผู้ใช้อำนาจ สาระของการใช้อำนาจ และวิธีการใช้อำนาจของรัฐมนตรีผู้นี้

ยิ่งมาวิเคราะห์ดู บุคคลที่เข้ามาเป็นกรรมการ 13 คน ด้วยแล้ว การนำนายถิรชัย วุฒิธรรม อดีตประธานมูลนิธิฟุตบอลทีมชาติไทย มาเป็นประธานบอร์ดองค์การเภสัชกรรม ตลอดจนภรรยาของ พลเอก ไตรรงค์ อินทรทัต มาเป็นกรรมการ ยิ่งทำให้ชวนคิดถึงประเด็นการต่างตอบแทนของการใช้อำนาจ ว่า น่าจะเป็นเหตุผลหลักของการเปลี่ยนบอร์ดองค์การเภสัชกรรม มากกว่า

บ้านเมืองยามนี้ ท่าน ว.วชิรเมธี ให้สติว่า ถ้าพระและนักวิชาการไม่ออกความเห็นให้สาธารณชนรู้สึกทราบกันบ้างแล้ว สังคมไทยจะดิ่งจมลึกลงปานใด กรณีการล้างบางองค์การเภสัชกรรมครั้งนี้ ก็เป็นปรากฏการณ์อีกอันหนึ่ง ถึงการใช้อำนาจของรัฐมนตรีว่ามุ่งไปสู่ทิศทางที่เป็นประโยชน์ต่อการบริหารรัฐวิสาหกิจ เพื่อสาธารณะด้วยหลักธรรมาภิบาล หรือ เพื่อการต่างตอบแทนและแก้แค้นล้างบางก่อนการหมดอำนาจ กันแน่
กำลังโหลดความคิดเห็น