193 ประเทศทั่วโลก กว่า 2,000 คน ร่วมยืนแสดงความไว้อาลัยแก่ชาวพม่าและชาวจีนที่เสียชีวิตจากพายุไซโคลนนาร์กีส และแผ่นดินไหว ทูตพม่าประจำยูเอ็น ขอบคุณไทยและอินเดีย ที่ส่งทีมแพทย์ ยาและเวชภัณฑ์ไปช่วย
นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ระหว่างนำคณะผู้บริหารระดับสูง ประกอบด้วย นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านควบคุมป้องกันโรค นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรแห่งประเทศไทย ประจำองค์การสหประชาชาติและองค์การระหว่างประเทศอื่นๆ ณ นครเจนีวา ผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการสาธารณสุข เข้าร่วมประชุมสมัชชาอนามัยโลก สมัยที่ 61 ซึ่งจัดขึ้นเพื่อระดมสมองในการแก้ไขปัญหาสาธารณสุขระดับโลก ระหว่างวันที่ 19-24 พฤษภาคม 2551 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ว่า
ในพิธีเปิดการประชุมใหญ่ซึ่งเริ่มเมื่อเวลา 16.00 น.วันที่ 19 พฤษภาคม 2551 ซึ่งตรงกับเวลาประเทศไทยประมาณ 21.00 น. แพทย์หญิงมาร์กาเร็ต ชาน ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก (Dr.Margaret Chan, Director–General of WHO) ได้ให้ที่ประชุม ซึ่งประกอบด้วย ผู้นำทางนโยบายการสาธารณสุข ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ ประมาณ 2,000 คน จาก 193 ประเทศทั่วโลก ร่วมยืนสงบนิ่งเพื่อแสดงความไว้อาลัยแก่ชาวพม่าที่เสียชีวิตจากพายุไซโคลนนาร์กีส และชาวจีนที่เสียชีวิตจากแผ่นดินไหวเป็นจำนวนมาก ซึ่งขณะนี้รัฐบาลทั้ง 2 ประเทศและนานาชาติ ได้ระดมให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเต็มที่
โดยในที่ประชุม ฯพณฯ วันนา หม่องแอลวิน (Mr.Wunna Maung L win) เอกอัครราชทูตพม่าประจำองค์การสหประชาชาติ ได้กล่าวขอบคุณประเทศไทยและอินเดีย ที่ส่งทีมแพทย์ ยาและเวชภัณฑ์ ไปให้การรักษาพยาบาลแก่ผู้ประสบภัยที่ประเทศพม่า
ในการนี้ นายชวรัตน์ ได้กล่าวสุนทรพจน์ในที่ประชุมสมัชชาองค์การอนามัยโลก ว่า การเกิดภัยพิบัติในประเทศพม่าและจีนนั้น ทำให้ประชาชนนับล้านคนต้องไร้ที่อยู่และขาดแคลนอาหาร เกิดโรคระบาด ซึ่งไม่สามารถประเมินค่าความเสียหายได้ ในการลดความสูญเสียในอนาคต ได้เรียกร้องให้ที่ประชุมร่วมมือกันเป็นเครือข่ายในการสร้างระบบเตือนภัยแต่เนิ่นๆ โดยเสนอให้ทุกประเทศวางระบบการสาธารณสุขขั้นพื้นฐาน และเตรียมพร้อมโครงสร้างทางสังคม เพื่อรองรับวิกฤตการณ์ได้ทันท่วงที สำหรับประเทศไทยนั้น นับว่า เป็นพระมหากรุณาธิคุณที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ ทรงสนพระทัยและให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย ทำให้ประชาชนได้รับการช่วยเหลือรวดเร็วทันเหตุการณ์ ซึ่งที่ประชุมได้ให้การยอมรับแนวคิดของไทยอย่างกว้างขวาง
นอกจากนี้ ไทยยังได้เสนอที่ประชุมถึงมาตรการการพัฒนาสุขภาพประชาชนทั่วโลก เป็นไปตามเป้าหมายทศวรรษแห่งการพัฒนา ตามที่องค์การสหประชาชาติกำหนดให้ทุกประเทศบรรลุผลภายใน พ.ศ.2558 ใน 4 ประเด็นได้แก่ 1.เพิ่มระบบการบริหารจัดการในประเทศยากจนให้มีประสิทธิภาพและโปร่งใส 2.เพิ่มการลงทุนในด้านการศึกษา การรักษาและการขจัดความหิวโหย 3.เพิ่มการเข้าถึงบริการอย่างเท่าเทียมกัน 4.ให้รัฐบาลแต่ละประเทศตระหนักถึงการส่งเสริมความรู้ในเรื่องอนามัยแม่และเด็ก เพื่อลดอัตราตาย รวมทั้งจัดระบบบริการสุขภาพขั้นพื้นฐานที่จำเป็น และมีมาตรการทางกฎหมายเพื่อป้องกันความรุนแรงที่มีต่อแม่และเด็ก