xs
xsm
sm
md
lg

WHO เดินหน้าแผนเข้าถึง "ยาสำคัญต่อชีวิต"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก
เอเจนซี - บรรดาชาติสมาชิกขององค์การอนามัยโลก (WHO) สามารถเอาชนะความขัดแย้งระหว่างประเทศรวยและประเทศจน ในเรื่องการบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญา และได้ลงมติรับรองยุทธศาสตร์เพื่อช่วยประเทศกำลังพัฒนาให้เข้าถึงยาที่มีความสำคัญต่อชีวิตได้มากขึ้น

ในวันเสาร์ (24) อันเป็นวันสุดท้ายของการประชุมเพื่อกำหนดนโยบายประจำปีของ WHO ณ นครเจนีวา บรรดาชาติสมาชิกยังได้เรียกร้องให้ มาร์กาเร็ต ชาน ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก จัดทำรายละเอียดขั้นสุดท้ายของแผนปฏิบัติการ ที่มุ่งเพิ่มแรงจูงใจให้ผู้ผลิตยาคิดค้นยารักษาโรคภัยต่างๆ ที่มักเกิดขึ้นกับคนยากจน

"นับว่าเป็นความสำเร็จครั้งใหญ่สำหรับวงการสาธารณสุขซึ่งจะเป็นประโยชน์กับผู้คนหลายล้านในอนาคตข้างหน้า" ชานกล่าวในการปิดการประชุมสมัชชาองค์การอนามัยโลกที่ดำเนินมาหนึ่งสัปดาห์
มติที่ผ่านสมัชชาองค์การอนามัยโลกในคราวนี้ เรียกร้องให้ชาน "เร่งจัดทำรายละเอียดขั้นสุดท้ายของบรรดาองค์ประกอบที่ยังคั่งค้างอยู่ในแผนปฏิบัติการ อาทิกรอบระยะเวลา สิ่งชี้วัดความก้าวหน้าของแผน และคาดการณ์งบประมาณที่ต้องใช้" เพื่อเสนอต่อการประชุมสมัชชาครั้งต่อไปในปี 2009

ทางด้านกลุ่มรณรงค์ด้านสาธารณสุขต่างชื่นชมกับมติเอกฉันท์ของสมาชิก 190 ประเทศในการประชุมที่เจนีวาครั้งนี้ โดย เจมส์ เลิฟ แห่งโนว์เลดจ์ อีโคโลจี อินเตอร์เนชันแนล กล่าวว่า "องค์การอนามัยโลกนั้นมีความคืบหน้าไปมากในการเปลี่ยนแปลงวิธีคิดเกี่ยวกับนวัตกรรมและการเข้าถึงยา" ส่วนองค์การแพทย์ไร้พรมแดนก็กล่าวว่ารู้สึกยินดีกับความพยายามขององค์การอนามัยโลกในการแก้ปัญหาทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งครอบคลุมไปถึงเรื่องสิทธิบัตร ลิขสิทธิ์ และเครื่องหมายการค้า

**ธุรกิจ การพัฒนา สุขภาพ**

ทรัพย์สินทางปัญญานั้นเป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกับทั้งประเด็นทางธุรกิจ การพัฒนา และสุขภาพอนามัย ที่ผ่านมาประเทศสมาชิกขององค์การอนามัยโลกมีความเห็นแตกต่างกันไปว่าควรหรือไม่ที่จะปรับปรุงระบบสิทธิบัตรที่ใช้กันอยู่ และควรปรับปรุงอย่างไร หลังจากที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าระบบสิทธิบัตรนั้นทำให้คนจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงยาได้ เนื่องจากยามีราคาแพง

เมื่อราว 2 ปีที่ผ่านมา ประเทศสมาชิก WHO ได้จัดตั้งคณะทำงานเพื่อประเมินปัญหาและอุปสรรคด้านการวิจัยและพัฒนาด้านสุขภาพ และหาหนทางที่จะช่วยให้คนยากจนเข้าถึงยาที่มีความสำคัญต่อชีวิต รวมทั้งการตรวจวินิจฉัยโรค และอุปกรณ์การแพทย์ที่จำเป็นต่างๆ ได้มากขึ้นกว่าเดิม

ทั้งนี้ ความคิดเห็นที่แตกต่างกันระหว่างประเทศร่ำรวยและประเทศยากจนในประเด็นความเป็นธรรมของสิทธิบัตร ทำให้คณะทำงานไม่อาจบรรลุข้อตกลงอย่างเป็นเอกฉันท์ต่อ "ร่างยุทธศาสตร์ระดับโลกว่าด้วยการสาธารณสุข นวัตกรรม และทรัพย์สินทางปัญญา" ซึ่งประเทศสมาชิกองค์การอนามัยโลกเพิ่งจะตกลงรับรองไปเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมานี้เอง

ประเทศกำลังพัฒนานั้น มองว่า ขณะนี้บริษัทยาได้ลงทุนอย่างมหาศาลให้กับการรักษาโรคของคนร่ำรวย เช่น การรักษาอาการศีรษะล้าน หรือรักษาสิว แต่กลับมองข้ามเรื่องการคิดค้นยากำจัดปรสิตอันตราย หรือโรคเขตร้อนที่ทำให้ผู้คนยากจนเรือนล้านเสียชีวิต ตาบอด หรือพิการ

ส่วนประเทศมั่งคั่งก็ปฏิเสธที่จะปรับปรุงกฎระเบียบในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา โดยเฉพาะในส่วนของสิทธิบัตรที่ให้ความคุ้มครองบริษัทยา ในการจำหน่ายยาที่พัฒนาขึ้นเป็นระยะเวลาหนึ่ง
ก่อนหน้านี้ ปัญหาเรื่องการเข้าถึงยาเคยถูกหยิบยกเข้าสู่เวทีขององค์การการค้าโลกเช่นกัน จนกระทั่งมีข้อตกลง "TRIPS" (Trade-Related Aspects of Intellectual Property Rights) เกิดขึ้น โดยที่มีข้อผ่อนผันให้ประเทศยากจนสามารถผลิตหรือซื้อยาเลียนแบบจากยาที่มีสิทธิบัตรได้ แต่ก็ถูกโจมตีว่าการผ่อนผันดังกล่าวนั้นเล็กน้อยเกินไป เมื่อเทียบกับปัญหาการเข้าถึงยาที่ประเทศกำลังพัฒนากำลังเผชิญหน้าอยู่
กำลังโหลดความคิดเห็น