ม่เหน่วยแพทย์พระราชทานฯ ออกปฏิบัติการวันแรก ตรวจรักษาผู้ป่วยกว่า 500 ราย ยังไม่พบโรคระบาดหรือโรคติดต่อร้ายแรง เผยพม่าดูแลคณะแพทย์ไทยเป็นอย่างดี นอนศาลาวัด กางมุ้ง น้ำไฟใช้พร้อม ทหาร-ตำรวจรักษาความปลอดภัย ระบุแพทย์ขวัญกำลังใจดีมาก ล่าสุดทีมแพทย์ได้ขอยาสนับสนุนเพิ่มเติมประมาณ 100 กิโลกรัม เผยมีแพทย์ลงชื่ออาสาออกหน่วยปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหยื่อนาร์กีสจำนวนมาก
นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ เปิดเผยความคืบหน้าการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในประเทศพม่าว่า หน่วยแพทย์พระราชทานในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร จำนวน 30 คน ที่เดินทางไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจากพายุไซโคลนนาร์กีส ที่ประเทศพม่า ได้ออกให้บริการตรวจรักษาพยาบาลชาวพม่า ตั้งแต่เมื่อวานนี้ (19 พ.ค.) เป็นวันแรก ที่ศูนย์พักพิงผู้ประสบภัย เมืองเมียงเมี้ย (Myaungmya) มีผู้ป่วยเข้ารับการบริการ จำนวน 500 กว่าราย ส่วนใหญ่เป็นโรคทั่วไป และบาดแผลเล็กๆ น้อยๆ แพทย์ได้ให้ยาทำแผลและกลับที่พักได้ เฉพาะที่เมืองเมียงเมี้ย ขณะนี้ยังไม่พบโรคระบาดหรือโรคติดต่อร้ายแรงแต่อย่างใด
นพ.สุรเชษฐ์ กล่าวต่อว่า ในวันนี้ (20 พ.ค.) คณะแพทย์ได้แบ่งเป็น 2 ทีม ทีมหนึ่งเดินทางไปโรงพยาบาลเมียงเมี๊ย เพื่อวางแผนการทำงานร่วมกับทีมแพทย์ของประเทศพม่า และแพทย์อีกทีมหนึ่งเดินทางไปเมืองลาบุดทา (Labutta) เพื่อวางแผนให้บริการตรวจรักษาผู้ป่วยในศูนย์พักพิงผู้ประสบภัยและในโรงพยาบาลในเมืองลาบุดทาต่อไป ซึ่งยังคงปรึกษาหารือกันว่าจะเดินทางไป-กลับระหว่างเมืองเมียงเมี๊ยและลาบุดทาหรือไม่
“สำหรับความเป็นอยู่ของหน่วยแพทย์ไทยที่เมืองเมียเมี้ย นับว่าได้รับการดูแลเป็นอย่างดี จากทางการพม่าโดยจัดให้พักที่ศาลาวัดภายในตัวเมือง โดยกางมุ้ง มีห้องน้ำ มีไฟฟ้า น้ำประปาใช้ มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร รักษาความปลอดภัย ด้านอาหารการกินนับว่ามีความสะดวกสบายพอสมควรและทุกคนมีขวัญกำลังใจดี ส่วนการติดต่อสื่อสารเป็นไปอย่างยากลำบาก เนื่องจากไม่สามารถติดต่อคณะแพทย์ได้ ต้องรอให้ทีมแพทย์เป็นผู้ติดต่อมาเท่านั้น” นพ.สุรเชษฐ์กล่าว
นพ.สุรเชษฐ์กล่าวต่อว่า ส่วนการติดต่อสื่อสารเป็นไปอย่างยากลำบาก เนื่องจากไม่สามารถติดต่อคณะแพทย์ได้ ต้องรอให้ทีมแพทย์เป็นผู้ติดต่อมาเท่านั้น อีกทั้งการใช้โทรศัพท์ดาวเทียมก็มีข้อจำกัดมาก ต้องอยู่ในที่โล่งแจ้ง ไม่มีเมฆบดบัง ต้องไม่อยู่ในที่ร่ม รถ เต็นท์ หรือใต้หลังคา และต้องหันหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ทำมุม 129 องศา พร้อมขยับหมุนซ้าย ขวา เพื่อหาคลื่นด้วย ทั้งนี้ การสื่อสารจะล่าช้าประมาณ 1 นาที จึงจะสามารถติดต่อได้ และสามารถโทรศัพท์ได้นานครั้งละ 10 วินาทีเท่านั้นก็จะถูกตัดสัญญาณ จะต้องโทรศัพท์ใหม่ อย่างไรก็ตาม แม้จะติดขัดแต่ทางทีมแพทย์ ก็พยายามโทรศัพท์รายงานความเคลื่อนไหวสม่ำเสมอ
ทั้งนี้นพ.สุรเชษฐ์ระบุว่า ล่าสุดทีมแพทย์ได้ขอยาสนับสนุนเพิ่มเติมประมาณ 100 กิโลกรัมเท่านั้น ในส่วนของแพทย์ที่ ครม.ต้องการให้เดินทางไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวในประเทศจีนนั้น ต้องมีการประชุมอีกครั้งว่าจะจัดทีมอย่างไร แต่ขณะนี้มีแพทย์จำนวนมาก ที่ลงชื่ออยากจะเดินทางเป็นอาสาสมัครไปช่วยเหลือที่ประเทศพม่า จึงอาจจะใช้ทีมแพทย์จากที่ได้อาสาสมัครเข้ามาก็ได้
นพ.ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้ไม่พบโรคระบาดหรือโรคติดต่อร้ายแรงในเมืองเมียงเมี๊ย แต่มีรายงานว่าพบโรคท้องร่วงห่างจากเมืองเมียงเมี๊ย ประมาณ 40-50 ไมล์ ซึ่งจะดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อไป ส่วนค่าครองชีพในพม่าพบว่า ราคาอาหารและน้ำแพงขึ้นเป็น 10 เท่าตัว โดยไข่จากราคาใบละ 6 บาท เป็น 60 บาท บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ขยับเป็นราคาซองละ 40-50 บาท
อนึ่ง หากประชาชนต้องการบริจาคเพื่อช่วยเหลือประเทศพม่า สามารถแจ้งบริจาคได้ที่ 0-2590-2803 (ศูนย์ยเรนทร) รับบริจาคยา เวชภัณฑ์ วัคซีน รวมทั้งเครื่องมือที่ใช้ในการควบคุมป้องกันโรค ตลอด 24 ชั่วโมง สำหรับเครื่องอุปโภคบริโภค สามารถบริจาคได้ที่ กรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โทร.1784 หรือ โทร.0-2243-0020 และที่กองบัญชาการกองทัพไทย แจ้งวัฒนะ โทร.0-2575-6288, 0-2572-1500 ตลอด 24 ชั่วโมง ส่วนจังหวัด มีศูนย์รับบริจาค 2 แห่ง คือ ที่ศาลากลางจังหวัดระนอง โทร 0-7781-1123 รับบริจาค ตลอด 24 ชั่วโมง และจังหวัดตาก บริจาคได้ที่ตรงข้ามเทศบาลแม่สอด โทร 0-5553-2683-5 รับบริจาคเวลา 08.00-20.00 น.