xs
xsm
sm
md
lg

3 ปีที่ TCELS “นพ.ธงชัย ทวิชาชาติ” เมืองไทยมีอะไรดีอีกตั้งเยอะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เวลา 3 ปี 5 เดือนที่ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ของประเทศไทย หรือที่เรียกกันติดปากว่า ทีเซลส์(TCELS) เกิดขึ้น หลายคนไม่รู้ว่ามีองค์กรมหาชนชื่อนี้อยู่ในบ้านเรา และเขาทำอะไรกัน ครานี้ถือเป็นโอกาสที่ดีที่จะไปทำความรู้จักกับ ทีเซลส์ องค์กรมหาชนที่เรียกตัวเองว่าผู้ผลักดันและเชื่อมโยงระหว่างราชการกับการลงทุนของเอกชนเข้าด้วยกัน

นพ.ธงชัย ทวิชาชาติ
** องค์กรตั้งไข่
“การทำงานทีเซลส์ก็เหมือนขับเครื่องบินเล็ก พอล้อพ้นพื้นก็ต้องหาทางเอาเอง เพราะโลกที่กว้างก็เหมือนกับหน้าที่รายละเอียดงานที่กว้าง”
นพ.ธงชัย ทวิชาชาติ ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ของประเทศไทย(TCELS) เริ่มต้นเล่าถึงหน้าที่ที่ได้รับจากโบกมือลาองค์การเภสัชกรรมและเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ในองค์กรใหม่แกะกล่อง ถือเป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้ที่ไม่มีสอนในโรงเรียนแพทย์ตั้งแต่เรื่องสเต็มเซลล์ การผลิตสัตว์ทดลอง และโครงการหานักวิจัยต่างๆ แต่ดูเหมือนจะมีบางท่อนที่หายไปนั่นคือท่อนการลงทุน

“ที่นี่ในตอนแรกผมคิดว่าไม่เป็นอย่างที่คิด มันขาดอะไรไปคือท่อนการลงทุน เพราะเราไม่สามารถลงทุนได้ด้วยเหตุผลที่ไม่ใช่นิติบุคคล เป็นองค์กรแบบใหม่ต้องมีการออกแบบใหม่ ซึ่งตอนนี้ก็แก้แล้ว สามารถทำได้ เมื่อก่อนอาจจะผิดไปเล็กน้อย การอยู่ใต้ สบร.ทำให้มีบอร์ดซ้อนกันอยู่ ทำให้บริหารยากและช้า แทนที่จะได้ตัดสินใจฉับไวเหมือนองค์กรมหาชนอื่นๆ แต่เราก็วางฐานระบบไว้แน่น เรากำลังทำเรื่องขอแยกตัว และได้รับอนุญาต ขณะนี้เรื่องอยู่ที่รองนายกฯ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เพราะการเป็นราชการทำให้เราทำอะไรไม่ได้เลย ลงทุนไม่ได้”นพ.ธงชัยกล่าว

หากย้อนกลับไปที่โปรเจ็กต์แรกที่ผอ.ทีเซลส์เสนอต่อรัฐบาลแต่ได้รับการปฏิเสธคือการร่วมลงทุนกับประเทศจีน เรื่องวัตถุดิบการต้านไวรัสเอดส์ ซึ่งหากได้รับการอนุมัติวันนั้น วันนี้ไทยจะมีวัตถุดิบในการผลิตยาโดยไม่ต้องซื้อ กระนั้นก็ไม่ได้ทำให้อดีตผู้อำนวยการเภสัชกรรมหยุด ยังสรรหาอะไรใหม่ๆ นอกเหนือจากการลงทุนอยู่เรื่อยๆ เช่น รุกเข้าไปในมหาวิทยาลัยควักเอาของดีๆ ที่มีภายใจอย่างงานวิจัยเด็ดๆ อย่างวัคซีนไข้เลือดออกที่มหาวิทยาลัยมหิดลกำลังทำอยู่ และการพัฒนาน้ำยางพาราสู่เวชภัณฑ์สำอาง เป็นต้น

“ทุกโปรเจ็กต์ในมหาวิทยาลัย เราเป็นคนนำมาต่อยอด พอเลือกหยิบโปรเจ็กต์ขึ้นมาแล้วเป็นรูปเป็นร่าง ก็ทำโครงการขอสำนักงบประมาณ เน้นเฉพาะเทคโนโลยีในประเทศ ไม่ซื้อเทคโนโลยีจากต่างประเทศ อย่างวัคซีนไข้เลือดออกนี่ก็ที่มหิดล เราเป็นที่หนึ่งและได้วัคซีนที่ถูกลง ยางพาราที่เราเพิ่งได้จดสิทธิบัตรก็ม.สงขลานครินทร์ ของไทยล้วนๆ”
โปรแกรมซอฟท์แวร์เอดส์ของรามาฯ ที่สามารถเก็บข้อมูลผู้ติดเชื้อว่ามีประวัติการแพ้ยาตัวไหน และขณะนี้ได้มีการค้นพบยีนแพ้ยาเนวิราปินก็สามารถที่จะบันทึกลงในซอฟท์แวร์ตัวนี้เพื่อเป็นข้อมูลลิงค์กับโรงพยาบาลทั่วประเทศ ผู้ป่วยจะสามารถใช้บริการโรงพยาบาลไหนก็ได้
** กว่า 3 ปีที่ทีเซลส์
3 ปี 3 สิทธิบัตร เป็นผลตอบกลับที่คุ้มค่าในมุมมองของประธานเจ้าหน้าที่บริหารคนแรก ไม่ว่าจะเป็นไทยเป็นเจ้าของสิทธิบัตรครีมหน้าขาวจากน้ำยางพาราใน 6 ประเทศ การค้นพบยีนของผู้ป่วยโรคเอดส์ที่แพ้ยาเนวาปีน และซอฟต์แวร์การรักษาผู้ป่วยโรคเอดส์ที่ร่วมกับประเทศลักเซมเบิร์ก ซึ่งถือว่าทำระบบการรักษาผู้ป่วยเอดส์ให้ง่ายยิ่งขึ้น ทั้งระบบการประเมินผล และการวัดผลเพื่อจัดแยกยา

“การรักษาผู้ป่วยเอดส์ถือเป็นเรื่องยาก เพราะยามีเกือบ 20 ตัว เป็นสูตร 8 สูตร หมอก็ปวดหัว ซอฟต์แวร์ก็แค่คีย์เข้าไปให้เราประเมินผล วัดผล ได้ยาเป็นชุดออกมาให้เห็นง่ายสบาย ทั้งหมดเราทำให้ประเทศชาติ” นพ.ธงชัยขยายความและว่าขณะนี้กำลังรอผลวัคซีนไข้เลือดออกที่ยังไม่ได้จดสิทธิบัตร แต่หากสำเร็จจะทำให้ไทยมีเงินเข้ามากว่า 5 หมื่นล้านบาทต่อปี เพราะคนที่อยู่เหนือเส้นศูนย์สูตรต้องฉีดวัคซีนนี้ทั้งหมด ประกอบกับเด็กเกิดใหม่อีกปีละร้อยล้านคนทั่วโลก หากไทยคิดโดสละ 500 บาท ฉีด 2 โดส หักต้นทุนแล้วประเทศจะได้ 3 หมื่นล้านบาทจากสินค้าเพียงตัวเดียว ชีววิทยาศาสตร์มีข้อดีตรงนี้ เราไม่สนใจว่าน้ำมันจะแพงขึ้น ไม่เกี่ยวกับน้ำมัน แต่ใช้สมองความรู้คิดวิทยาศาสตร์ นี่คือ สิ่งที่ทีเซลส์เสียบเข้าไปในช่องธุรกิจ เราคิดมากกว่า” ผอ.ทีเซลส์กล่าว
โครงการ PTSD ที่สามารถจัดเก็บเลือดของผู้ประสบภัยสึนามิได้กว่า 2,000 ราย ซึ่งถือเป็นจำนวนเคสที่มากที่สุดในโลก ขณะนี้อยู่ระหว่างการวิเคราะห์เลือดว่ามีภาวะเสี่ยงต่อการเป็น PTSD หรือไม่
แต่สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เมื่อมีการเปลี่ยนผ่านอำนาจก็คือการตรวจสอบการใช้งบประมาณ ซึ่งปกติทีเซลส์จะได้งบประมาณโดยเฉลี่ยปีละ 200 ล้านบาท แต่สำหรับผู้บริหารเจ้าโปรเจ็กต์มองว่าเพียงเท่านี้ไม่เพียงพอ ยิ่งหากจะต้องมีการร่วมลงทุนด้วยแล้ว 5 พันล้านจึงจะเอาอยู่ ด้วยเหตุผลว่ามีโครงการหลายโครงการที่จำเป็นต้องทำอย่างต่อเนื่องจึงจำเป็นต้องใช้เงินก้อนใหญ่ในการลงทุน และทีเซลส์ถือเป็นองค์กรที่จะทำเงินในอนาคต 5 พันล้านจึงเป็นข้อเสนอที่น่าสนใจที่รัฐบาลจะต้องพิจารณา

“หลังการรัฐประหารปัญหาที่เราเจอก็คือปัญหาการตรวจสอบด้านการใช้งบประมาณ เพราะเราถือเป็นหน่วยพิเศษที่เกิดขึ้นโดยรัฐบาลทักษิณ แต่เราก็ไม่มีปัญหา มีที่มาที่ไปชัดเจน การทำงานองค์กรแบบนี้ จ่าย 5 บาทก็ต้องละเอียด ทุกอย่างเมื่อวางรากฐานดี มีการประเมิน วิจัย ระบบก็สมบูรณ์ ทำอะไรก็สบาย เวลาจะทำงานก็สะดวก ที่สำคัญคือศูนย์บริการวิชาการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ที่เข้ามาประเมินผลสัมฤทธิ์ที่ให้คะแนนเราถึง 4.42 เต็ม 5 คะแนน” นพ.ธงชัยให้ข้อมูล

** มองไกลไปในแนวโน้มหมอ
เนื่องจากหน้าที่ที่กว้าง ผู้กุมบังเหียนต้องมีมุมมองที่ไกลด้วย จากกระแสที่มีนักเรียนเลือกที่จะเป็นหมอน้อยลง ดังนั้นอีกประมาณ 5 ปี ไทยจะขาดแคลนแพทย์ ซึ่งขณะนี้ทีเซลส์กำลังรวมตัวกัน เพื่อศึกษาและเสนอรัฐบาลว่าจะแก้ปัญหานี้อย่างไร โดยในเบื้องต้น ต้องหาหมอที่ตกงานมาปั้น ทั้งหมอฟิลิปปินส์ อินเดีย ฝึกให้เป็นลูกน้อง ก่อนที่เราจะผลิตแพทย์ไทยรุ่นใหม่ออกมา

“ขณะนี้กลายเป็นว่าวงการหมอจะล้มละลาย เพราะหมอเก่งๆ ก็น้อยลงเพราะหมอเก่งๆ ก็จะแก่ลง อันตราย แก้อย่างไร เราก็ต้องหาหมอมา เราต้องทำให้อินเตอร์เนชั่นแนล ต้องดูดคนอื่นมาบ้าง การไม่ยอมไปอยู่โรงพยาบาลชุมชนไกลๆ และแห่มาทำงานในเมืองหมด แบบนี้ระบบก็จะพัง เดาได้ว่าภายใน 5 ปี คนอื่นไม่มอง แต่เรามอง” ผอ.ทีเซลส์ให้มุมมอง
และพร้อมกันนี้ปัญหาแพทย์จะส่งผลต่อการรองรับการเข้ามาใช้บริการของกลุ่มผู้สูงอายุชาวต่างประเทศในไทยด้วย ซึ่งการสร้างสังคมไทยให้เป็นฮับทางสุขภาพของผู้สูงอายุเอเชียจะสร้างรายได้มหาศาลให้บ้านเราในวันหน้า

นอกจากนี้นพ.ธงชัยยังเผยแนวโน้มการวิจัยของทางคลินิกของไทยว่ากำลังไปได้ดี โดยทีเซลส์ผลักดันนักวิจัยที่อยู่ในโรงพยาบาล เพื่อการทดสอบการใช้ยากับคนไข้ หรือการปฏิบัติงานการผลิตยา จึงจำเป็นต้องสนับสนุนนักวิจัยวิชาชีพเพื่อผลักดันสู่นานาชาติแต่สำหรับที่ประสบความสำเร็จแล้วคือโครงการสัตว์ทดลอง ซึ่งเป็นงานวิจัยทางคลินิก ซึ่งคุณภาพสัตว์ทดลองไทยมีคุณภาพระดับนานาชาติ แต่อาจจะส่งออกยาก แต่หากไม่ต้องซื้อต่างประเทศแล้วก็ถือว่าไทยคุ้มที่ไม่ต้องเสียเงิน

จากจุดเริ่มต้นที่อาจจะไม่เห็นรูปเห็นรอย หรือพอจะเห็นโครงบ้าง วันนี้ทีเซลส์มีบทพิสูจน์หลายอย่างที่ได้รับการันตี ผ่านทั้งการตรวจสอบแต่ก็ไม่ได้ทำให้คนทำงานหวาดหวั่นปัญหา โดยเป้าหมายนพ.ธงชัยบอกว่า อีก 3 เดือนข้างหน้าจะทีเซลส์จะออกทะเลใหญ่ เครื่องบินเล็กกำลังจะใหญ่ขึ้น คงต้องรอดูต่อไปว่าเครื่องบินลำนี้จะบินไปที่แห่งใดต่อ...




มีอะไรดีดี ให้ดูในทีเซลส์เดย์

หลังจากไทยพบความมหัศจรรย์กับน้ำยางพาราที่สามารถนำมาทำครีมหน้าขาวครั้งแรกในโลก พร้อมจดเป็นสิทธิบัตรไป 6 ประเทศ พอจะทำให้ผู้ผลิตยางพาราบ้านเรายิ้มได้ เพราะวิทยาการใหม่ทำให้เกษตรกรสามารถขายน้ำยางได้ดี และผู้ผลิตเครื่องสำอางก็มีโอกาสลดต้นทุนการซื้อสารไวท์เทนิ่งจากต่างประเทศได้ทางหนึ่งด้วย

สำหรับเรื่องนี้ นพ.ธงชัย ทวิชาชาติ ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ของประเทศไทย(TCELS) หน่วยงานที่ให้การสนับสนุนการทำงานวิจัยของมหาวิทยาลัยสงขลานครินท์ ทดสอบโดยมหาวิทยาลัยหัวเฉียว และส่งผลวิจัยโดยมหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า นวัตกรรมใหม่ชิ้นนี้จะเผยแพร่ให้ประชาชนรับรู้อย่างกว้างขวางในงาน TCELS Day “ชีววิทยาศาสตร์ ชีวิตคุณภาพ” ปลายเดือนพฤษภาคมนี้

“ได้บรรจุโครงการครีมหน้าขาวจากน้ำยางพาราไว้เป็นโครงการที่สำคัญ จุดเด่นของโครงการนี้คือ เป็นการสกัดจากน้ำยางพาราที่หาได้ง่ายและมีราคาถูก ซึ่งแก้ปัญหาที่ต้นทางคือยับยั้งการขนถ่ายเม็ดสีขึ้นสู่ผิวหนัง เราจะแจกที่ทีเซลส์เดย์นี้ 5,000 ตลับ ทั้งหมดทำให้ฟรี ให้รู้ว่ามีทีเซลล์แล้วประชาชนได้อะไร” นพ.ธงชัยกล่าว

  • พันธุกรรม ห่วงโซ่ที่ควรรู้

    แต่หัวข้อสำคัญของงาน TCELS Day ที่จะเป็นไฮไลท์คือระบบการรักษาในระดับพันธุกรรม ที่จะเน้นที่ห่วงโซ่คุณค่าของพันธุกรรมมาแสดงให้เห็นว่ามีความสำคัญอย่างไร การค้นพบระบบพันธุกรรมของคนไทย ไปจนกระทั่งการใช้ระบบยีนรักษาเฉพาะบุคคลซึ่งเป็นการรักษาแนวใหม่เพื่อการตรวจวินิจฉัยโรคอย่างแม่นยำนำไปสู่การรักษาที่ได้ผลร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งแพทย์จะต้องรับรู้และศึกษาระบบนี้อย่างจริงจัง เพื่อที่จะนำระบบนี้เข้าไปอยู่ในระบบการดูแลรักษาพยาบาลอย่างกว้างขวาง

    “อยากให้คนทั่วไปตื่นตัวและรับรู้ว่ามีการรักษาระดับยีนซึ่งมีอยู่แล้วแต่ไม่มาก และไม่ได้รับการกระตุ้นเท่าที่ควร แต่ถ้าได้รับการแพร่หลายก็จะประหยัดเงิน เพราะการรักษาด้วยยาตัวเดียวกันในแต่ละคนจะได้ผลต่างกันเนื่องจากรายละเอียดยีนต่างกันทำให้การสนองตอบต่อยาไม่เหมือนกัน แต่การตรวจเจาะทางยีนจะให้ผลแม่นยำถึง 90 เปอร์เซ็นต์ และการรักษาที่ทันท่วงทีก็จะทำให้อาการป่วยหายขาดได้”

    ผอ.ทีเซลส์ กล่าวยกตัวอย่างโรคบางโรคที่มีการตรวจระดับยีนและเป็นที่รู้จักบ้างแล้ว เช่น มะเร็งเต้านม ซึ่งคนต่างชาตินิยมตรวจยีนและเป็นกันมาก แต่สำหรับเมืองไทยอาจจะไม่ต้องตรวจกันทุกคน แต่หากคนที่มีประวัติแม่ ป้า หรือญาติๆเป็นมะเร็งเต้านมมาก่อนขอแนะนำว่าจะต้องตรวจ เพราะการตรวจยีนหรือพันธุกรรมจะระบุได้ว่าคุณมีโอกาสเป็นมะเร็งกี่เปอร์เซ็นต์ ซึ่งผลที่ออกมารับรองว่าแม่นยำแน่นอน ไม่ต่างอะไรกับการไปหาหมอดู แต่ที่ต่างก็คือการทำนายฟันธงได้ว่า คุณมีโอกาสเป็นโรคอะไร กี่เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการรักษา

    “ถ้าเป็นผมผมจะตรวจ เพราะเราจะได้หาวิธีอื่นให้ปลอดภัย มันเป็นความรู้สมัยใหม่ แหม! ทีไปหาหมอดูเขาทักก็ยังเชื่อ ย้ายบ้านก็ยอม การตรวจยืนก็ตรวจครั้งเดียวรู้ผลเลย ตรวจเฉพาะจุดถ้าเราสงสัยว่าจะเป็นโรคอะไรก็ไปตรวจหา แต่ที่สำคัญของคนทุกวันนี้คือไม่รู้แหล่ง หน่วยงานที่จะตรวจก็มีพอสมควร โรงพยาบาล มหาวิทยาลัย และหน่วยงานเอกชน ถ้าใครสนใจโทรหาเราเดี๋ยวเราจะติดต่อให้ ซึ่งในงานก็มีแหล่งมาให้ติดต่อ” นพ.ธงชัย กล่าว

  • ความงาม ยา อาหาร ที่แท้ก็พี่น้อง
    อีกเรื่องที่เห็นจะเป็นที่นิยมในทุกวันนี้ก็คงหนีไม่พ้น “สปา” ที่สงครามราคาและกระแสโฆษณาทำให้หลายแห่งบอบช้ำ ซึ่งทีเซลล์มองว่าต่อไปกระแสสปาจะซาลงเพราะดูเหมือนไม่มีอะไรใหม่ ดังนั้นสิ่งที่จะปลุกให้อุตสาหกรรมนี้กระเตื้องขึ้น และสร้างประโยชน์ได้มากกว่าการเป็นสถานความงามทั่วไปก็ทำให้เป็น Medical Spa โดยใช้แสงแดดซึ่งเป็นข้อเด่นของไทยให้เป็นประโยชน์ สปาที่ไม่ได้เป็นแค่สปา แต่จะถูกเรียกว่าการรักษาแบบ ไคลเมโทเทอราปี ซึ่งทีเซลล์มองว่าหากมีการวัดค่าแสงแดด ทำการวิจัยยูวีอินเดกซ์ออกมา รวมถึงคิดระบบการรักษาใหม่จะทำให้ลูกค้าต่างประเทศแห่เข้ามารักษาโรคผิวหนังอย่างโรคสะเก็ดเงินที่คนยุโรปเป็นกันมากถึง 3 เปอร์เซ็นต์ที่บ้านเราได้อีกโข

    นอกจากนี้สิ่งจำเป็นจะต้องทำเพิ่มเติมคือการนำแอนติเอจจิ้งมาใส่ในสปานอกเหนือจากนวด อบเซาน่า ซึ่งต่างประเทศมีโปรแกรมที่คล้ายกันเพียงแต่มีแบบสอบถาม เพศ อายุ ระดับคลอเลสเตอรอล ตรวจเลือด จากนั้นตรวจยีน สอบถามอุปนิสัย อาชีพ และไลฟ์สไตล์ จากนั้นก็จะมีผลทำนายแม่นๆ ออกมาว่าคุณเสี่ยงต่อการเป็นโรคอะไร และมันจะเกิดขึ้นแน่นอนภายในระยะเวลาเท่าใด หากไม่มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม จากนั้นก็จะมีแนวทางการปฏิบัติตัวเพื่อให้คำแนะนำ เป็นการเอาความงามเข้ามาผสมกับการแพทย์ และในรายละเอียดก็จะมีอาหาร และยาเข้าไปด้วย เรียกได้ว่าเป็นการชะลอความชราได้ดีทีเดียว

    คงเรียกได้ว่างาน TCELS Day เป็นเหมือนประตูที่เปิดกว้างความรู้ ทั้งวัฒนาการรักษาใหม่ๆ และการขยายช่องทางการลงทุนทางธุรกิจสำหรับผู้สนใจ เพราะนี่คือการเปิดกล่องของดีๆ ที่กระจัดกระจายในเมืองไทยมีให้มาร่วมทุน ซึ่งขีดความสามารถการวิจัยขั้นสุดท้ายก่อนทำมาขายของไทยทำได้แล้วระดับโลก และสามารถสู้นานาชาติได้ไม่ยากเพียงแต่ต้องมีหน่วยงานที่ช่วยผลักดัน ซึ่งทีเซลล์ก็ทำหน้าที่นั้นอยู่อย่างเต็มสามารถ

    “ผมไม่ต้องการแสดงว่าเราเก่ง แต่อยากให้ประชาชนได้รับรู้ว่ามีองค์กรแบบเราอยู่ การจัดงานครั้งนี้เป็นการตั้งโจทย์ว่าประชาชนได้อะไร ไม่ได้ตั้งเพื่อแสดงผลงานทีเซลส์ แต่เพื่อให้รู้ว่าเราตั้งมา 3 ปีกว่าประชาชนได้อะไรก็นำเสนอประชาชน ทั้งของ นวัตกรรม อยากให้ประชาชนได้สัมผัส มอบสิ่งที่ทีเซลล์ทำมาทั้งหมดให้ประชาชน ทั้งองค์ความรู้ ทั้งผลิตภัณฑ์ บริการ” นพ.ธงชัยกล่าวทิ้งท้าย

    ** งาน TCELS Day “ชีววิทยาศาสตร์ ชีวิตคุณภาพ” จะจัดในวันที่ 28-30 พ.ค. 51 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ สนใจร่วมฟังบรรยายติดต่อสอบถามและลงทะเบียนได้ที่ 0-2644-5499, www.tcels.or.th


    กำลังโหลดความคิดเห็น