xs
xsm
sm
md
lg

ห่วงศพนาร์กีสเน่า ไทยแนะหม่องขอแรงนานาชาติช่วยเหลือ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ไทยห่วงพิสูจน์ศพเหยื่อพายุนาร์กีสยาก ชี้ศพเริ่มเน่า หวั่นเป็นแหล่งแพร่เชื้อทางน้ำหากผู้ตายเป็นโรค ชี้พม่าควรขอความช่วยเหลือจากนานาชาติ หากไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือที่มีความพร้อม

วันนี้ (13 พ.ค.) ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ธวัช สุนทรจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลหายสาบสูญหรือเสียชีวิตในเหตุการณ์ภัยพิบัติพายุนาร์กีสถล่มพม่านั้น ขณะนี้ยังไม่ทราบว่า การพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลจะมีมาตรฐานมากน้อยแค่ไหน ซึ่งตนเป็นห่วงอย่างมาก เนื่องจากดูเหมือนทางการพม่าไม่ให้ความสนใจ ซึ่งการพิสูจน์เอกลักษณ์บุคลถือเป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญ และมีความจำเป็น เพราะยังมีญาติเหยื่อผู้รอดชีวิตรอคอยนำศพไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนา รวมถึงนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เสียชีวิตด้วย

นพ.ธวัช กล่าวต่อว่า กรณีเหตุการณ์สึนามิในประเทศไทย ถือเป็นเหตุการณ์รุนแรงมีผู้เสียชีวิตเฉพาะในประเทศไทยมากกว่า 5,000 คน ยังต้องใช้เวลาในการพิสูจน์นานมาก โดยใช้เวลา 2-3 เดือนก็ยังพิสูจน์ไม่เสร็จสิ้น แต่ที่พม่ามีจำนวนผู้เสียชีวิตมากกว่านี้มาก ดังนั้นจึงยังไม่รู้ว่าต้องใช้เวลานานมากเท่าไห่ อีกทั้ง การพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลต้องมีมาตรฐานตามหลักสากล ที่กำหนดโดยองค์การตำรวจสากล (interpol ) เพื่อพิสูจน์ดีเอ็นเอ เสื้อผ้า ประวัติการทำฟัน โดยจำเป็นต้องให้ทีมพิสูจน์บุคคลต่างชาติที่มีความสามารถและมีความเชี่ยวชาญเข้าไปช่วยเหลือ

“ขนาดไทยยังต้องขอให้ต่างชาติช่วยเหลือ ขณะที่พม่ายังไม่ขอความช่วยเหลือ ซึ่งปกติการจัดเก็บศพ ถ้าเก็บไม่ดีเพียง 2 สัปดาห์ศพก็จะเริ่มย่อยสลาย ทำให้ยากลำบากในการตรวจสอบยิ่งขึ้น ที่สำคัญคือ ศพจะเป็นแหล่งแพร่เชื้อโรคได้เช่นกัน เพราะที่ไหนมีศพก็อาจมีแมลงวันมาวางไข่ ซึ่งถ้าผู้ตายมีโรคติดต่อร้ายแรง เช่น อหิวาตกโรค เมื่อศพแช่น้ำเป็นเวลานาน ในช่วงหน้าฝนก็อาจทำให้น้ำมีเชื้ออหิวาต์ก็เป็นปัญหาได้” นพ.ธวัชกล่าว

นพ.ธวัช กล่าวอีกว่า สำหรับโรคทางเดินอาหาร เช่น อหิวาต์ โรคท้องร่วง ท้องเดิน ไทฟอยด์ บิด ถือเป็นโรคที่อันตรายมากในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังภัยพิบัติ ไทยในฐานะที่เป็นประเทศเพื่อนบ้านจึงต้องระมัดระวังโรคเหล่านี้เช่นกัน ซึ่งเคยมีโรคอหิวาตห์ สายพันธุ์ อินาบา ที่แพร่มาจากเพื่อนบ้าน โดยพบในจังหวัดตาก เมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่งโรคดังกล่าวเป็นโรคที่เกิดบริเวณชายแดนไทย-พม่า จึงได้ส่งทีมระบาดวิทยาสืบต้นตอว่าโรคเข้ามาได้อย่างไรเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น