มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ล่าชื่อขับ “ไชยา” ครบ 2 หมื่น เตรียมยื่นต่อประธานวุฒิสภา เช้าวันที่ 15 พ.ค.นี้ คาดใช้เวลาไม่เกิน 2 เดือน น่าจะรู้ผล
เวลา 13.30 น. วันนี้ (12 พ.ค.) ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค น.ส.สารี อ๋องสมหวัง ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ความคืบหน้าการยื่นถอดถอนนายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ภายหลังจากได้เริ่มกระบวนการแสดงตนต่อประธานวุฒิสภา เมื่อวันที่ 28 มีนาคม ที่ผ่านมานั้น ขณะนี้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เครือข่ายผู้ป่วยโรคไต มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เครือข่ายผู้ป่วยมะเร็ง และชมรมแพทย์ชนบท ได้รวบรวมรายชื่อประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ครบ 20,000 รายชื่อตั้งแต่วันที่ 8 พฤษภาคม ที่ผ่านมา โดยมีรายชื่อประชาชนที่มีหลักฐานครบถ้วนจำนวน 21,470 รายชื่อ และเป็นผู้ที่มีหลักฐานไม่ครบ เช่น บัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน อีกเกือบ 200 รายชื่อ โดยเบื้องต้นกำหนดจะเดินทางไปยื่นเรื่องต่อประธานวุฒิสภา ในช่วงเช้าของวันที่ 15 พฤษภาคมนี้ ซึ่งการรวบรวมรายชื่อครั้งนี้ ถือเป็นกรณีแรกของรัฐธรรมนูญปี 2550
“สำหรับขั้นตอนต่อไปภายหลังจากยื่นเรื่องต่อประธานวุฒิฯแล้ว ทางวุฒิสภา จะตรวจสอบรายชื่อให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน จากนั้นส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อตั้งคณะกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงโดยเร็ว จากนั้นคณะกรรมการไต่สวนฯ จะส่งความเห็นกลับมายังประธานวุฒิสภา เพื่อกำหนดวันประชุมและลงคะแนนเสียง หากได้คะแนนเสียง 3 ใน 5 ของสมาชิกวุฒิสภาทั้งหมด จะถือว่านายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จะถูกถอดถอนจากตำแหน่งทันที และประธานวุฒิสภา จะแจ้งเรื่องกลับมายังผู้ริเริ่มรวบรวมรายชื่อรับทราบมติการลงคะแนนดังกล่าว ทั้งนี้ คาดว่ากระบวนการทั้งหมดจะใช้ไม่ต่ำกว่า 2 เดือน” น.ส.สารี กล่าว
น.ส.สารี กล่าวอีกว่า กรณีที่ในระหว่างดำเนินการตรวจสอบ หากนายไชยาถูกปรับออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข หรือถูกปรับออกจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตนและเครือข่ายฯยืนยันจะเดินหน้าให้มีการตรวจสอบการดำเนินงานของนายไชยาขณะที่ยังอยู่ในตำแหน่งต่อไป โดยจะไปยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. เองโดยตรง หาก ป.ป.ช. ชี้มูลว่ามีความผิดจริง ก็จะส่งเรื่องฟ้องต่อศาลอาญา แผนกคดีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อไป เช่นเดียวกับกรณีของนายรักเกียรติ สุขธนะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่ถูกศาลสั่งยึดทรัพย์
“หาก ป.ป.ช.ชี้มูลว่ านายไชยา ไม่มีความผิด หรือแม้กระทั่งการโหวตในวุฒิสภา ไม่ได้เสียงเกิน 3 ใน 5 ทำให้กระบวนการถอดถอนล้มเหลว พวกเราคงจะต้องปรึกษาอีกครั้งว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง พวกเราที่เป็นผู้ริเริ่มถอดถอนจะมีความผิดฐานกล่าวหาเท็จทันที แต่ประชาชนที่รวบลงชื่อจะไม่มีความผิดเพราะเป็นสิทธิ์ที่สามารถกระทำได้ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าไม่น่าจะเกิดกรณีดังกล่าวขึ้น เพราะข้อกล่าวหากทั้ง 4 ข้อ คือ การทบทวนการดำเนินการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรโดยรัฐ (ซีแอล) ทำให้รัฐเสียหายงบประมาณ การประกาศนโยบายของสธ. ก่อนที่จะมีการแถลงนโยบายของรัฐบาล การสั่งโยกย้ายข้าราชการไม่เป็นธรรม และไม่มีผลงานที่จะคุ้มครองสุขภาพของประชาชน ซึ่งทุกข้อกล่าวหาพวกเรามีหลักฐานยืนยันชัดเจน” น.ส.สารี กล่าว
ด้าน นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า หวังว่าการเข้าชื่อ 20,000 รายชื่อจะมีความหมาย เพราะประชาชนได้ทำหน้าที่แล้ว กระบวนการต่อไปคงต้องให้วุฒิสภา และป.ป.ช. ทำหน้าที่และบทบาทของแต่ละหน่วยงาน และหวังว่าจะทำให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้แสดงความรับผิดชอบ หรือรัฐบาลมีการปรับ ครม.ทันที