xs
xsm
sm
md
lg

กทม.เริ่มกิจกรรมรักษ์คู-คลองลดโลกร้อน นำร่องคลองบางบัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กทม.เปิดกิจกรรมโครงการลดโลกร้อน เริ่มที่คลองบางบัวเป็นแห่งแรก โดยจะนำร่องเป็นต้นแบบการอนุรักษ์คู คลองภายใน กทม. พร้อมดึงชุมชนตระหนักความสำคัญของการรักษาแหล่งน้ำ
นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าฯ กทม.
นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร กล่าวในการเป็นประธานเปิดกิจกรรมลดโลกร้อน “ชุมชนร่วมใจ รักษ์คู คลอง” ณ คลองบางบัว เขตบางเขน ว่า วันนี้ 9 พ.ค.2551 เป็นวันครบรอบ 1 ปีที่ กทม.ได้ร่วมมือกับเครือข่ายพันธมิตรฯ 36 องค์กร จัดกิจกรรมรณรงค์ลดภาวะโลกร้อนใน กทม. โดยปีที่ผ่านมาจะจัดกิจกรรมทุกวันที่ 9 ของทุกเดือน โดยกิจกรรม เช่น การเปลี่ยนหลอดใส้เป็นหลอดตะเกียบ การใช้ถุงผ้าแทนถุงพลาสติก การรณรงค์ปลูกต้นไม้ และในวันนี้จึงมาจัดกิจกรรมชุมชน ร่วมใจรักษ์คู คลอง เพื่อเป็นการกระตุ้นชาวชุมชนที่อาศัยอยู่ริมคลองดังกล่าวให้ลดการปล่อยน้ำเสีย ลดการทิ้งขยะ และร่วมกันบำบัดน้ำเสีย โดยนำร่องที่ชุมชนบริเวณคลองบางบัวเป็นแห่งแรก

ทั้งนี้ กิจกรรมชุมชนร่วมใจรักษ์คู คลอง ณ คลองบางบัวจะเป็นต้นแบบเพื่อการอนุรักษ์คู ดลองของ กทม.จำนวน 1,165 สาย ความยาว 2,284 กิโลเมตร พร้อมดึงการมีส่วนร่วมของชุมชนริมคลอง ให้ตระหนักถึงความสำคัญ และร่วมมือกันรักษาแหล่งน้ำ ให้สะอาด เนื่องจากน้ำเสีย ก่อให้เกิดก๊าซมีเทน สาเหตุของก๊าซเรือนกระจกที่ส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อน โดยน้ำเสียส่วนใหญ่ จะมาจากครัวเรือน 70% ซึ่งปัจจุบัน กทม.มีแนวทางในการแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสียคือ การส่งเสริมการลดปริมาณของเสียลงแหล่งน้ำ การใช้น้ำอย่างประหยัด การนำน้ำดีไล่น้ำเสีย การนำน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วมาใช้ประโยชน์เพื่อประหยัดพลังงาน การใช้กังหันน้ำชัยพัฒนาเป็นต้น

“นอกจากนี้ กทม.มีโรงบำบัดน้ำที่สามารถบำบัดน้ำเสียใน กทม.ได้ 1,017,700 ลบ.ม.ต่อวัน หรือประมาณร้อยละ 42 ของปริมาณน้ำเสียใน กทม. ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ชาวชุมชนและทุกภาคส่วนต้องบำบัดน้ำก่อนทิ้งลงคู คลอง และในอนาคตหากโครงการบำบัดน้ำเสียของกทม.อีก 3 โครงการ ได้แก่ โครงการบำบัดน้ำเสียคลองเตย โครงการบำบัดน้ำเสียธนบุรี ศูนย์ศึกษาและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบางซื่อแล้วเสร็จ จะสามารถบำบัดน้ำเสียได้ 1,802,700 ลบ.ม.ต่อวัน หรือประมาณร้อยละ 64 ของปริมาณน้ำเสียที่เกิดขึ้นทั้งหมดภายในปีพ.ศ.2555 และหากดำเนินการได้ตามเป้าหมาย จะชลอการปล่อยก๊าซมีเทน ได้ 0.17 ล้านตันต่อปีภายใน พ.ศ.2555 และคาดว่า กทม.จะค่อยๆ พื้นฟูสภาพน้ำให้มีออกซิเจนละลายน้ำเพียงพอสำหรับสิ่งมีชีวิตให้ดำรงชีพอยู่ได้” นายอภิรักษ์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น