สรุปผลสอบจัดซื้อรถบีอาร์ทีโปร่งใส ไร้ฮั้ว เตรียมเสนอผู้บริหารเดินหน้าโครงการต่อ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อ 14.00 น. วันนี้(8 พ.ค.)ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร(กทม.) คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงโครงการจัดซื้อรถโดยสารด่วนพิเศษ(BRT) ของ กทม. จำนวน 45 คัน มูลค่า 387 ล้านบาท ได้ประชุมนัดสุดท้ายหลังจากที่ได้ขยายเวลาสอบสวนอีก 15 วัน และครบกำหนดในวันนี้ โดยที่ประชุมใช้เวลาหารือกว่า 4 ชั่วโมง
นางวรรณวิไล พรหมลักขโณ รองปลัดกทม. ฐานะประธานคณะกรรมการสอบสวนฯ เปิดเผยภายหลังว่า การตรวจสอบข้อเท็จจริงต่างๆได้เสร็จสิ้นแล้ว โดยที่ประชุมมอบหมายให้นายกฤษฎา กลันทานนท์ ผอ.สำนักงานกฎหมายและคดี กทม. ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการสอบสวนฯ ไปจัดทำเอกสารสรุปผลประชุมพร้อมนำกลับมาให้คณะกรรมการสอบสวนฯ และลงนามเพื่อนำเสนอนายพงศ์ศักติฐ์ เสมสันต์ ปลัดกทม. ในวันจันทร์ที่ 12 พ.ค.นี้
ทั้งนี้ในที่ประชุมไม่มีการสรุปว่ามีการสมยอมราคาระหว่างบริษัทเบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด และบริษัทปรินทร์ อิมพอร์ต เอ็กซ์พอร์ต จำกัด โดยคณะกรรมการได้สืบหาข้อมูลจากทุกทางเท่าที่หาได้ ซึ่งตรงกับที่สื่อมวลชนได้เสนอข่าวไปแล้ว โดยเฉพาะประเด็นที่พบว่าชื่อผู้ถือหุ้นในบริษัทเบสท์รินฯ และบริษัทปรินทร์ฯ มีความเชื่อมโยงกันในบริษัทที่ 3 คือ บริษัทซันลอง จำกัด
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการสอบสวนฯ มีหน้าที่รายงานข้อเท็จจริงให้ผู้บริหารทราบเท่านั้น ส่วนการตัดสินใจว่ายกเลิกประมูลหรือไม่ขึ้นอยู่ที่การตัดสินใจของผู้บริหาร ทั้งนี้ คณะกรรมการสอบสวนฯ รอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) แจ้งข้อกล่าวหา เพื่อที่กทม.จะได้นำข้อสรุปที่ได้จากการตรวจสอบครั้งนี้ไปชี้แจงต่อไป
แหล่งข่าวจากคณะกรรมการสอบสวนฯ รายหนึ่ง กล่าวว่า คณะกรรมการสอบสวนฯ พบว่าผู้ถือหุ้นในบริษัทที่ 1 จำนวน 5 คน และบริษัทที่ 2 หนึ่งราย มีชื่อร่วมหุ้นกันในบริษัทที่ 3 ซึ่งคณะกรรมการสอบสวนฯ พิจารณาตามข้อกฎหมายของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยรัฐ(ฮั้ว) พ.ศ.2542 พบว่าในชั้นนี้ยังไม่มีพฤติการณ์บ่งชี้ว่าเป็นการสมยอมราคาอย่างชัดเจน ซึ่งหากมองในเชิงธุรกิจเป็นเรื่องที่สามารถกระทำได้ และในระหว่างที่มีการยื่นเสนอราคา สจส.ตรวจสอบแล้วทั้ง 2 บริษัทก็ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกันแต่อย่างใด แต่เนื่องจาก กทม.มีข้อจำกัดในการหาหลักฐาน ทั้งหลักฐานการเสียภาษี ที่มาของรายได้ การยื่นคำขอค้ำประกันจากธนาคาร ในขณะที่ดีเอสไอสามารถล้วงข้อมูลมาได้ทั้งหมด ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าดีเอสไอ หรือใครจะพิจารณาว่าอย่างไร แต่คณะกรรมการสอบสวนฯ มั่นใจว่าสามารถเดินหน้าโครงการต่อได้ แต่หากดีเอสไอสรุปผลการตรวจสอบว่าผิดตามที่มีการร้องเรียนจริงก็สามารถไปต่อสู้กันในชั้นศาลต่อไป
แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า ส่วนประเด็นที่ผู้ร้องระบุว่ากทม.จัดซื้อแพงเกินจริงนั้น จากการตรวจสอบข้อมูลบริษัท พีซีไอ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาของ สจส. พบว่าเมื่อแยกคิดราคาต่อหน่วยของแต่ละชิ้นส่วนก็มีความเหมาะสม ดังนั้นกทม.ไม่ได้จัดซื้อแพงเกินจริง เนื่องจากคุณสมบัติของรถที่ กทม.จัดซื้อ กับรถที่ผู้ร้องนำมาเปรียบเทียบแตกต่างกัน
อย่างไรก็ตามในวันจันทร์ที่ 12 พ.ค.นี้ คาดว่าจะยังไม่สามารถสรุปรายงานให้ผู้บริหารรับทราบได้ เนื่องจากคณะกรรมการสอบสวนฯ บางท่านติดภารกิจต่างประเทศ ดังนั้นอาจมีการสรุปผลให้ผู้บริหารได้ประมาณกลางเดือนพ.ค.นี้