“จักรภพ” รุกคืบ ทวงคืนคลื่นวิทยุ-โทรทัศน์จากระทรวงศึกษาธิการกลับกรมประชาสัมพันธ์ ระบุไม่เห็นแอ็กชันในการใช้สื่ออย่างจริงจัง ด้าน “แซม” เผย ศธ.เตรียมหารือใช้สื่ออย่างเต็มที่ เพราะอยากเก็บคลื่นวิทยุ-โทรทัศน์ไว้ใช้ประโยชน์มากกว่าถูกยึดคืน ส่วน "สมชาย" แต่งตั้ง อ.สุขุม บริหารจัดการสื่อใน ศธ.
นายยุรนันท์ ภมรมนตรี ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ นายจักรภพ เพ็ญแข รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ติดต่อมายังนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แจ้งว่าหากกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ไม่ได้ใช้สื่อทั้งคลื่นวิทยุ และโทรทัศน์ดาวเทียมของ ศธ.ดำเนินโครงการให้เห็นผล หรือมีแอ็กชันอะไรอย่างจริงจัง นายจักรภพก็จะขอคลื่นวิทยุ และโทรทัศน์ดาวเทียมกลับคืนไปให้กรมประชาสัมพันธ์ดำเนินการแทน ซึ่งปัจจุบันองค์กรหลักของ ศธ.มีคลื่นวิทยุทั้งเอเอ็ม และเอฟเอ็มเป็นของตนเองทุกองค์กร
นอกจากนี้ยังมีโทรทัศน์ดาวเทียม ได้แก่ โทรทัศน์เพื่อการศึกษา หรือ ETV ซึ่ง ศธ.ยังอยากจะใช้สื่อที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ ดังนั้น ศธ.จึงจะมีการหารือร่วมกัน เพื่อใช้สื่อที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
“กระทรวงศึกษาธิการอยากทำสื่อที่มีอยู่ในมือเองก่อน ยังไม่อยากให้คลื่นวิทยุ และโทรทัศน์ถูกดึงกลับคืนไป โดยเราคงต้องประชุมร่วมกันว่าจะดำเนินอย่างไร นอกจากนี้อาจจะเปิดให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมผลิตสื่อการศึกษาดีๆ ด้วย” ที่ปรึกษา รมว.ศึกษาธิการกล่าว
ด้าน นายวัฒนา เซ่งไพเราะ โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า การขอคลื่นวิทยุและโทรทัศน์คืนจากกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ของนายจักรภพ เพ็ญแข รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีนั้น อาจเป็นเพราะเห็นว่า ศธ.ยังใช้ประโยชน์จากสื่อที่มีไม่เต็มประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นอำนาจที่สำนักนายกรัฐมนตรีกระทำได้ อย่างไรก็ตาม นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รมว.ศึกษาธิการ ได้แต่งตั้งนายสุขุม เฉลยทรัพย์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ให้เป็นประธานคณะกรรมการประชาสัมพันธ์ ศธ.เพื่อบริหารจัดการให้การใช้สื่อของทุกองค์กรใน ศธ.เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และหากจำเป็นต้องขอช่องทางสื่อเพิ่มก็ให้รีบดำเนินการ เพราะ รมว.ศึกษาธิการ ได้แจ้งกับนายจักรภพแล้วว่า คงไม่ให้คลื่นวิทยุและโทรทัศน์คืน มีแต่จะขอเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งตามรัฐธรรมนูญก็ได้กำหนดไว้ด้วยว่า หาก ศธ.ต้องการใช้สื่อเพื่อการศึกษารัฐบาลก็ต้องจัดสรรให้อย่างเพียงพอ
ด้านนายสุขุม กล่าวว่า ปัจจุบันสื่อของ ศธ.มีอยู่ 3 ประเภท ได้แก่ สื่อขององค์กรต่างๆ ศธ.เอง ที่มีทั้งสิ่งพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์ ซึ่งตนจะต้องเข้าไปดูบทบาท และการทำหน้าที่ของสื่อกลุ่มนี้ให้เป็นไปในเชิงรุกและสอดคล้องกับนโยบายของ ศธ. เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ เพราะบางครั้งนำเสนอแต่เรื่องขององค์กรตนเองจนทำประโยชน์ในภาพรวมหายไป ส่วนสื่อกลุ่มที่ 2 ได้แก่ สื่อที่ขอความอนุเคราะห์ หรือเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐกับเอกชน ซึ่งบางสื่อเป็นที่นิยม เข้าถึงประชาชน และมีคุณค่าดีอยู่แล้ว ตนจะเข้าไปตรวจสอบ ประเมินผล และเสริมในบางสื่อที่อาจจะยังใช้งานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพให้ดีขึ้น และกลุ่มสุดท้าย คือ สื่อที่มีการเช่าหรือซื้อโดยงบประมาณของ ศธ.ที่ต้องเข้าไปดูว่าแต่ละหน่วยงานมีการใช้ประโยชน์อย่างไร โดยแต่ละองค์กรจะต้องประชุม และกำหนดแผนในการใช้สื่อร่วมกัน เพื่อให้เกิดเครือข่ายในการบริหารสื่อ ในส่วนที่ว่างเว้นอยู่ก็ต้องดึงมาใช้ให้เต็มที่
“ที่ผ่านมา ศธ.ให้ข้าราชการทำสื่อ หรือจัดรายการต่างๆ เอง โดยที่ข้าราชการส่วนใหญ่ก็มีภาระงานประจำวันที่ต้องทำมากอยู่แล้ว จึงอาจจะให้มืออาชีพเข้ามาผลิตสื่อ หรือจัดรายการ ผมเชื่อว่าจะใช้สื่อได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่วนที่จะขอคลื่นวิทยุหรือโทรทัศน์เพิ่มเติมนั้น ผมคิดว่าน่าจะเป็นรูปของการขอเวลาจากสื่อของรัฐที่ได้รับความนิยมอยู่แล้วมาให้ ศธ.นำเสนอข่าวสาร หรือองค์ความรู้ใหม่ๆ ด้านการศึกษา จะเกิดผลในการเข้าถึงประชาชนมากกว่า เนื่องจากหากขอเป็นคลื่นเฉพาะที่เป็นเอกเทศมักจะไม่ได้รับความนิยม และต้องใช้เวลานานกว่าคนจะติด ซึ่งหลังการปรับปรุงการใช้สื่อของ ศธ.แล้ว ผมมั่นใจว่าทางสำนักนายกรัฐมนตรีคงไม่ขอคลื่นวิทยุและโทรทัศน์คืน”นายสุขุมกล่าว