“สมชาย” เตรียมหารือ “ไชยา” หาทางออกผลิตพยาบาลของ มรภ.3 แห่ง ขอให้สภาการพยาบาลปลดล็อกเงื่อนไข เช่น อาจารย์ผู้สอน 1 คนต่อนักศึกษา 6 พร้อมให้นักศึกษาเรียนจบได้ใบรับรองหลักสูตรพยาบาลวิชาชีพทันทีโดยไม่ต้องสอบ
นายวัฒนา เซ่งไพเราะ โฆษกประจำกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า นายช่วงโชติ พันธุเวช อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา เข้าพบ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อหารือหลักสูตรพยาบาลศาสตร์บัณฑิต ที่มีปัญหาในเรื่องการรับรองหลักสูตรพยาบาลวิชาชีพ
ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขผลิตพยาบาลวิชาชีพประมาณ 2 หมื่นคนต่อปี เมื่อนักศึกษาเรียนจบหลักสูตรจะได้รับการรับรองจากสภาการพยาบาลทันที ต่างจากนักศึกษาหลักสูตรพยาบาลฯของมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา เมื่อเรียนจบหลักสูตรแล้วจะต้องไปสอบเพื่อขอใบอนุญาตจากสภาการพยาบาลเอง เมื่อ นายสมชาย ทราบปัญหาดังกล่าว จึงได้รับปากว่าหารือเรื่องนี้กับ นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการสาธารณสุข และนายสมชาย ยังบอกด้วยว่า ถ้า ศธ.ผลิตนักศึกษาด้านนี้เพิ่มขึ้นจะสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่เคยหาเสียง โครงการ 1 อำเภอ 1 แพทย์ 2 พยาบาล และ ม.สวนสุนันทา เขาจะผลิตพยาบาลให้มีความเชี่ยวชาญด้านภาษาอังกฤษด้วย
ด้าน นายช่วงโชติ พันธุเวช อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา (มรภ.สส.) บอกว่า ในการผลิตพยาบาลของ มรภ. เผชิญปัญหาอย่างหนัก โดยเฉพาะการขอรับรองหลักสูตรพยาบาลจากสภาการพยาบาล ที่มีกฎเกณฑ์เข้มงวดมาก อย่างเช่น ต้องมีหนังสือใช้ในการเรียนการสอน 50 เล่มต่อนักศึกษา 1 คน หรือ ต้องมีอาจารย์พยาบาลที่จบปริญญาโท มีประสบการณ์การสอนไม่น้อยกว่า 2 ปี และอาจารย์ 1 คนต่อนักศึกษา 6 โดยเกณฑ์บางข้อที่สภาการพยาบาลกำหนดไว้นั้น ยากที่จะปฏิบัติได้จริง
อย่างเรื่องอาจารย์ผู้สอน ขณะนี้มีอาจารย์พยาบาลที่มีคุณสมบัติตรงตามเกณฑ์ที่สภาการพยาบาลกำหนดไว้นั้นมีจำนวนน้อยมาก ตนจึงเสนอให้ ศธ.ประสานกับ สธ.แก้ไขหลักเกณฑ์นี้เพื่อให้ มรภ.สามารถเข้ามาร่วมผลิตพยาบาลได้ หากเทียบสัดส่วนประชากร จะพบว่าไทยยังขาดแคลนพยาบาลอีกจำนวนมาก ดูจากโรงพยาบาลรัฐพยาบาลส่วนมากจะทำงานถึงอายุ 45 ปีก็ลาออกไป หรือเดินทางไปทำงานในต่างประเทศแทน เพราะได้ผลตอบแทนสูงกว่า
“วันนี้มี มรภ.เปิดหลักสูตรพยาบาล 3 แห่ง คือ สวนสุนันทา สวนดุสิต และ บุรีรัมย์ ขณะที่มีนักศึกษาสนใจมาสมัครเรียนจำนวนมาก เช่น ปี 2550 มีนักศึกษาขอสมัครเรียนที่ สวนสุนันทา 600 คน รับได้เพียง 80 คน ตรงนี้ชี้ให้เห็นว่ามีคนต้องการศึกษาวิชาชีพมาก เพราะขาดแคลนแหล่งเปิดสอน” นายช่วงโชติ กล่าวด้วยว่า การผลิตพยาบาลของ มรภ.ต้องอาศัยความร่วมมือจากสถานพยาบาลทั้งรัฐและเอกชน เพื่อรับนักศึกษาเข้าฝึกปฏิบัติงานในสถานพยาบาลเพิ่มมากขึ้น