xs
xsm
sm
md
lg

กทม.เล็งจ้างที่ปรึกษารื้อจราจร ถ.เพชรบุรี รับแอร์พอร์ตลิงก์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รอง ผอ.สำนักการโยธา กทม.เผยเล็งจ้างที่ปรึกษาออกแบบแก้ปัญหาจราจร ถ.เพชรบุรี เพื่อรองรับโครงการแอร์พอร์ตลิงก์ ย้ำไม่มีการเวนคืนที่ จะมีเพียงเล็กน้อยตรงทางเข้าแอร์พอร์ตลิงก์เท่านั้น ซึ่ง กทม.จะหารือกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ต่อไป

นายจุมพล สำเภาพล รองผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า หลังจากที่ กทม.ออกประกาศให้เอกชนที่สนใจเข้ายื่นคุณสมบัติในงานจ้างที่ปรึกษาออกแบบแก้ไขปัญหาการจราจรถนนเพชรบุรี บริเวณทางแยกชิดลม วิทยุ ทางด่วนเฉลิมมหานคร นานา อโศก และพร้อมพงษ์ โดยวิธีคัดเลือกตั้งแต่เมื่อเดือนที่แล้ว ปรากฏว่า มีเอกชนที่ให้ความสนใจจำนวน 11 ราย ซึ่งขณะนี้ สนย.อยู่ระหว่างการพิจารณาคัดเลือก คาดว่า ภายในเดือน พ.ค.นี้ คณะกรรมการคัดเลือกจะพิจารณาแล้วเสร็จและขออนุมัติว่าจ้างที่ปรึกษาได้ งบประมาณ 30 ล้านบาท

“สำหรับโครงการแก้ไขปัญหาการจราจรถนนเพชรบุรี จะเป็นระบบโครงข่ายเพื่อรองรับโครงการแอร์พอร์ตลิงก์ รวมทั้งเชื่อมต่อไปยังถนนอโศกด้วย โดยเบื้องต้น สนย.จะกำหนดให้ที่ปรึกษาศึกษาถึงข้อดีและข้อด้อย ระหว่างการสร้างสะพานยกระดับบนถนนเพชรบุรี ตั้งแต่ก่อนใต้ทางด่วนเฉลิมมหานคร ถึงแยกอโศก-เพชรบุรี และแนวทางการสร้างสะพานข้ามแยก ซึ่ง สนย.จะกำหนดให้ที่ปรึกษาจะต้องออกแบบสร้างสะพานข้ามแยกให้ไม่น้อยกว่า 3 แห่งๆ ละ 2-3 ช่องจราจร ได้แก่ จุดตัดใต้ทางด่วนเฉลิมมหานคร จุดตัดมิตรสัมพันธ์ไปนานา จุดตัดแยกอโศก-เพชรบุรี ซึ่งแต่ละจุดตัดนั้นมีปัญหารถติดอย่างหนัก” นายจุมพล กล่าว

รอง.ผอ.สนย.กล่าวด้วยว่า ที่ปรึกษายังจะต้องสำรวจความมั่นคงแข็งแรงและทดสอบฐานรากของสะพานข้ามแยกอโศกด้วย เพราะ สนย.ต้องการเพิ่มช่องจราจรสะพานข้ามแยกอโศก-เพชรบุรีอีก 1 ช่อง เป็น 3 ช่อง แบ่งเป็นฝั่งขาออกเมือง 2 ช่อง และเข้าเมือง 1 ช่อง ดังนั้น ที่ปรึกษาจะต้องสำรวจดูว่าต้องสร้างฐานรากเพิ่มอีกกี่ต้น เพราะ สนย.ต้องรื้อสะพานข้ามแยกอโศก-เพชรบุรี เพื่อสร้างใหม่อยู่แล้ว เนื่องจากสะพานมีอายุการใช้งานกว่า 20 ปีแล้ว และตัวสะพานที่มีสภาพค่อนข้างทรุดโทรม ไม่สามารถจะซ่อมแซมได้ โดยทั้งหมดนี้ที่ปรึกษาจะต้องศึกษาให้ได้ข้อสรุปไปด้วยกัน ระยะเวลาศึกษา 9 เดือน อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการเวนคืนนั้นในแนวถนนเพชรบุรี จะไม่มีการเวนคืนแต่อย่างใด จะมีเพียงตรงทางเข้าแอร์พอร์ตลิงก์เท่านั้นที่อาจถูกเวนคืนเล็กน้อย ซึ่ง กทม.จะทำการหารือกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ในฐานะเจ้าของพื้นที่เพื่อขอพื้นที่ก่อสร้างไม่ต้องมีการเวนคืน

กำลังโหลดความคิดเห็น