xs
xsm
sm
md
lg

สพฐ.จัดทำคู่มือวินัยใหม่ หวังลดกระทำผิด ขรก.ในสังกัด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีข้าราชการในสังกัดทั้งส่วนกลาง ซึ่งเป็นข้าราชการพลเรือน และส่วนภูมิภาคในเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ ที่ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา รวมทั้งสิ้น 443,463 คน มีปัญหาเรื่องวินัย ร้องทุกข์ ร้องเรียน ทั้งจากบุคคลทั่วไปและองค์กรอิสระเข้ามาที่ สพฐ. ประมาณเดือนละ 90 เรื่อง


เลขาธิการ กพฐ.กล่าวว่า การดำเนินการ ดูแล แก้ปัญหากับผู้กระทำผิดจะต้องมีการสอบสวนทางวินัยซึ่งเป็นกระบวนการที่มีขั้นตอน เป็นแนวปฏิบัติด้านวินัยที่ตรงกัน และเพื่อเป็นการเชื่อมโยงต่อการแก้ปัญหา การปฏิบัติงานของผู้เกี่ยวข้องใน สพฐ. สพท. และสถานศึกษาทั่วประเทศ ได้อย่างชัดเจน ถูกต้อง เป็นระบบ ที่สำคัญครูและบุคลากรทางการศึกษาได้รับความเป็นธรรมเมื่อถูกดำเนินการทางวินัย สพฐ. จึงได้เชิญรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่รับผิดชอบกลุ่มบริหารงานบุคคล นิติกร มาร่วมจัดทำต้นฉบับคู่มือปฏิบัติงานด้านวินัย โดยมีเนื้อหา สาระ ครอบคลุมกับบริบทของเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษา ซึ่งประกอบด้วย วินัยข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา วินัยลูกจ้างประจำ พนักงานราชการ ลูกจ้างชั่วคราว และภาคผนวก ซึ่งมีความทันสมัย ทันเหตุการณ์ สามารถใช้เป็นแนวปฏิบัติหรือข้อมูลสำหรับบุคลากรในตำแหน่งอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องได้

ข้าราชการในสังกัด สพฐ.มี 5 ประเภท ได้แก่ ข้าราชการพลเรือนสามัญ ข้าราชการครูและบุคลากร ทางการศึกษา พนักงานราชการ ลูกจ้างประจำ และลูกจ้างชั่วคราว มีการดำเนินการทางวินัยที่แตกต่างกัน และการกระทำผิดเกิดจากหลายสาเหตุ การสอบสวนจึงมีหลายกรณี ทั้งที่ต้องให้แล้วเสร็จในระดับสถานศึกษา หรือระดับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และที่ต้องส่งเรื่องมาดำเนินการยัง สพฐ. การมีคู่มือการดำเนินการทางวินัยที่ถูกต้องตรงกับกฎหมายที่ใช้ในปัจจุบันจึงเป็นเรื่องที่ดีที่จะเป็นแนวปฏิบัติให้กับ สพฐ. สพท. และสถานศึกษาทั่วประเทศ

“บทบาทของผู้อำนวยการสถานศึกษากับเรื่องการสอบสวนทางวินัย เป็นเรื่องสำคัญและจำเป็น เพราะ สพฐ.ได้กระจายอำนาจไปสู่สถานศึกษา คู่มือปฏิบัติงานดังกล่าว นอกจากจะเป็นประโยชน์สำหรับ หน่วยงาน สถานศึกษา และบุคลากรในตำแหน่งอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องแล้วยังสามารถทำให้นิติกรและบุคลากรที่รับผิดชอบทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถลดปริมาณงานที่เข้ามาในส่วนกลาง ส่งผลให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาขั้นพื้นฐานกระทำผิดวินัยน้อยลงอีกด้วย” เลขาธิการ กพฐ.กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น