สธ.พบสิงห์อมควันไม่รู้ว่ามีกฎหมายบุหรี่อึ้อ ฝ่าฝืนสูบบุหรี่ในพื้นที่สาธารณะที่กำหนดห้ามเพียบ สถานีขนส่งผู้โดยสารทุกประเภทมากสุด ร้อยละ 50 สูบที่สถานีรถไฟ รองลงมาคือที่สถานีขนส่ง เตือนหากพบแจ้งตำรวจและมีโทษปรับทันที 2,000 บาท
นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า หลังจากที่กระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 17 พ.ศ.2549 กำหนดพื้นที่สาธารณะให้เป็นเขตปลอดบุหรี่ เพื่อคุ้มครองสุขภาพของผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ ซึ่งออกประกาศเมื่อวันที่ 29 กันยายน พ.ศ.2549 โดยพื้นที่สาธารณะที่กำหนดเป็นเขตปลอดบุหรี่ได้แก่ ยานพาหนะโดยสารประจำทาง ยานพาหนะโดยสารรับจ้าง ป้ายรถเมล์ สถานีขนส่งทุกประเภท ทั้งท่าอากาศยาน สถานีรถไฟ ท่าเรือโดยสาร และสถานีขนส่ง ซึ่งเป็นจุดรวมของประชาชนใช้บริการในการเดินทางเข้า-ออกจำนวนมากทุกวัน ต้องจัดเขตสูบบุหรี่ให้เหมาะสม มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ.2549 เป็นต้นมานั้น ในปีที่ผ่านมา สธ.ได้รับการร้องเรียนจากประชาชนแจ้งว่ามีประชาชนจำนวนมากไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย โดยได้รับเรื่องร้องเรียนจากเขต กทม.และปริมณฑล เป็นจำนวนมาก
นพ.ปราชญ์ กล่าวต่อว่า มีผู้ร้องเรียนมายัง สธ.ทั้งหมด 51 ครั้ง จุดที่มีการฝ่าฝืนสูงที่สุด ได้แก่ สถานีรถไฟ ร้อยละ 50 จำนวน 26 ครั้ง ในจำนวนนี้สูบบนโบกี้รถไฟ 7 ครั้ง รองลงมาคือ ที่สถานีขนส่ง พบร้อยละ 30 จำนวน 15 ครั้ง โดยมีการสูบบนรถโดยสาร 6 ครั้ง และพบที่ขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ ขสมก.ร้อยละ 15 จำนวน 7 ครั้ง น้อยที่สุดที่ท่าอากาศยานได้รับร้องเรียน 2 ครั้ง สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนยังไม่รู้เรื่องกฎหมาย หรือรู้แต่ตั้งใจฝ่าฝืน ทั้งนี้ สธ.ได้แจ้งข้อมูลให้เจ้าหน้าที่ตำรวจให้เอาจริงในเรื่องนี้แล้ว ต่อไปนี้หากพบใครฝ่าฝืนสูบ จะมีโทษปรับทันที 2,000 บาท โดยไม่มีข้อยกเว้นใดๆ ทั้งสิ้น หากจะสูบ ขอให้สูบในบริเวณที่จัดให้สูบเท่านั้น โดยดูที่เครื่องหมาย จะแสดงด้วยอักษรสีฟ้า เขียนว่า เขตสูบบุหรี่
ด้านนพ.เสรี หงส์หยก รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากการสังเกตการณ์พื้นที่ที่ประกาศเป็นเขตห้ามสูบบุหรี่ตามสถานีขนส่งต่างๆ ทุกประเภท ซึ่งจะมีที่ดับบุหรี่ตั้งอยู่ที่นอกทางเข้าอาคาร เพื่อให้ประชาชนดับบุหรี่ก่อนเดินเข้าไปในอาคาร พบว่านักสูบส่วนใหญ่เข้าใจผิด คิดว่าเป็นที่สูบบุหรี่ จึงสูบบุหรี่และปล่อยควันออกมา ทำให้กลิ่นควันบุหรี่เล็ดลอดเข้าไปในอาคารซึ่งเป็นพื้นที่ปรับอากาศ ก่อให้เกิดความรำคาญ และเกิดการแพร่กระจายควันพิษบุหรี่ ซึ่งมีสารพิษมากกว่า 4,000 ชนิด มีสารก่อมะเร็งในคนไม่ต่ำกว่า 42 ชนิด ซึ่งไม่มีความปลอดภัยใดๆ ทั้งสิ้นหลังสัมผัส
นพ.เสรี กล่าวต่อว่า สธ.จะขอความร่วมมือผู้ประกอบการ เจ้าของสถานที่ ให้ติดป้ายเตือนให้ชัดเจนยิ่งขึ้นว่าไม่ใช่พื้นที่อนุญาตให้สูบบุหรี่ และขอความร่วมมือประชาชนช่วยกันเป็นหูเป็นตา หากพบการสูบบุหรี่ในเขตต้องห้าม ให้แจ้งข้อมูลที่ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนบุหรี่และเหล้า ของกระทรวงสาธารณสุข หมายเลข 0-2590-3342 หรือตู้ ปณ.224 ปณจ.นนทบุรี 11000 หรือที่www.thaiantitobacco.com