xs
xsm
sm
md
lg

เศร้า! ลูกจ้างเจ็บป่วยจากการทำงาน 2 แสนราย นครปฐม-บ้านไชยาสูงสุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สธ.เผยลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานทั้งสิ้นเฉียด 2 แสนราย “นครปฐม” สูงอันดับ 1 เสียชีวิตทั้งหมด 741 ราย จากเหตุวัตถุหรือสิ่งของหล่นทับมากที่สุด อวัยวะที่ได้รับอันตรายสูงสุด คือ ตา เร่งเพิ่มคลินิกอาชีวเวชศาสตร์ในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ 24 แห่งกระจายทุกภาค เพื่อตรวจประเมินสุขภาพผู้ใช้แรงงานทุกประเภทและรักษาโรคจากการทำงานเป็นการเฉพาะ

วันนี้ (1 พ.ค.) นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ประเทศไทยมีผู้ที่อยู่วัยแรงงานประมาณ 37 ล้านคน จากข้อมูลสำนักงานกองทุนเงินทดแทนในปี 2550 พบแรงงานประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานทั้งสิ้น 198,652 ราย เสียชีวิต 741 ราย ทุพพลภาพ 16 ราย สูญเสียอวัยวะบางส่วน 3,259 ราย สาเหตุเกิดจากวัตถุหรือสิ่งของหล่นทับมากที่สุด อวัยวะที่ลูกจ้างได้รับอันตรายสูงสุด คือ ตา กิจการที่ลูกจ้างประสบอันตรายสูงสุดคือ กิจการผลิตภัณฑ์จากโลหะ และตำแหน่งที่ลูกจ้างประสบอันตรายสูงสุดคือ ผู้ควบคุมเครื่องจักรและผู้ปฏิบัติงานด้านการประกอบชิ้นส่วน

โดยจังหวัดที่มีอัตราการบาดเจ็บจากการทำงานมากที่สุดในประเทศได้แก่ นครปฐมพบ 51 คนต่อพันคน รองลงมาคือ สมุทรปราการ 44 คนต่อพันคน ระยอง 42 คนต่อพันคน สมุทรสาคร 35 คนต่อพันคน และฉะเชิงเทรา 32 คนต่อพันคน

นายไชยา กล่าวต่อว่า สธ.มีนโยบายเสริมสร้างความปลอดภัยในการทำงานและส่งเสริมสุขภาพประชาชนวัยแรงงาน ช่วยลดปัญหาความสูญเสียทางเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม ได้ให้สำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัดทั่วประเทศ รณรงค์ลดการเจ็บป่วยจากการทำงาน โดยเน้นการใช้อุปกรณ์ป้องกัน เช่น หน้ากากปิดจมูกเพื่อป้องกันฝุ่นที่ทำให้เป็นโรคปอด การใส่อุปกรณ์อุดหูป้องกันประสาทหูเสื่อมจากเสียงดัง การใส่ถุงมือป้องกันการสัมผัสสารเคมี การใส่อุปกรณ์ป้องกันอวัยวะ เช่น ใส่รองเท้าเหล็ก รองเท้าบูต รวมทั้งรณรงค์ไม่ให้เสพสุราของมึนเมาหรือใช้สารเสพติดขณะทำงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้ดีขึ้น

“ด้านการรักษาพยาบาล มีนโยบายให้โรงพยาบาลขนาดใหญ่ เพิ่มคลินิกอาชีวเวชศาสตร์ เพื่อตรวจวินิจฉัยโรคจากการทำงาน มีแพทย์พยาบาล นักวิชาการที่ผ่านการอบรมด้านนี้เป็นการเฉพาะ มีเครื่องมือตรวจสมรรถภาพปอด การได้ยิน สายตา เพื่อให้การรักษาฟื้นฟู และมีเครื่องมือตรวจสภาพแวดล้อมความปลอดภัยในการทำงาน เพื่อส่งเสริมสุขภาพคนทำงานทุกประเภท เช่น เครื่องวัดแสง เสียง ความร้อน และชุดเก็บตัวอย่างอากาศเพื่อตรวจวิเคราะห์ฝุ่นละออง แก๊สพิษอันตรายต่างๆ ในปี 2550 ดำเนินการแล้ว 9 แห่ง ในปีนี้ขยายเพิ่มอีก 15 แห่ง ใช้งบจากกองทุนเงินทดแทน กระทรวงแรงงานประมาณ 9 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้แรงงานได้รับการดูแลสุขภาพอย่างต่อเนื่อง โดยบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญโดยตรง และลดค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคจากการทำงานจ่ายเงินค่าทดแทนซึ่งใช้ปีละเกือบ 2,000 ล้านบาท” นายไชยา กล่าว

นายไชยา กล่าวอีกว่า สำหรับจังหวัดนครปฐมเป็นเมืองอุตสาหกรรม มีโรงงานอุตสาหกรรมทั้งสิ้น 2,600 แห่ง มีคนงานที่อยู่ในระบบประกันสังคมรวม 170,000 คน จากข้อมูลของกองทุนเงินทดแทนในปี 2549 พบว่า จังหวัดนครปฐมมีผู้เสียชีวิตจากการทำงาน 32 ราย สูญเสียอวัยวะบางส่วน 245 ราย และหยุดงานมากกว่า 3 วัน 1,102 ราย นับเป็นการสูญเสียอันดับที่ 5 ของประเทศ

ด้านนพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในปีนี้กระทรวงสาธารณสุขได้ขยายระบบการดูแลความปลอดภัยในกลุ่มเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป 95 แห่งทั่วประเทศ เพื่อประเมินความเสี่ยงในการทำงาน และแก้ไขปรับปรุงจุดที่เป็นปัญหาต่อสุขภาพผู้ทำงาน โดยได้จัดทำคู่มือเป็นแนวทางปฏิบัติแจกจ่ายให้โรงพยาบาลทุกแห่งรวมทั้งสถานีอนามัย ศูนย์สุขภาพชุมชนด้วย และจัดโครงการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรคและภัยสุขภาพจากการประกอบอาชีพในกลุ่มแรงงานนอกระบบ ที่ทำงานอยู่ในชุมชนด้วย โดยจะทำการศึกษาสภาพปัญหาในพื้นที่ โดยใช้ข้อมูลการป่วย บาดเจ็บจากการทำงาน นำมาวางแผนป้องกันเชิงรุก และแก้ไขร่วมกับองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น

“สำหรับโรงพยาบาล 24 แห่งที่มีคลินิกอาชีวเวชศาสตร์ตรวจรักษาโรค การบาดเจ็บจากการประกอบอาชีพ ได้แก่ รพ.ปทุมธานี รพ.ชลบุรี รพ.ราชบุรี ร.พบุรีรัมย์ รพ.นครพิงค์เชียงใหม่ รพ.สมุทรปราการ รพ.มหาราชนครราชสีมา รพ.ขอนแก่น รพ.ลำปาง รพ.พระนั่งเกล้านนทบุรี รพ.เจ้าพระยายมราชสุพรรณบุรี รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ ปราจีนบุรี รพ.สุรินทร์ รพ.สรรพสิทธิประสงค์อุบลราชธานี รพ.พุทธชินราชพิษณุโลก รพ.สุราษฎร์ธานี รพ.หาดใหญ่ รพ.พระนครศรีอยุธยา รพ.ระยอง รพ.สมุทรสาคร รพ.อุดรธานี รพ.สวรรค์ประชารักษ์ นครสวรรค์ รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ เชียงราย และ รพ.วชิระภูเก็ต” นพ.ปราชญ์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น