“บรรณวิทย์-ชาญชัย”อดีต กมธ.คมนาคม สนช.แฉ “แอร์พอร์ตลิงก์”เอื้อเอกชนสูบเลือดรัฐกว่าพันล้าน เรียกร้องรัฐชะลอการต่อสัญญาก่อสร้าง ขู่ฟ้องร้อง “พวกโกงชาติ”
รายการคนในข่าว เอเอสทีวี คืนวันที่ 16 เมษายน นางจินดารัตน์ เจริญชัยชนะ พล.ร.อ.บรรณวิทย์ เก่งเรียน อดีตประธานกรรมาธิการการคมนาคม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และ นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีตอนุกรรมาธิการตรวจสอบโครงการระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (แอร์พอร์ตลิงก์) ได้ร่วมกันย้อนรอยทุจริตแอร์พอร์ตลิงก์
โดย นายชาญชัย กล่าวว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้น ในสัญญาก่อสร้างโครงการแอร์พอร์ตลิงก์ ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และบริษัทกลุ่มเอกชน อาทิ บริษัท บี กริม ทำให้พบว่ามีเอกสารที่ยืนยันว่า ได้มีการแก้ไขเงื่อนไขการประมูล (ทีโออาร์) ที่เอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนหลังการขายแบบประมูลไปแล้ว โดยจากเดิมระบุว่า ผู้รับจ้างไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าใช้จ่าย ค่าทดแทน ดอกเบี้ย กรณีการขยายเวลาสัญญา ไม่ว่ากรณีใดๆ โดยต่อมาการรถไฟฯได้แจ้งขอให้อัยการสูงสุดแก้ไขสัญญา จากเดิมที่ไม่ต้องเสียค่าปรับและดอกเบี้ย เป็นการรถไฟฯยินยอมรับภาระที่เกิดขึ้น เนื่องการส่งมอบพื้นที่ไม่ได้อันเป็นความผิดของการรถไฟฯ ทำให้ ร.ฟ.ท.ต้องเสียค่าปรับและดอกเบี้ย กรณีที่ไม่สามารถส่งมอบที่ดินทันตามข้อตกลง จากเดิมที่ไม่ต้องเสียค่าปรับและดอกเบี้ย ทำให้ ร.ฟ.ท.ต้องเสียค่าปรับและดอกเบี้ยรวมแล้วกว่า 1,000 ล้านบาท
นายชาญชัย กล่าวว่า ทางอัยการสูงสุดได้ทำหนังสือลงวันที่ 12 มกราคม 2548 ได้แจ้งเตือนต่อการรถไฟฯ 2 ประเด็น คือ 1.ก่อนลงนามในสัญญา การรถไฟฯต้องรับภาระดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น การรถไฟฯต้องตรวจสอบความพร้อมในการส่งมอบพื้นที่ดังกล่าว ก่อนการรถไฟฯจะลงนามในสัญญา และ 2.เมื่อลงนามในสัญญาแล้ว การรถไฟฯควรระมัดระวังเรื่องการมอบพื้นที่ให้สอดคล้องกับเวลาตามเงื่อนไขในเอกสารต่างๆ การให้ย้ายสาธารณูปโภค เพื่อมิให้เกิดปัญหาในการบริหารสัญญา หรือผิดสัญญาเกิดขึ้นในภายหลัง
“สิ่งที่ชี้ได้ว่าการลงนามสัญญาดังกล่าวเป็นการเอื้อผลประโยชน์ให้กับบริษัทเอกชน ก็คือ การเร่งรัดลงนามเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน เอกชน และผู้บริหารฝ่ายการเมือง ในสมัยที่ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ยังเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม โดยมีการนำเรื่องข้อแก้ไขเงื่อนไขมติครม.เรื่องชำระค่าก่อสร้างและค่าใช้จ่ายทางการเงิน พร้อมดอกเบี้ยคืนให้เอกชนเมื่อครบกำหนด ระยะเวลา 990 วัน เสนอเข้าสู่ที่ประชุม ครม.และมีมติเห็นชอบภายในวันเดียว ลังจากมีการประมูล เท่ากับเปลี่ยนเงื่อนไขทางการเงินแก้ผู้รับจ้างทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมต่อการประมูล และร่วมกันฉ้อฉล และเร่งรีบดำเนินการก่อนที่จะมีการเลือกตั้งเพียงไม่กี่วัน จนทำให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ และการรถไฟฯ” นายชาญชัย กล่าว
นายชาญชัย กล่าวต่อว่า การดำเนินการหลังจากนี้ก็จะหาข้อมูลหลักฐาน เพื่อเอาผิดกับบุคคลที่เกี่ยวข้องต่อไป อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า การตรวจสอบโครงการดังกล่าวไม่ได้ต้องการให้หยุดการก่อสร้าง แต่ต้องการให้ชะลอการต่อสัญญาระหว่างการรถไฟฯและบริษัทเอกชนเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายกับรัฐ นอกจากนี้ ในวันที่ 6 สิงหาคมนี้ อนุกรรมาธิการจะเชิญ นายศิวะ แสงมณี ประธานคณะกรรมการบริหาร ร.ฟ.ท.เข้ามาชี้แจงกรณีการจ่ายเงินค้ำประกัน 10 เปอร์เซ็นต์ค่าก่อสร้าง ก่อนที่งานจะแล้วเสร็จ ซึ่งตามปกติแล้วไม่สามารถทำได้
ด้าน พล.ร.อ. บรรณวิทย์ กล่าวว่า ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน เป็นตัวสกัดกั้นความเจริญของประเทศ ซึ่งการดำเนินหน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบเรื่องดังกล่าว ได้ตรวจสอบอย่างเต็มที่แต่ยังมีปัญหา คือ องค์กรต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ยังไม่ให้ความร่วมมือเท่าที่ควร ทำให้ประเทศสูญเสียผลประโยชน์ ดังนั้น ตนเห็นว่า หนทางสุดท้ายที่จะทำให้ทุกอย่างดีขึ้น นอกจากบุคคลที่เกี่ยวข้องจะพิจารณาตัวเอง และย้ายไปทำงานอย่างอื่นแล้ว จะใช้การดำเนินการทางกฎหมายฟ้องร้องด้วย