xs
xsm
sm
md
lg

อิทธิพลทีวี! เด็กไทยอยากเป็นพระเอกเพราะ “ข่มขืน” คนอื่นได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอแบคโพลล์ เปิดผลสำรวจทีวีไทย เจอแต่ภาพหวิว กอดจูบ ข่มขืน ใช้คำหยาบคาย แทบทุกวัน เด็ก 2-19 นั่งเฝ้าหน้าจอถึงเที่ยงคืน ผงะเด็กบอกอยากเป็นพระเอกจะได้ข่มขืนคนอื่นได้ แถมบางส่วนรับได้ขืนใจเรื่องธรรมดา ส่วนเด็กหญิงอยากแต่งตัวเซ็กซี่ เหมือน พี่อั้ม-หยาด-เป้ย เกือบครึ่งเชื่อทีวีมีส่วนสร้างปัญหาสังคม ร้องกรมประชา-นายกฯ แก้ด่วน 72.5% มองไม่เห็นผลงานแก้ปัญหาเด็กของรัฐบาล หมอเด็กยันจอตู้ทำร้ายเยาวชน วอนผู้จัดผลิตสื่อดี วธ.ขอความร่วมมืออย่าฝ่าประกาศจัดเรตติ้ง

วันนี้ (29 เม.ย.) ที่โรงแรมเอเชีย มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว จัดแถลง “เฝ้าระวังสื่อร้ายทำลายเด็ก” โดย ดร.นพดล กรรณิกา หัวหน้าศูนย์เครือข่ายวิชาการเพื่อสังเกตการณ์และวิจัยความสุขชุมชน มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (ศูนย์วิจัยความสุขชุมชน) กล่าวว่า การสำรวจ “ศึกษาอิทธิพลของการชมรายการโทรทัศน์กับพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ในกลุ่มคนดู ศึกษาเด็ก เยาวชน และประชาชน"อายุ 2 – 6 ขวบ 7- 12 ปี 13 – 19 ปี และอายุ 20 ปีขึ้นไปใน กทม.และจังหวัดหัวเมืองใหญ่ของประเทศ จำนวน 2,159 ตัวอย่าง วันที่ 24-28 เม.ย.2551 พบ การดูโทรทัศน์เป็นกิจกรรมยามว่างที่คนส่วนใหญ่ทำมากที่สุด 55.4% รองลงมา 8.5% ดูซีดี/วิดีโอ โดย 72.4% บอกว่า 30 วันที่ผ่านมาดูทีวีทุกวันหรือเกือบทุกวัน ซึ่งช่อง 3 เป็นช่องที่กลุ่มตัวอย่างดูมากที่สุด ทั้งรายการข่าว ละคร วาไรตี้

“การศึกษาพบวันจันทร์-ศุกร์ ช่วง 18.01-20.00 เป็นเวลาที่เด็ก 2-6 ปี ดูทีวีมากที่สุด ซึ่งเด็ก 7-12 ก็ดูทีวีช่วงเดียวกันอยู่ 34.6% เด็ก 13-19 ดูอยู่ 36.8% ขณะที่เวลา 20.01-22.00 เด็ก 2-6 ปี เกือบ 1 ใน 4 คือ 23.1 ยังดูทีวีอยู่ เด็ก 7-12 ปี ถึง 29.5% ก็ดูทีวีเวลานี้เช่นกัน และเด็ก 13-19 ปี เกินครึ่งก็ยังดูทีวีอยู่ ทั้งนี้ เด็ก 2-6 ขวบ 3 ใน 100 คน เด็ก 7-12 ปี 13.5% และเด็ก 13-19 ปี เกิน 1 ใน 4 ยังดูทีวีช่วง 22.00-24.00 น.โดยเด็ก 2-19 ปี ส่วนใหญ่ บอกว่าดูทีวีทุกวัน หรือเกือบทุกวันด้วย กลุ่มตัวอย่างระบุว่า การแต่งตัวโป๊ วาบหวิว คือ สิ่งที่เห็นมากที่สุด 53.6% เห็นการกอดจูบถึง 42.8% การทำร้ายร่างกาย 39.2% เห็นพฤติกรรมข่มขืนในละครและข่าวข่มขืน 34.3% เกือบ 30% เจอการใช้คำหยาบคายด่าว่ากัน และการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พบภาพสูบบุหรี่-ดื่มเหล้า ประมาณ27.7% ซึ่ง 1 ใน 4 เจอแต่ภาพโฆษณาที่ใช้ความรุนแรง ช่องที่กลุ่มตัวอย่างเห็นว่ามีรายการสร้างสรรค์มากกว่าไม่สร้างสรรค์ คือ ช่อง 9”ดร.นพดล กล่าว

ดร.นพดล กล่าวอีกว่า เมื่อถามถึงการจัดระดับรายการทีวี (เรตติ้ง) มีเพียง 23.8% ที่บอกว่าเชื่อถือได้ 67.8% บอกว่า เชื่อได้บางรายการ 66.4% จึงเห็นว่าควรแก้ไข กลุ่มตัวอย่าง 74.5% ไม่ชอบฉากข่มขืน 66.9% ไม่ชอบฉากกอด จูบ กัน 69.6% ไม่ชอบการใช้คำด่ากันรุนแรง 68.9% ไม่ชอบภาพการทำร้ายร่างกายกัน แต่ 3 เดือนที่ผ่านมาได้เห็นภาพที่ไม่ชอบถี่มาก เช่น ตบตี 38.8% ข่มขืน ล่วงเกินทางเพศ 32.7% ซึ่ง 34.7% บอกว่าเห็นทุกวันหรือเกือบทุกวัน อีก 27.3% เห็น 3-4 วันต่อสัปดาห์

“ที่น่าห่วง คือ เด็ก 2-6 ปี 10.3% เด็ก 7-12 ปี 6.4% เด็ก 13-19 ปี 21.1% ชอบฉากข่มขืนมากถึงมากที่สุด เด็ก 2-6 ปี 10.9% เด็ก 7-12 ปี 19.9% เด็ก 13-19 ปี 20.2% รวมถึงคนอายุ 20 ขึ้นไป จึงบอกว่าการข่มขืนเป็นเรื่องธรรมดาของสังคมที่ยอมรับได้ และเด็กๆบางส่วนบอกว่าอยากเป็นพระเอกจะได้ข่มขืนคนอื่นได้ ซึ่งเด็ก 2-19 ปี เกิน 1 ใน 4 อยากแต่งตัวเซ็กซี่อย่าง พัชราภา ไชยเชื้อ หยาดทิพย์ ราชปาล ปานวาด เหมมณี ทั้งนี้ 36.6% ยอมรับว่าภาพความรุนแรงจะทำให้เยาวชนเลียนแบบ และการโฆษณาขนมกรุบกรอบที่มีของแจกของแถม 75.8% บอกว่าจะทำให้เด็กซื้อขนมมากขึ้น โดย 58.2% คิดว่ามีโฆษณาขนมในรายการเด็กมากไป”ดร.นพดล กล่าว

ดร.นพดล กล่าวอีกว่า กลุ่มตัวอย่างเห็นว่าปัญหาสังคมส่วนหนึ่งมากจากโทรทัศน์ โดยเฉพาะการเลียนแบบของเด็กถึง 48.5% การใช้ความรุนแรง 24.3% ปัญหาอาชญากรรม ข่มขืน ฆ่า 15.3% ซึ่ง 67.5% ระบุว่า ทีวียังมีประโยชน์ต่อเด็กไม่มากพอ การศึกษายังพบว่าหากเห็นภาพการดื่มเหล้า การข่มขืน ต่อเนื่องจะมีผลต่อพฤติกรรมของผู้ชมด้วย 56.7% เห็นควรให้มีหน่วยงานภาครัฐร่วมกับผู้บริหารสถานีมาควบคุมรายการ ซึ่ง 44.8% เห็นว่ากรมประชาสัมพันธ์ควรมาดูแลอย่างเร่งด่วน ตามด้วย 39.4% คือรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องมาจัดการ อีก 38.5 อยากให้นายกฯ มาดูแล โดย 72.5% ยังไม่เห็นผลงานการแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนของรัฐบาล 80.3% จึงยังไม่พอใจ
นพ.สุริยเดว ทรีปาตี หัวหน้าคลินิกวัยรุ่น สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวว่า โทรทัศน์เป็นสื่อสำคัญเข้าถึงคนทุกกลุ่ม และมีอิทธิพลสูงต่อเด็ก เด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี ไม่ควรดูทีวีหรือคอมพิวเตอร์ เพราะมีผลต่อพัฒนาการทำให้พูดช้า ก้าวร้าว หากเด็กได้รับสื่อไม่เหมาะสมต่อเนื่อง ผลวิจัยจากกุมารแพทย์ทั่วโลก ชี้ชัดว่า เด็กจะมีพฤติกรรมดังนี้ 1.ชอบใช้ความรุนแรงโต้ตอบ 2.รู้สึกหวาดกลัวสังคม 3.รู้สึกเคยชินกับความรุนแรง กับสิ่งที่ไม่เหมาะสมที่ได้เห็น 4.ความเมตตาอยากช่วยคนอื่นลดลง 5.เกิดพฤติกรรมเลียนแบบ ทั้งความคิดการกระทำ คำพูด การแต่งกาย

นพ.สุริยเดว กล่าวอีกว่า การมีสื่อไม่เหมาะสมจำนวนมากในโทรทัศน์ ผิดในแง่คุ้มครองผู้บริโภค และผิดที่ไม่คุ้มครองสิทธิของเด็ก ปล่อยให้ถูกทำร้ายทางจิตใจและอารมณ์ ต้องเสพแต่สื่อรุนแรง ฉากการแสดงความรักโจ่งแจ้งเปิดเผย หากปล่อยให้สื่อร้ายรังแกสังคมไปเรื่อยๆ โลกยุคต่อไป จะกลายเป็นโลกของเซ็กส์และความรุนแรง สังคมทุกวันนี้ที่เด็กชอบใช้ความรุนแรง มีเด็กอายุน้อยๆ ลงเรื่อยๆ เป็นผู้ต้องหาคดีข่มขืน ก็อย่าโทษเด็ก เพราะผู้ใหญ่หล่อหลอมพวกเขาให้เป็นแบบนี้เอง ต้องยอมรับว่าพ่อแม่จำนวนมากที่เลี้ยงลูกหรือปล่อยลูกไว้หน้าจอทีวี ขณะที่ทักษะการเลี้ยงลูกของพ่อแม่ในปัจจุบันอ่อนแอ ต่างคนต่างดู ไม่พูดคุย สอนกัน

“ผมอยากวอนให้ ผู้ผลิต ผู้จัดรายการ ช่วยเหลือสังคมด้วย รายการหรือละคร ที่มีความรุนแรง ควรออกอากาศหลัง 4 ทุ่ม และควรทำละครน้ำเน่าที่มีคุณค่า ด้วยการบอกว่าสิ่งใดถูกสิ่งใด ทันทีเมื่อจบละครในตอนนั้นๆ ไม่ใช่รอจนอวสาน แล้วมาบอกว่าสุดท้ายคนไม่ดีต้องรับโทษ เพราะเด็กเลียนแบบความไม่ดีนั้นไปจนหมดแล้ว” นพ.สุริยเดว กล่าว

น.ส.ลัดดา ตั้งสุภาชัย ผอ.ศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่าประกาศการจัดระดับความเหมาะสมของรายการโทรทัศน์ (เรตติ้ง) กำหนดให้ 16.00-20.30 น.เป็นรายการ ป.สำหรับเด็กปฐมวัย และ ด.สำหรับเด็ก 6-12 ปี ส่วน น.13 ออกได้ช่วง 20.30 น.เป็นต้นไป น.18 ออกได้หลัง 21.00 น.แต่เมื่อ พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 บังคับใช้วันที่ 5 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยให้ยกเลิก พ.ร.บ.วิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ พ.ศ.2498 กรมประชาสัมพันธ์จึงทำหนังสือสอบถามไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาว่า ประกาศฉบับดังกล่าว รวมถึงประกาศอื่นๆ ของกรมประชาสัมพันธ์ ที่เกี่ยวกับทีวี การโฆษณา การจัดเรตติ้ง มีผลบังคับใช้อยู่หรือไม่

“ช่วงนี้เป็นเหมือนช่วงสุญญากาศ แต่อยากขอให้สถานีปฏิบัติตามประกาศ เพราะประกาศฉบับนี้เกิดจากการประชุมร่วมกับผู้ผลิต ผู้แทนสถานี ผ่านการพิจารณาหลายครั้ง สังคมยังไม่เข้มแข็ง เยาวชนยังขาดภูมิคุ้มกัน ต้องมีกติการ่วมกัน จริงอยู่ทีวีไม่ใช่สื่อเดียว ที่ทำให้เด็กมีปัญหา แต่ถ้าเราไม่คิดสร้างสังคมที่ดีร่วมกัน ไม่มีใครอยากทำอะไร อนาคตของชาติจะมีแต่แย่ลง” น.ส.ลัดดา กล่าว

นางอัญญาอร พานิชพึ่งรัถ เครือข่ายครอบครัวเฝ้าระวังและสร้างสรรค์สื่อ กล่าวว่า เครือข่ายฯ ติดตามการจัดเรตติ้งของโทรทัศน์ พบ ช่อง 3 และ ช่อง 7 ไม่ปฏิบัติตามประกาศออกอากาศละคร น.18 คือ ก่อน 21.00 น.อาทิ สวรรค์เบี่ยง พริกไทยกับใบข้าว นางทาส ที่น่าห่วง คือ เนื้อหาละครแต่ละเรื่อง รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ พระเอกข่มขืนนางเอกได้ไม่ผิด มีฉากตบตีรุนแรงในละครแทบทุกเรื่อง บางคนอาจว่าไม่ใช่ปัญหา แต่เคยสังเกตบุตรหลานของตนเองหรือไม่ ว่า พวกเขามีพฤติกรรมอย่างไร จริงอยู่พ่อ แม่ ต้องดูแลลูก แต่สังคมจะไม่มีส่วนร่วมรับผิดชอบเลยหรือ ละครสมัยก่อน แค่พระ-นาง โน้มศีรษะเข้าหากัน ก็ตัดภาพไปที่อื่น สมัยนี้ต้องพยายามให้เล่นจริง จูบจริง
กำลังโหลดความคิดเห็น