xs
xsm
sm
md
lg

ฟื้นชีวิต “จ๊าดไต” ต่อลมหายใจศิลปินไทใหญ่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การแสดงรำนก
ต่อหน้าผู้ชมเรือนร้อย เด็กน้อยกำลังฟ้อนระบำบนเวที มุมซ้าย คือ กลุ่มผู้เฒ่าเล่น สี ตี เป่าเครื่องดนตรีพื้นบ้าน กำหนดจังหวะก้าวย่าง แสงสียามค่ำคืนบวกกับเครื่องสำอางที่แต่งแต้มขับให้เด็กน้อยเป็นสาวเกินวัย การแสดง 9 ชุด ครบองก์ผ่านไป ทุกคนโค้งคำนับผู้ชม และเดินเข้าฉากไป และแสงไฟก็ดับลง หลังเวที หลบจากแสงสีและไมโครโฟน คำสนทนาภาษาที่ฟังไม่คุ้นหูดังเซ็งแซ่ ยากเกินกว่าจะจับใจความว่าใครพูดอันใดกันบ้าง

 
  • ลิเก+ระบำไทใหญ่จริงหรือ?

    ทั้งหมดทั้งมวล อาจจะมีคำถามว่า แท้จริงแล้วศิลปะการแสดงของชาวไทใหญ่ที่เรียกว่า “จ๊าดไต” นั้นคืออะไร เพราะบ้างก็เล่ากันมาว่า คือ ลิเกไทใหญ่ ซึ่งสร้างความสับสนของผู้นิยมเสพมหรสพอยู่ไม่น้อย
    อานันท์ นาคคง
    “อานันท์ นาคคง” ศิลปินผู้สร้างสรรค์เพลงประกอบภาพยนตร์ โหมโรง จึงให้ความกระจ่างเรื่องนี้ว่า แท้จริงแล้วการแสดงของชาวไทใหญ่หาใช่ลิเก เพราะการละเล่นจ๊าดไต ถือเป็นเสน่ห์ทางวัฒนธรรมที่สำคัญของชาวไต (ไทใหญ่) เป็นมหรสพที่ครบเครื่องที่สุด เพราะสามารถสอดแทรกการร้อง รำ ทำเพลง สนทนา เครื่องแต่งกาย เวที ฉาก เนื้อหาวรรณคดีรวมเป็นหนึ่งเดียว โดยสืบทอดมาจากรูปแบบดั้งเดิมของชาวไตในรัฐฉาน แล้วนำมาปรับปรุงให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมในแม่ฮ่องสอน

    “จุดเด่นของจ๊าดไต คือ มีการคละเคล้าสัดส่วนของการแสดง เช่น การขับร้องเดี่ยว ร้องคู่เกี้ยวพาราสี เนื้อหาส่วนใหญ่เป็นเรื่องของความรัก คำสั่งสอนของผู้ใหญ่ โดยใช้ภาษาไทใหญ่โบราณ ฉะนั้นการขับร้องจึงถือว่ายากมาก การแสดงดนตรีสด เมื่อการแสดงหนึ่งชุดจบลงก็จะมีโฆษกออกมาพูดแนะนำหรือสอดแทรกแง่คิด โดยบทพูดบทร้องทั้งหมดจะเป็นภาษาไตโบราณ ซึ่งจะแตกต่างจากภาษาที่สื่อสารกันประจำวัน ทำให้คนที่ศึกษาหรือสืบทอดต้องร่ำเรียนภาษานี้ใหม่ทั้งหมด” อานันท์ ให้ข้อมูล
    วิทยา สุริยะ
    สำหรับเครื่องดนตรีในการละเล่นประกอบด้วยเครื่องดีด ตี เครื่องสี (ฮอร์นไวโอลิน) เครื่องเป่า ซึ่งเครื่องดนตรีบางชนิดได้รับอิทธิพลมาจากยุคที่อังกฤษเป็นเจ้าอาณานิคมของพม่า ภายหลังชาวไตเป็นกลุ่มชนรัฐฉาน การดนตรีนี้จึงถูกนำมาบรรเลงจวบจนปัจจุบัน

    ก่อนการแสดงจะเริ่ม พ่อเฒ่าประจำคณะจะทำพิธีกรรมสำคัญเรียกว่า “ไหว้ครู” เป็นการเซ่นสรวงบูชาวิญญาณพระสุรัสวดีให้คุ้มครองนักแสดงและผู้ชม มีเครื่องบูชาที่ชาวไตเรียกว่า “เผิน” ซึ่งมีเครื่องเซ่นด้วย กล้วย มะพร้าว พลู บุหรี่ เมี่ยง ผ้าขาว ผ้าแดง เทียน ธูป และเทียนซึ่งต้องจุดให้สว่างตลอดจนกว่าการแสดงจะสิ้นสุด
    พ่อเฒ่าอ่องซาน องอาจศักดิ์ศรี กับฮอร์นไวโอลินคู่กาย
  • ต่อลมหายใจให้ “จ๊าดไต”

    “เรากลัวจะสูญเสียวัฒนธรรมของเรา กลัวว่าเด็กจะเข้าไปยุ่งกับยาเสพติด จ๊าดไตคือสิ่งที่เราดึงพวกเขาออกมาจากอบายมุข และเอาวัฒนธรรมของเราคืนมา”

    พ่อเฒ่าอ่องซาน องอาจศักดิ์ศรี หัวหน้าคณะรวมพลังพัฒนา แห่งหมู่บ้านแม่ละนา เล่าด้วยภาษาไทใหญ่ถึงการรวมตัวกันของศิลปินไทใหญ่ให้ได้ ก่อนที่ลมหายใจของจ๊าดไตจะสิ้น เพราะเมื่อปี 2543 หมู่บ้านติดเขตชายแดนอย่างแม่ละนาขณะนั้นประสบปัญหายาบ้าระบาด ประจวบกับมีเด็กรุ่นใหม่จะเล่นจ๊าดไตนั้นแทบไม่มี แต่เมื่อรวมกลุ่มกันแล้วเชิญชวน และพร้อมถ่ายทอด กลับได้รับผลตอบกลับในทางที่ดี เด็กเล็กให้การสนใจศิลปะการแสดงนี้มากกว่าที่คาด ทว่าคนที่เอาจริงเอาจังมีเพียงไม่กี่คน

    “เพราะเราเล่นในบ้าน เล่นจีบสาว แต่ไม่เคยตั้งวงใหญ่ บ้านหนึ่งจะมีเครื่องดนตรีไม่เหมือนกัน บางคนถนัดร้อง บางคนถนัดรำ และบางคนเล่นดนตรีได้ที่สุดเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แล้วที่ผ่านมาเด็กหนุ่มสาวสนใจจะเล่นจริงจังเพื่อสืบสานมีไม่กี่คน จึงจำเป็นที่จะต้องฝึกตั้งแต่เด็กแต่น้อย ป.3 ต้องเริ่มฝึก เพราะกว่าจะร้องเป็น เล่นได้ ต้องใช้เวลานาน”
    รำโต(กวาง) ลักษณะเหมือนเชิดสิงโตของคนไทยเชื้อสายจีน
    พ่อเฒ่าอ่องซาน เล่าต่อไปถึงจุดมุ่งหมาย 4 ข้อหรือสิ่งที่อยากให้เด็กไตบรรลุเมื่ออายุไขของผู้เฒ่าสิ้นสุดลงคือ ห่างจากยาเสพติด ร่ำเรียนหนังสือ นับถือพ่อแม่ อาจารย์ และเต้นรำตามฉบับท้องถิ่นของไทใหญ่ให้คงอยู่เช่นนี้ต่อไป

  • ทางตันศิลปินไต

    ระยะทางกว่า 924 กิโลเมตรจากกรุงเทพฯ สู่เมืองเหนือแดนสามหมอกแม่ฮ่องสอนไม่ใช่เรื่องยากเย็นนักสำหรับนักท่องเที่ยวที่ถือพาสปอร์ต หรือคนมีบัตรที่แสดงตนได้ว่าเป็น “คนไทย” ขอเพียงมีกำลังกายและเงินถึงก็เดินทางได้สบาย

    หากแต่ศิลปินพื้นบ้านกลุ่มหนึ่งที่ลมหายใจเข้าออกมีความเป็นไทยเต็มเปี่ยม การเดินทางสู่เมืองหลวงเพื่อแสดงดนตรีพื้นบ้านนั้นเป็นเรื่องยิ่งใหญ่และยากยิ่ง เพราะพวกเขาไม่มีบัตรประชาชน และถูกมองเป็นคนไร้สัญชาติ ทั้งที่แผ่นดินแม่ก็ผืนเดียวกันคือเมืองไทย ...ศิลปินไทใหญ่ ที่มุ่งหวังจะแสดง “จ๊าดไต”

    ผู้เฒ่าแห่งแม่ละนา บอกว่า คนที่เล่นดนตรีได้ระดับดีมาก ร้องเพลงสะกดคนฟัง และรำได้สวยที่สุดนั้นเดินทางออกมาไกลจากหมู่บ้านที่สุดเพียงแค่ตัวอำเภอ เพราะปัญหาสัญชาติไทยที่สกัดกั้นทางศิลปิน ดังนั้นทั้งเสียงร้อง เสียงดนตรี และระบำที่ผ่านมาถือว่ายังไม่สมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ เหมือนปริศนาที่ซ่อนไว้ให้นักท่องเที่ยวไปหาว่าการแสดงที่สมบูรณ์และดีเยี่ยมนั้นเป็นอย่างไร หาคำตอบได้ที่ แม่ฮ่องสอน
    การรำเกี้ยวพาราสีระหว่างชายหญิง
    ไม่เพียงแต่สัญชาติจะเป็นหนึ่งอุปสรรคสำคัญสำหรับศิลปินไตแล้ว เครื่องดนตรีที่นับวันจะทรุดโทรมและหาคนทำได้น้อยลงเต็มที ทุนทรัพย์การซ่อมบำรุงทั้งชุดการแสดงและเครื่องประกอบการแสดงก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้ศิลปินไตมีข้อจำกัดสำหรับการแสดงที่ครบสมบูรณ์อย่างที่พ่อเฒ่าบอกกล่าว

    วิทยา สุริยะ อาจารย์ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย อ.ปางมะผ้า แม่ฮ่องสอน คือ บุคคลที่เข้ามาช่วยเหลือและส่งเสริมให้ศิลปะจ๊าดไตให้เป็นที่รู้จักแก่คนทั่วไป บอกว่า ศูนย์ศึกษานอกระบบเข้ามาให้ความรู้แก่ชาวไตเดิม อีกทั้งยังส่งเสริมอาชีพ แต่เนื่องจากในหมู่บ้านแม่ละนามีการละเล่นดั้งเดิมอยู่แล้ว ขาดแต่การส่งเสริมอย่างจริงจังทำให้ต่างคนต่างอยู่

    “ศูนย์การศึกษาเข้ามาช่วยให้ความรู้กับผู้เฒ่าเรื่องการทำไร่ทำสวนหลายปีมาแล้ว และเมื่อเราสังเกตเห็นว่ามีการละเล่นที่น่าสนใจ และเมื่อเริ่มรวมกลุ่มและเข้มแข็งขึ้นจึงคิดว่าน่าจะทำการแสดงเพื่อเป็นรายได้และสืบทอดไปในคราวเดียว” วิทยา กล่าว

    ไฟด้านผู้ชมสว่างขึ้น เพื่อให้เห็นทางออกสะดวก เสียงอื้ออึงของหลายคนถามหาความเป็นมืออาชีพจากศิลปินจ๊าดไต แต่คำถามสะท้อนกลับจากบรรดาศิลปินคือ นิยามของมืออาชีพสำหรับศิลปินพื้นบ้านคืออะไร หากเป็นเครื่องดนตรีที่ทันสมัย ท่ารำที่อ่อนช้อยอย่างพร้อมเพรียงถูกดัดแปลงให้เข้ากับการเต้นสมัยใหม่ หรือความสามารถในการบรรเลงควบคู่กับเครื่องดนตรีสากล นั่นแสดงว่าพวกเขาคงมิใช่ แต่หากมืออาชีพคือ ผู้บรรเลงท่วงทำนองตามคำร้อง ล่องลอยด้วยหัวใจที่เปี่ยมสุขทุกขณะ...ศิลปินพื้นบ้านจ๊าดไตเรียกได้ว่ามืออาชีพขั้นเทพทีเดียว

    ผู้สนใจการแสดงจ๊าดไตสามารถชมการแสดงที่ครบองก์ได้ในช่วงเข้า/ออกพรรษา ติดต่อได้ที่ อ.วิทยา สุริยะ กศน.อ.ปางมะผ้า 08-4378-1660


  • กำลังโหลดความคิดเห็น