xs
xsm
sm
md
lg

โพลชี้ปิดเทอมโจ๋ 70% ติดเกมหนึบ! พบขู่-ไถ่-คุกคามทางเพศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สสส.เปิดผลโพล ปิดเทอมโจ๋เด็กฮิตเล่นเกมร้านเน็ตเป็นประจำเกือบ 70% อีก 40% บอกใช้เวลาเล่นเกมระหว่างเปิดเทอมกับปิดเทอมไม่แตกต่างกัน ที่แย่ที่สุดพบพฤติกรรมเสี่ยงข่มขู่ รีดไถ คุกคามทางเพศ ชกต่อยอื้อเหยียบแสนคน ด้านผู้ประกอบการร้านเกมแฉปัญหาส่วยส่งผลมาตรการคุมเข้มทางกฎหมายบกพร่อง แพทย์แนะสร้างกิจกรรมหันเหความสนใจของเด็ก ขณะที่เครือข่ายครอบครัวเตรียมบุก 4 หน่วยงาน เร่งจัดระเบียบร้านเกม

เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 24 เม.ย. ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในงานแถลงข่าว “พฤติกรรมเสี่ยงเด็กไทยในร้านอินเทอร์เน็ต” โดย ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ รองผู้จัดการ สสส.กล่าวถึงสถานการณ์เด็กไทยในร้านอินเทอร์เน็ตว่า สสส.ได้ร่วมกับศูนย์เครือข่ายวิชาการเพื่อสังเกตการณ์และวิจัยความสุขชุมชน มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ทำการศึกษาเรื่อง “ปัญหาคุกคามเด็กและวัยรุ่นในร้านอินเทอร์เนตคาเฟ่:กรณีศึกษาเด็กและวัยรุ่นอายุ 7-19 ปีในกรุงเทพมหานครและจังหวัดปริมณฑล” จำนวน 2,276 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 22-23 เมษายน ที่ผ่านมา พบว่า เด็กและวัยรุ่นส่วนใหญ่ ร้อยละ 67.8 เล่นอินเทอร์เน็ตเป็นประจำทุกสัปดาห์ โดยร้อยละ 40 ระบุว่าการเล่นอินเทอร์เน็ตไม่แตกต่างกันทั้งในช่วงปิดเทอมหรือเปิดเทอม ซึ่งปัจจัยที่ทำให้เด็กใช้บริการร้านอินเทอร์เน็ต มากที่สุดคือ อยู่ใกล้บ้าน ใช้เวลาเดินทางไม่นาน มีเกมที่หลากหลาย และราคาไม่แพง ซึ่งใช้ระยะเวลาเดินทางมาร้านอินเทอร์เน็ตส่วนใหญ่ไม่เกิน 5 นาที โดยมีจุดประสงค์ในการใช้งาน คือ เล่มเกมร้อยละ 72.8 คุย/แชตร้อยละ 39.1 และหาข้อมูลร้อยละ 32.2 โดยเด็กกลุ่มที่ใช้มากที่สุดคือเด็กมัธยมต้น

ทพ.กฤษดา กล่าวว่า สำหรับพฤติกรรมของเด็กในร้านอินเทอร์เน็ตพบว่า ที่น่าเป็นห่วงคือ ผลการประมาณการทางสถิติจำนวนเด็กและวัยรุ่นที่เคยประสบปัญหาในร้านอินเตอร์เนตคาเฟ่ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา พบว่า มีเด็กและวัยรุ่นเคยถูกข่มขู่รีดไถ จำนวน 60,560 คน เคยถูกทำร้ายร่างกาย ตบตีชกต่อย จำนวน 57,606 คน เป็นหนี้ร้านอินเทอร์เน็ต เฉลี่ย 76.88 บาท จำนวน 53,175 คน ถูกลวนลามทางเพศ จำนวน 31,018 คน และถูกบังคับเช่น สูบบุหรี่ บังคับให้ซื้อของ ให้เปลี่ยนที่นั่ง จำนวน 44,312 คน ซึ่งเด็กและวัยรุ่นที่ใช้บริการในร้านที่มีความเสี่ยงมีโอกาสถูกข่มขู่รีดไถ ถูกลวนลามทางเพศมากกว่าร้านที่ไม่มีความเสี่ยงถึง 3 เท่าขึ้นไป

ทพ.กฤษดา กล่าวว่า เด็กส่วนใหญ่ ถึงร้อยละ 81.3 เคยพบเห็นคนเล่นเกมต่อสู้ที่ร้านอินเทอร์เน็ตและอายุน้อยที่สุดที่เคยพบเห็น คือ 3 ขวบที่เล่นเกมต่อสู้ ขณะที่ร้อยละ 18.5 เคยพบเห็นคนเล่นเกมที่มีภาพโป๊เปลือย และอายุคนเล่นที่น้อยที่สุดที่เคยพบเห็นคือ 5 ขวบเท่านั้น ส่วนข้อเสนอแนะจากเด็กและวัยรุ่นต่อร้านอินเทอร์เน็ต คืออยากให้มีโปรแกรมเพื่อการศึกษา ร้อยละ 52.3 ตามด้วยอยากให้มีเกมสร้างสรรค์จินตนาการเพื่อสังคมและชุมชนร้อยละ 50.9 และความสะอาด ถูกสุขอนามัย ร้อยละ 44.8

“ระยะเวลาในการใช้อินเทอร์เน็ตจากที่เคยมีการสำรวจไว้ กับการสำรวจครั้งล่าสุด พบว่ามีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น โดยใช้เวลาในการเล่นเฉลี่ยประมาณ 2 ชั่วโมง 42 นาที โดยพบว่าสาเหตุที่เด็กอยากเล่นเกมที่ร้าน คือ ความใกล้บ้าน เกมที่หลากหลาย ราคาไม่แพง ความสะอาด เล่นได้นานเท่าใดก็ได้ ไม่มีกฎระเบียบ ส่วนสาเหตุที่ไม่อยากเล่นเกมส์ที่ร้านคือ คนเยอะเกินไป เสียงดังเกินไป ไม่เป็นส่วนตัว มีการมั่วสุม มีอบายมุขต่างๆ ร้านไม่สะอาดคับแคบ ราคาแพง

นพ.บัณฑิต ศรไพศาล สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กล่าวว่า สาเหตุที่เด็กหันมาเข้าร้านเกมจำนวนมาก เพราะแสวงหาความภาคภูมิใจในตัวเอง ต้องการเอาชนะ และเป็นที่ยอมรับ เพราะเมื่อเล่นเกมส์ชนะก็จะได้รับคะแนน เสียงปรบมือ เนื่องจากเขาไม่ได้สิ่งเหล่านี้จากโลกภายนอก ทุกฝ่ายต้องร่วมกันแก้ไข คือ 1.พ่อแม่ ต้องสร้างวินัยและความรับผิดชอบแก่ลูก 2.โรงเรียน ต้องสร้างพื้นที่ดึงดูดผ่านกีฬา ดนตรี และศิลปะ เพื่อให้เกิดความภาคภูมิใจของเด็ก 3.ร้านอินเทอร์เน็ต ต้องรับผิดชอบต่อสังคม หากผู้ปกครองมั่นใจในร้านอินเทอร์เน็ตก็จะอยู่ได้ในระยะยาว 4.ผู้ให้บริการทางอินเทอร์เน็ต เช่น เว็บไซด์และเกม ไม่ควรนำรูปโป๊เปลือยหรือความรุนแรง 5.เจ้าหน้าที่ ต้องตรวจจับอย่างกวดขัน ไม่เข้าข้างธุรกิจ และ 6.เด็ก ต้องรู้จักเรียนรู้ในการอยู่รอดในสิ่งแวดล้อมที่ยั่วยุ ฝึกวินัย และการควบคุมตัวเอง

“สิ่งที่ขาดมากที่สุด คือ กิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ พื้นที่กิจกรรม ซึ่งที่มีอยู่ก็มีราคาแพง ทำให้พ่อ แม่ ไม่สามารถพาลูกไปทำกิจกรรมเหล่านั้นได้ โรงเรียนต้องเป็นส่วนช่วยสร้างกิจกรรมเหล่านี้ เมื่อเด็กมีโอกาสทำกิจกรรมที่ตัวเองสนใจ ก็จะลดการเล่นเกมส์ลงเอง และจำนวนร้านที่มีปริมาณมากก็เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมของเด็ก หลายๆ ฝ่ายจึงต้องช่วยกัน”นพ.บัณฑิต กล่าว

นายพงศ์ธร ชนะจิต เลขาธิการกลุ่มเครือข่ายร้านอินเทอร์เน็ตไทย กล่าวว่า สถานการณ์ร้านอินเทอร์เน็ตค่อนข้างมีปัญหา โดยพฤติกรรมเบี่ยงเบนในการประกอบธุรกิจเกิดจากความเดือดร้อนจากต้นทุนการประกอบธุรกิจ การคุมเวลาที่ไม่เท่ากันในแต่ละพื้นที่ เช่น ใน กทม.เปิดได้ 24 ชั่วโมง ขณะที่จังหวัดใกล้เคียงถูกควบคุมเวลาเปิดปิด ทำให้แอบลักลอบปิดร้านเกินกำหนดเวลา ยอมเสี่ยงรับเด็กหนีเรียนอายุต่ำกว่า 18 ปีใช้บริการก่อน 14.00 น. และหลัง 22.00 น. และบางครั้งร้านที่ทำไม่ถูกกฎหมายก็เกิดจากเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการส่งส่วย เพื่อขยายเวลาให้บริการ และผ่อนปรนให้มีเด็กต่ำกว่า 18 ปีอยู่หลัง 22.00 น. ซึ่งร้านอินเทอร์เน็ตที่ดียังมีอยู่ แต่ร้านที่ไม่ดีและทำผิดกฎหมายยังคงแสวงหาผลประโยชน์จากเด็กจนเกินขอบเขตโดยไม่ถูกจับกุม จึงอยากเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินมาตรการแก้ไข โดยไม่ควรกำหนดเวลาเปิด-ปิด เพื่อให้เกิดความเท่าเทียม แต่ควบคุมเวลาของเด็กและเยาวชนในการใช้บริการอย่างเคร่งครัดตามกฎหมาย

นายอิทธิพล ปรีติประสงค์ อาจารย์ประจำสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า จากการสำรวจของสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า ขณะนี้มีร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ที่จดทะเบียนทั่วประเทศไทยทั้งสิ้น 23,990 แห่ง โดยเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปีเป็นกลุ่มที่ใช้บริการร้านอินเทอร์เน็ตมากที่สุด นอกจากนี้ยังพบการละเมิดกฎหมายตาม พ.ร.บ.ควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ. 2530 และระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยแนวทางการปฏิบัติในการกำหนดเงื่อนไขในการออกใบอนุญาตของนายทะเบียนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ในการควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2549 คือ ประกอบกิจการนอกเหนือเวลาเปิด-ปิด มีเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ใช้บริการก่อนเวลา 14.00 น. และหลัง 22.00 น. ติดฟิล์มทึบ ไม่มีกล้องวงจรปิด มีการจำหน่ายบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ขณะที่มาตรการควบคุมกลับไม่ควบคุมผู้ประกอบการที่ฝ่าฝืนกฎหมาย และกฎหมายยังขาดความเป็นเอกภาพ ทำให้เกิดความเลื่อมล้ำเวลาปิดเปิด

นายชาญไชย วิกรวงศ์วานิช เครือข่ายครอบครัว กล่าวว่า กลุ่มครอบครัวจะทำการรณรงค์ให้ความรู้กับผู้ปกครองเพื่อรู้เท่าทันต่อโลกเทคโนโลยี พร้อมกับสร้างเกราะคุ้มกันในครอบครัว ด้วยการดูแลเอาใจใส่เด็ก แต่คงทำได้เพียงบางส่วน
 
ดังนั้น ในวันที่ 25 เมษายนนี้ ทางกลุ่มเครือข่ายครอบครัวจะเดินทางไปยื่นหนังสือกับ 4 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ กระทรวงมหาดไทย กรุงเทพมหานคร กระทรวงวัฒนธรรม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้ดำเนินมาตรการทางกฎหมายอย่างเข้มงวดกับร้านที่ทำผิดระเบียบของกระทรวงมหาดไทย เช่น ติดฟิล์มทึบ มีเด็กต่ำกว่า 18 ปี อยู่ในร้านก่อน 14.00 น. และหลัง 22.00 น. มียาเสพติดและเครื่องดื่มมึนเมาจำหน่ายในร้าน และดึงร้านอินเทอร์เน็ตเถื่อนที่ยังไม่จดทะเบียนให้เข้าสู่ระบบ รวมถึงการตรวจสอบร้านที่จดทะเบียนและยังไม่จดทะเบียนให้ทำถูกต้องตามกฎหมาย

กำลังโหลดความคิดเห็น