xs
xsm
sm
md
lg

ชง ครม.รื้อ กม.คุ้มครองผู้ป่วยใหม่ เผยเน้นเยียวยา-ไม่มุ่งฟ้องร้องหาคนผิด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คณะกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติ มีมติเสนอ ครม.ปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข เพิ่มอนุกรรมการไกล่เกลี่ย เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในระบบบริการสาธารณสุขเข้าเป็นขั้นตอนหนึ่งในการพิจารณาชดเชยจากกองทุนคุ้มครองผู้เสียหาย

นพ.พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า กรอบแนวคิดเดิมของร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข มุ่งเน้นเรื่องการชดเชยในรูปของเงินและการส่งเสริมความปลอดภัยของผู้ป่วยเป็นหลัก ในขณะที่ข้อเสนอใหม่ได้เพิ่มเติม กลไกการสร้างความสัมพันธ์ที่ดี และกลไกไกล่เกลี่ย เพื่อเปิดให้ผู้ได้รับความเสียหายได้ร่วมแสดงความเห็น ความรู้สึกผ่านคนกลาง และแสดงเจตจำนงในสิ่งที่ต้องการได้รับการดูแล เป็นการเยียวยาความรู้สึกของทุกฝ่าย และรักษาสัมพันธภาพของผู้ป่วยและแพทย์ หากการไกล่เกลี่ยสามารถนำไปสู่การประนีประนอมยอมความเป็นที่พอใจได้ของทุกฝ่ายจะลดปัญหาการฟ้องร้อง และการเยียวยาดูแลผู้ป่วยจะทำได้อย่างรวดเร็ว

“กรอบแนวคิดของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้จะไม่พิจารณาการพิสูจณ์ถูกผิด เป็นกฏหมายที่ไม่มุ่งหาว่าใครผิด แต่ต้องการเยียวยาดูแลผู้รับบริการให้ได้รับการดูแลอย่างรวดเร็ว แม้ว่าข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นจะเป็นเหตุสุดวิสัยหรือหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในร่างใหม่การเพิ่มกระบวนไกล่เกลี่ย การดูแลเยียวยาจะแล้วเสร็จภายใน 6-7 เดือน เทียบกับระบบการฟ้องร้องทางแพ่งแบบเก่าที่ใช้เวลาเฉลี่ย 5-6 ปี และทุกฝ่ายก็ไม่มีความสุข”นพ.พงษ์พิสุทธิ์ กล่าว

นพ.พงษ์พิสุทธิ์ กล่าวอีกว่า คณะอนุกรรมการไกล่เกลี่ยฯที่เสนอเพิ่มเติมใน พ.ร.บ.จะมีจำนวน 5-7 คน โดยมีองค์ประกอบเป็นคนกลาง และเป็นที่ยอมรับในทักษะประสบการณ์การไกล่เกลี่ยด้านบริการสาธารณสุขและทำงานประสานกับคณะอนุกรรมการประเมินค่าชดเชยความเสียหาย เพื่อให้ได้ข้อยุติต่อไป นอกจากนี้ ยังเสนอเปลี่ยนชื่อกองทุนฯ เป็นกองทุนคุ้มครองผู้เสียหายและสร้างเสริมความสัมพันธ์ที่ดีในระบบบริการสาธารณสุข จากเดิมคือ กองทุนคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข

“ข้อเสนอเพื่อปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.ของคณะกรรมการจะนำเสนอต่อ คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) เพื่อเสนอต่อ คณะรัฐมนตรีต่อไป อีกทางหนึ่งเป็นการเสนอโดยตรงต่อสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อพิจารณาไปพร้อมกับร่าง พ.ร.บ.ฉบับเดิม ทั้งนี้ นอกจากการมีกฎหมายเพื่อการเยียวยาแล้ว คณะกรรมการฯเห็นว่าสิ่งที่ควรให้ความสำคัญคือการสนับสนุนให้มีการดูแลผู้ป่วยทั้งกายและใจตั้งแต่เริ่มต้น รวมถึงการดูแลให้มีจำนวนบุคลาการทางการแพทย์อย่างเพียงพอและมีความมั่นใจในการให้บริการ” นพ.พงษ์พิสุทธิ์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น