xs
xsm
sm
md
lg

Arts Therapy จับพู่กัน - ปั้นดิน ฟื้นฟู “เด็กพิเศษ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ความตั้งใจของเด็กในการลงสีภาพ
สองมือจับพู่กันประสานกับสายตาที่จับจ้องไปยังแผ่นเฟรมวาดภาพอย่างตั้งใจ สีแล้วสีเล่าที่ถูกละเลงซ้ำไปซ้ำมาบนกระดาษขาว ด้วยความมุ่งมั่นที่จะรังสรรค์งานศิลปะให้ออกมาเหนือคำบรรยายจนปลายพู่กันคู่ใจถึงกับพับงอ นี่เองคือหนึ่งความพยายามของเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา ที่ต้องการสร้างงานศิลปะขึ้นตามความคิดและจินตนาการ ซึ่งเป็นการเสริมสร้างพัฒนาการในรูปแบบของศิลปกรรมบำบัด ที่ทาง สถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต ใช้เป็นหนึ่งในกระบวนการรักษาและบำบัดผู้ที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา หรือกลุ่มเด็กออทิสติก

** “เด็ก” กับ “ศิลปะ” ของที่คู่กัน
พญ.พรรณพิมล หล่อตระกูล ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล ได้ให้คำอธิบายว่า สถาบันราชานุกูล เดิมเป็นโรงพยาบาลปัญญาอ่อนที่มีขึ้นเป็นแห่งแรกของไทย โดยให้การดูแล รักษา บำบัด ฟื้นฟูเด็กพิเศษที่มีความบกพร่องด้านสติปัญญา กลุ่มเด็กออทิสติก จนกระทั่งเด็กที่มีปัญหาด้านต่างๆ ซึ่งที่นี่ให้การบำบัดทั้งทางการแพทย์ และอีกส่วนหนึ่งคือการใช้ศิลปะเข้ามาเป็นตัวช่วย เนื่องจากศิลปะกับพัฒนาการของเด็กนั้นเป็นของคู่กัน เด็กทุกคนชอบขีดเขียน ระบายสี และเป็นหนทางหนึ่งในการปลดปล่อยจินตนาการ

สำหรับศิลปกรรมบำบัด (Arts Therapy) นั้น เป็นศาสตร์ด้านเวชบำบัดโรคจิตบางชนิด ที่มีการนำศิลปะในด้านต่างๆ มาปรับใช้กับกลุ่มผู้มีปัญหา ซึ่งสามารถช่วยในการเสริมพัฒนาการของเด็กในทุกด้าน เด็กที่มีสภาพอารมณ์แปรปรวนนั้น งานศิลปะจะเป็นตัวช่วยในการระบายอารมณ์ออกไป และเมื่ออารมณ์มีการผ่อนคลาย เด็กมีความสุขเขาจะเริ่มมีสมาธิมากขึ้น จากนั้นครูผู้สอนก็จะเริ่มเข้ามาสอนทำให้ตัวงานมีรูปแบบ และตัวงานนี้เองจะเป็นตัวที่คอยแสดงถึงความคิด จินตนาการที่ออกมาจากข้างใน โดยที่เด็กจะสามารถถ่ายทอดความรู้สึกทุกสิ่งที่เขาได้เห็น ได้สัมผัส ความรู้สึกต่างๆ จะออกมาในรูปแบบของงานศิลปะได้ ขณะเดียวกันการทำงานศิลปะจะใช้การเคลื่อนไหว ใช้ประสาทสัมผัสต่างๆ ของร่างกายได้ครบถ้วน ซึ่งจะเป็นตัวช่วยในการสร้างพัฒนาการของเด็กได้ทางหนึ่ง

“เด็กบางคนมีปัญหาการเคลื่อนไหวของมือ เนื่องจากเป็นภาวะร่วมกันทางสติปัญญา แต่เมื่อได้ทำงานศิลปะมือของเขาสามารถปั้น ระบายสี วาดภาพต่างๆ ได้อย่างอิสระ ทำให้เขามีความสุข ซึ่งส่วนนี้จะช่วยฟื้นฟูร่างกายและจิตใจ กระตุ้นสมอง เสริมพัฒนาการ ให้เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น ถึงแม้เขาจะมีข้อจำกัดในด้านสติปัญญา แต่ในจำนวนนี้เองจะมีส่วนหนึ่งที่มีความสามารถในด้านของศิลปะ แต่ไม่มีใครมองเห็น ไม่มีใครคิดว่าเด็กประเภทนี้จะทำได้”
 
“จริงๆ แล้วศักยภาพเหล่านี้หาได้ไม่ยากจากพวกเขา เราจะดูแลเรื่องพฤติกรรม เรื่องอารมณ์ มารวมกัน เมื่อเขามีความพร้อมครูศิลปะก็เข้ามาเติมเต็มศักยภาพให้กับเขา เพราะด้านนี้หมอจะให้การรักษาไม่ได้ เมื่อผลงานออกมาเขาก็จะมีความภาคภูมิใจ และผลงานนี้เองจะเป็นสิ่งที่ใช้สื่อสารกับสังคมว่า พวกเขาสามารถอยู่ร่วมกับสังคมได้ งานศิลปะจะเป็นส่วนช่วยทำให้เขามีความโดดเด่น ช่วยสร้างความมั่นใจ ทำให้เกิดการยอมรับทางสังคม ซึ่งหากเราไม่มีการตระหนักตรงนี้ก็จะไม่เป็นการสร้างโอกาสให้กับพวกเขา” พญ.พรรณพิมล ให้ภาพ

เมื่อถามถึงพัฒนาการของเด็กที่เกิดขึ้นภายหลังจากการใช้ศิลปะเข้ามาบำบัดนั้น ผอ.สถาบันฯ ให้คำตอบว่า ประโยชน์ที่เด็กได้รับนั้นโดยภาพรวมสามารถแบ่งได้เป็น 3 ด้าน คือ 1.ด้านการเคลื่อนไหว เด็กจะมีการเคลื่อนไหวมากขึ้น ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นให้มีความกระตือรือร้นในการทำงาน 2.ด้านสมาธิ เมื่อเกิดสมาธิขึ้น การเรียนรู้ในเรื่องต่างๆ ก็จะทำได้โดยง่าย และ 3.ด้านอารมณ์ เพราะเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา จะมีภาวะหนึ่งที่ทำให้มีอารมณ์ที่แปรปรวน อารมณ์รุนแรง โดยที่ไม่มีใครเอาอยู่ ทำให้คนที่อยู่ร่วมด้วยในสังคมมีความรู้สึกกลัว เมื่อใช้งานศิลปะเข้ามาพวกเขาจะมีพื้นที่ในการระบายอารมณ์ นำอารมณ์มาสร้างสรรค์เป็นผลงานได้ อีกทั้งกิจกรรมเช่นนี้สามารถทำได้ที่บ้าน เพื่อเป็นการช่วยลดอารมณ์เครียดของเด็กลง

** บำบัด ฟื้นฟู กับ 5 กิจกรรมศิลป์
ทางฝั่งผู้ที่คลุกคลีกับเด็กเหล่านี้โดยตรงอย่าง อ.สมจิตร ไกรศรี หรือที่เด็กๆ เรียกกันอย่างคุ้นปากว่า “ครูหน่อย” ได้ให้คำอธิบายเกี่ยวกับเรื่องเดียวกันนี้ว่า ศิลปะเป็นศาสตร์ที่มีสื่ออย่างมากมาย เช่น ดินสอ สี พู่กัน ดินน้ำมัน ดินเหนียวที่ใช้ปั้น หรือวัสดุที่นำมาประดิษฐ์เป็นสิ่งของต่างๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถนำมาปรับใช้ในเด็กที่มีความบกพร่องได้ทั้งสิ้น โดยแบ่งเป็นแต่ละฐานให้เด็กที่เข้าฟื้นฟูได้ปฏิบัติ และเข้าถึงศิลปะผ่าน 5 กิจกรรม

กล่าวคือ กิจกรรมการวาดภาพ ส่วนนี้จะเน้นให้เด็กได้ระบายความรู้สึกอย่างเต็มที่ โดยการขีดเขียน วนเส้นไปมา จะช่วยให้เด็กมีการควบคุมทิศทาง เกิดกระบวนการคิดที่เชื่อมโยงกัน กิจกรรมปั้น พลังจากการปั้นนั้นเป็นการระบายอารมณ์ที่ดีทางหนึ่งของเด็กที่มีปัญหา เมื่อเขาสามารถได้ปั้น ทุบ ขยำ ดินที่ใช้ปั้น จะเป็นการปลดปล่อยความรู้สึก ส่งผลในด้านกายภาพ แต่ต้องมีการควบคุมตัวเองโดยการใส่จินตนาการในการสร้างชิ้นงานให้ออกมาในหลากหลายรูปแบบ กิจกรรมต่อไปเป็น การทำผ้าบาติก กิจกรรมนี้เด็กจะต้องวางแผนในการวาดภาพที่มีพื้นที่จำกัดเพียงแค่ภายในกรอบและเลือกสีที่ต้องการ ในการลงสีภาพ เป็นการฝึกให้เด็กมีการจัดการชิ้นงานในพื้นที่ที่จำกัด

ต่อไปเป็น กิจกรรมการทอ ซึ่งจะเน้นในเรื่องของการจัดระเบียบความคิดของเด็ก เพื่อให้ชิ้นงานออกมาเข้าที่เข้าทาง เป็นกระบวนการที่ยากขึ้นมาในระดับหนึ่ง และสุดท้ายคือ กิจกรรมการประดิษฐ์ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ยากที่สุดสำหรับเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา เนื่องจากเป็นงานที่ต้องมีการรวมกลุ่มเพื่อทำชิ้นงานขึ้นมางานหนึ่ง แล้วแต่ว่าจะสร้างสรรค์ผลงานอย่างไร โดยเด็กจะต้องใช้การสื่อสารภายในกลุ่ม และใช้ความร่วมมือกัน โดยการนำทุกกิจกรรมมาเป็นตัวช่วย ซึ่งหากเด็กผ่านงานนี้ไปได้เชื่อว่าพวกเขาจะมีความคิด มีสมาธิ และมีพัฒนาการที่ดีเพิ่มขึ้น

** เรียนรู้สังคม สร้างการยอมรับ
นอกจากนี้ ครูหน่อย ยังบอกอีกว่า ประสบการณ์เสริมที่เด็กทุกคนจะได้รับไปควบคู่กันหลังจากการเข้ารับการบำบัดตามกิจกรรมต่างๆ นั้น คือ การใช้เสียงดนตรีในการผ่อนคลาย การปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อม การใช้ชุมชนบำบัดโดยนำเด็กออกวาดภาพนอกพื้นที่ภายในชุมชน เพื่อสร้างความเข้าใจในการใช้ชีวิต ให้พวกเขารู้ว่าสังคมให้การยอมรับ รวมไปถึงการเสริมสร้างมารยาททางสังคม ซึ่งการเข้าร่วมกิจกรรมศิลปกรรมบำบัดของเด็กแต่ละคนนั้นจะใช้เวลากว่า 3 เดือน จากนั้นจะมีการประเมิน ความสามารถ และความเปลี่ยนแปลงของเด็ก โดยที่ส่วนใหญ่เด็กจะมีพัฒนาการที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จากนั้นก็จะสอดแทรกรูปแบบการเรียนรู้ต่างๆ เข้าไปเพื่อให้เด็กสามารถออกไปใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างคนธรรมดา และไม่เป็นภาระของใคร

ทั้งนี้ ในส่วนของสังคมก็มีส่วนช่วยในการฟื้นฟูความผิดปกติของเด็กกลุ่มนี้ได้เช่นกัน โดยที่ อ.บัณฑิต จันทร์เผ่าแสง รองผู้อำนวยการ ร.ร.พร้อมพรรณวิทยา เป็นผู้หนึ่งที่นำเด็กปกติเข้ามาเรียนรู้ร่วมกับเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า หากเด็กได้อยู่กับศิลปะแล้วจะทำให้เขามีความสุข และยิ่งได้รู้จัก พูดคุย กับเด็กที่มีความชอบเหมือนกัน จะทำให้รู้สึกว่าเขามีเพื่อน เช่นกันกับเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา ที่ต้องการเพื่อน เพราะพวกเขาเองจะไม่ค่อยได้รับการยอมรับทางสังคม ที่ถูกจำกัดอยู่ในวงแคบๆ เท่านั้น

ทำให้ได้มีการนำนักเรียนที่ชอบงานศิลปะเข้ามาเป็นส่วนช่วยในการฟื้นฟูพัฒนาการของเด็กเหล่านี้ ซึ่งเมื่อเขาได้สัมผัสกับคนที่มีความชอบคล้ายๆ กัน ทำให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน ตรงนี้เองก็จะทำให้เด็กปกติรับรู้ว่าพวกเขาสามารถใช้ชีวิตร่วมกันได้อย่างไม่มีปัญหา ดังนั้นศิลปะจะเป็นสื่อที่ทำให้เด็กๆ มอบสิ่งดีๆ ให้แก่กัน ที่สำคัญที่สุดคือการสร้างความเข้าใจในการอยู่ร่วมกันภายในสังคมไม่ทำให้พวกเขาถูกแบ่งแยกออกไป

อย่างน้อยศิลปะก็ช่วยให้เด็กเหล่านี้ยิ้มได้ หัวเราะได้ และชิ้นงานที่พวกเขาสร้างขึ้น หากคนทั่วไปได้มีโอกาสสัมผัสจะรับรู้ได้ว่าจินตนาการของเขาก็มีไม่น้อยไปกว่าคนปกติ เมื่อได้เห็นผลงานก็ต้องยกนิ้วให้พร้อมให้กำลังใจ เก่งจังเลย สวยมากๆ... และสิ่งที่ได้รับกลับมาคือ ขอบคุณครับ...เป็นคำพูดจากเด็กออทิสติกเจ้าของผลงานที่ตอบกลับ พร้อมทั้งยกมือไหว้ด้วยความใสซื่อ นี่แหละความงามของศิลปะโดยแท้...
สนุกสนานกับงานปั้น
ครูให้คำแนะนำการทำเปเปอร์มาเช่
เด็กใจจดใจจ่อกับการระบายสี
พญ.พรรณพิมล หล่อตระกูล
ครูหน่อย - สมจิตร ไกรศรี
กำลังโหลดความคิดเห็น