กรมวิทย์ถ่ายทอดความรู้ตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการให้ อสม.เฝ้าระวังตัดตอนผลิตภัณฑ์สุขภาพอันตราย ตรวจยาแผนโบราณที่จำหน่ายตามตลาดนัด รถเร่ พบปลอมปนสารเดกซาเมธาโซน และสารเพรดนิโซโลน ยากลุ่มสารสเตียรอยด์ สุดอันตรายทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร กระดูกผุ เปราะและหักง่าย กล้ามเนื้อลีบ ร่างกายอืดบวม ภูมิคุ้มกันต่ำ ติดเชื้อได้ง่าย ถึงขั้นไตวายถึงชีวิต
นพ.มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ อุดรธานี ร่วมกับ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอวังสามหมอ จัดตั้งห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชน ภายใต้การบริหารจัดการโดยชุมชน พร้อมทั้งถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการให้แก่เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และ อาสาสมัครสาธารณสุขมูลฐานประจำหมู่บ้าน (อสม.) ทั้งนี้ จากการเฝ้าระวังปัญหาการปนปลอมในผลิตภัณฑ์สุขภาพภายในชุมชนอำเภอวังสามหมอ ซึ่งจากการสุ่มเก็บตัวอย่างยาแผนโบราณที่จำหน่ายตามตลาดนัด รถเร่ จำนวน 20 ตัวอย่าง ซึ่งตรวจเบื้องต้นโดย อสม.ประกอบด้วย 1.ยาน้ำแผนโบราณ จำนวน 6 ตัวอย่าง
นำมาตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ พบปนปลอมสารเดกซาเมธาโซน (Dexamethasone) 2 ตัวอย่าง 2.ยาผงสีน้ำตาล จำนวน 3 ตัวอย่าง ด้วยชุดทดสอบสเตียรอยด์ (Steroid) พบปนปลอมสารเดกซาเมธาโซน (Dexamethasone) และ สารเพรดนิโซโลน (Prednisolone) 1 ตัวอย่าง และนำมาตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการพบสารดังกล่าวเช่นกัน และ 3.ยาลูกกลอนสีดำ นํ้าตาลแดง และน้ำตาลเข้ม จำนวน 11 ตัวอย่าง (Steroid) พบปนปลอมสารเดกซาเมธาโซน (Dexamethasone) 1 ตัวอย่าง และตรวจพบสารเดกซาเมธาโซน (Dexamethasone) ผสมสารเพรดนิโซโลน (Prednisolone) อีก 1 ตัวอย่าง และนำมาตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการพบสารดังกล่าวเช่นกัน
นพ.มานิต กล่าวต่อว่า สารเดกซาเมธาโซน (Dexamethasone) และ สารเพรดนิโซโลน (Prednisolone) เป็นยาในกลุ่มสารสเตียรอยด์ ซึ่งเป็น ยาควบคุมพิเศษ ร้านขายยาจะจำหน่ายให้กับผู้บริโภคได้จะต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์เท่านั้น โดยตัวยาดังกล่าวมีอันตรายต่อผู้ใช้ เช่น ทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร ทั้งยังทำให้เกิดอาการกระดูกผุ เปราะ และหักง่าย กล้ามเนื้อลีบ ร่างกายอืดบวม ส่งผลให้ผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันต่ำ และอาจติดเชื้อได้ง่าย บางรายถึงขั้นไตวายเป็นอันตรายถึงชีวิต นอกจากนี้ ผู้ประกอบการที่ผลิตขายหรือนำเข้าสารสเตียรอยด์จะต้องจัดทำบัญชีซื้อ ขาย ไว้ด้วย รวมทั้งต้องรายงานปริมาณและมูลค่าการผลิต นำเข้ายาดังกล่าวต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เนื่องจากสารสเตียรอยด์เป็นสารอันตราย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา จึงมีการควบคุมดูแลภายใต้กฎหมายที่บัญญัติไว้ โดยผู้ที่ฝ่าฝืนจะถูกลงโทษตามความผิดที่กระทำตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติยา
“การเลือกซื้อยาแผนโบราณหรือยาสมุนไพร ประชาชนควรเลือกซื้อยาแผนโบราณหรือยาสมุนไพรจากร้านขายยาที่มีใบอนุญาต มีฉลากระบุชื่อยา เลขทะเบียนตำรับยา วัน เดือน ปี รุ่น และสถานที่ผลิตที่ชัดเจน ไม่ควรซื้อยาแผนโบราณ หรือยาสมุนไพรจากตลาดนัด รถเร่ หรือการขายตรงในทุกสถานที่ที่ไม่ได้รับใบอนุญาต”นพ.มานิต กล่าว
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวต่ออีกว่า จากการดำเนินโครงการดังกล่าว ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ อุดรธานี ได้แจ้งข้อมูลเบื้องต้นให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่รับผิดชอบ 4 จังหวัด ได้แก่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี หนองคาย หนองบัวลำภู และเลย เพื่อประชาสัมพันธ์และรณรงค์ให้ความรู้ ความเข้าใจแก่ประชาชนในพื้นที่ เพื่อช่วยกันสอดส่องและเฝ้าระวังปัญหาการปนปลอมในผลิตภัณฑ์สุขภาพในชุมชน หากมีข้อสงสัยว่าผลิตภัณฑ์สุขภาพมีสารเคมีปนปลอมอยู่หรือไม่ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือส่งตรวจได้ที่ สำนักยาและวัตถุเสพติดกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ในส่วนภูมิภาค ทั้ง 14 แห่ง รวมทั้งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และสำนักงานสาธารณสุขทั่วประเทศ