รับตรงแพทย์รอบ 2 สละสิทธิ์อีก 27.3% ให้สิทธิ์แต่ละสถาบันกำหนดเกณฑ์เพื่อเปิดสอบรับรอบ 3 เอง โดยจะไม่พิจารณารับผู้ที่มีชื่อติดในรอบแรกและรอบ 2 ระบุนักเรียนที่ต้องการเรียนสาขาแพทย์ยังสามารถสมัครแอดมิชชั่นได้
พญ.บุญมี สถาปัตยวงศ์ หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการจัดสอบคัดเลือกระบบรับตรงของกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท.) เปิดเผยว่า จากการที่ กสพท.ซึ่งได้รับอำนาจจากคณะแพทยศาสตร์ 12 สถาบัน คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะทันตแพทยศาสตร์ ม.มหิดล เป็นผู้ประสานงานในการรับสมัครนักเรียนที่ประสงค์จะเข้าศึกษาหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต และหลักสูตรทันตแพทยศาสตรบัณฑิต ปีการศึกษา 2551 ผ่านระบบรับตรง ซึ่งได้ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ์สอบสัมภาษณ์และตรวจร่างกาย รอบแรก จำนวน 1,350 คน จากแผนรับ 1,218 คน สละสิทธิ์จำนวน 211 คน คิดเป็น 15.6% กสพท.จึงได้ประกาศรายชื่อรอบ 2 จำนวน 117 คน เพื่อสอบสัมภาษณ์และตรวจร่างกาย ระหว่างวันที่ 17-18 เมษายนนั้น ปรากฏว่ามีผู้สละสิทธิ์ 32 คน คิดเป็น 27.3%
จำแนกเป็นคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ สละสิทธิ์ 1 คน จาก 14 คน คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล สละสิทธิ์ 6 คน จาก 20 คน คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล สละสิทธิ์ 5 คน จาก 15 คน คณะแพทยศาสตร์ ม.รังสิต สละสิทธ์ 7 คน จาก 15 คน คณะแพทยศาสตร์ ม.ศรีนครินทรวิโรฒ สละสิทธิ์ 7 คน จาก 25 คน วิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานครและวชิรพยาบาล สละสิทธิ์ 2 คน จาก 6 คน และวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า สละสิทธิ์ 4 คน จาก 22 คน
ทั้งนี้ สถาบันประกาศรายชื่อผู้ผ่านการสัมภาษณ์ในวันที่ 18 เมษายน นักเรียนติดตามผลตามเว็บไซต์สถาบัน และ กสพท.จะส่งรายชื่อไปยังสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ในวันที่ 18 เมษายน เพื่อตัดสิทธิ์การสอบคัดเลือกในระบบกลางการรับนิสิตนักศึกษาหรือแอดมิชชัน ปี 2551 ต่อไป
“กสพท.กำหนดแผนรับนักเรียน 1,218 คน คาดว่าจะมีผู้ผ่านการคัดเลือกรอบ 1 และ 2 จำนวน 1,224 คน จึงเต็มตามแผน แต่อาจมีบางคณะขาดหรือเกิน 1-2 คน สำหรับคณะที่ขาด กสพท.จะให้สิทธิ์แต่ละสถาบันกำหนดเกณฑ์เอง แต่ทุกสถาบันที่รับรอบ 3 จะไม่พิจารณาผู้ที่ติดรอบแรก และรอบ 2 อย่างไรก็ตาม การสมัครแอดมิชชันยังมีคณะแพทยศาสตร์ และทันตแพทยศาสตร์บางแห่งประกาศรับด้วย เช่น คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ม.มหิดล คณะแพทยศาสตร์ ม.ขอนแก่น เป็นต้น นักเรียนสามารถไปสมัครได้ โดยติดตามข่าวได้จากเว็บไซต์ของแต่ละสถาบันตั้งแต่วันที่ 17 เมษายนเป็นต้นไป”
พญ.บุญมี กล่าวอีกว่า ส่วนที่มีการสอบถามมามากว่าการสอบแบบทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นสูง (เอเน็ต) ปีนี้คะแนนคณิตศาสตร์ 2 เฉลี่ยแค่ 21.96 กสพท.จะมีการลดเกณฑ์จาก 30% เป็นเท่ากับคะแนนเฉลี่ยหรือไม่นั้น ยอมรับว่าข้อสอบวิชานี้ยากจริง แต่ กสพท.ได้พิจารณาแล้วเห็นว่าต้องยึดหลักเกณฑ์ที่ได้ประกาศไว้แล้วว่าคะแนนแต่ละวิชาต้องได้มากกว่า 30% ทั้งการคัดเลือกรอบแรกและ รอบ 2 เพราะไม่เช่นนั้นจะถูกตำหนิได้เนื่องจากมีนักเรียนที่ผ่านด้วยเกณฑ์ดังกล่าว 6,000 คน