xs
xsm
sm
md
lg

ความจริงของคนแก่ ในวันผู้สูงอายุ 13 เม.ย.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เชื่อไหม? ว่าอีกเพียงไม่กี่ปีข้างหน้าสังคมไทยจะก้าวเข้าสู่การเป็น ‘สังคมผู้สูงอายุ’

นี่ไม่ใช่เรื่องล้อกันเล่น แต่มีข้อมูลด้านประชากรจากหลายสำนักยืนยันตรงกันว่า สัดส่วนประชากรสูงอายุได้เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 5 ในปี 2523 เป็นร้อยละ 9 ในปี 2543 และคาดว่าจะเพิ่มไปถึง ร้อยละ 11 ในปี 2553 และ ร้อยละ 15 ในปี 2563 ขณะที่สัดส่วนประชากรเด็กกลับลดลงเรื่อยๆ อย่างเห็นได้ชัด จากร้อยละ 40 เป็นร้อยละ 25 และคาดว่าจะลดลงไปเหลือ ร้อยละ 22 และร้อยละ 20 ของช่วงปีเดียวกัน

สำทับด้วยข้อมูลจากสถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งประเทศไทย ปี 2547 ก็ได้ประมาณการถึงสัดส่วนประชากรสูงอายุที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยมีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อยู่ที่ร้อยละ 10.4 ในปี 2547 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นไปถึง ร้อยละ 11.7 ในปี 2553

การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรดังกล่าวนี้ ทำให้ต้องพิจารณาถึงบริการสังคมต่างๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นบริการด้านเศรษฐกิจ สังคม ซึ่งรวมถึงบริการด้านสาธารณสุขด้วยว่าจะสามารถตอบสนองความต้องการของผู้สูงอายุที่จะเพิ่มมากขึ้นในอนาคตได้อย่างไรหรือเพียงใด

ผู้สูงอายุมีความต้องการการเอาใจใส่จากครอบครัว
ต้องการได้รับการรักษาเมื่อยามเจ็บป่วย การดูแลในภาวะสุดท้ายของชีวิต ต้องการมีเงินใช้จ่ายในการยังชีพ

วิกฤตผู้ดูแลผู้สูงอายุ ขาดแคลน 2 เท่าในอีก 20 ปีข้างหน้า ประชากรสูงอายุมากขึ้น ส่วนใหญ่เจ็บป่วยเรื้อรังอย่างน้อย 1 โรค จำเป็นต้องมีผู้ดูแล


โดยทั่วไปผู้สูงอายุมีความต้องการการเอาใจใส่จากสมาชิกในครอบครัว ต้องการมีเงินใช้จ่ายในการยังชีพ ต้องการได้รับการรักษาเมื่อยามเจ็บป่วย และต้องการการดูแลในภาวะสุดท้ายของชีวิต

ผลการวิจัยเรื่อง ผู้ดูแลผู้สูงอายุในครอบครัว ได้รายงานข้อเท็จจริงในการดูแลผู้สูงอายุในประเทศไทยว่า ปัจจุบันครอบครัวมีบทบาทในการดูแลผู้สูงอายุ ผู้ดูแลส่วนใหญ่มีสายสัมพันธ์ในฐานะบุตรหรือเครือญาติ โดยร้อยละ 63.5 เป็นบุตร ซึ่งบุตรหญิงมีบทบาทมากกว่าบุตรชายในอัตราร้อยละ 43.4 และ ร้อยละ 20.1 ตามลำดับ

สิ่งที่น่าสังเกต คือ ผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี มีบทบาทเป็นผู้ดูแลถึงร้อยละ 10.0 ข้อมูลดังกล่าวนี้แสดงให้เห็นว่า ผู้สูงอายุจำนวนหนึ่งในปัจจุบันยังได้รับการดูแลจากครอบครัว

หากแต่พิจารณาถึงการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรผู้สูงอายุ การมีอายุที่ยืนยาวและการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างครัวเรือน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การลดลงของประชากรวัยเด็กแรกเกิด- 14 ปี ที่ลดลงอย่างรวดเร็วจากร้อยละ 24.3 ใน พ.ศ.2543 เป็นร้อยละ 20.0 ใน พ.ศ.2558

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้ ชี้ให้เห็นถึงการลดลงอย่างต่อเนื่องของเครือข่ายการดูแลในครอบครัว บุตรซึ่งเป็นผู้ดูแลผู้สูงอายุที่สำคัญ จะเริ่มขาดแคลนในอนาคต ทั้งนี้ยังไม่นับรวมถึงการอพยพแรงงานจากชนบทเพื่อข้าสู่ตลาดแรงงานตามกระแสทุนนิยมแล้ว คาดว่า การขาดแคลนผู้ดูแลผู้สูงอายุจะเพิ่มทวีขึ้น

หากนำข้อมูลการคาดประมาณสถานะสุขภาพของผู้สูงอายุมาพิจารณา พบข้อมูลที่น่าสนใจว่า ในปี 2558 ประเทศไทยจะมีประชากรสูงอายุที่มีภาวะทุพพลภาพระยะยาวประมาณร้อยละ 18.8 ของประชากรสูงอายุทั้งประเทศ ต้องมีคนดูแลในการเดินหรือเคลื่อนที่ออกนอกบริเวณบ้านหรือที่พักอาศัยประมาณร้อยละ 4.7 และต้องนอนอยู่บนเตียงไม่สามารถลุกนั่งหรือเคลื่อนย้ายได้ ร้อยละ 0.9 ของประชากรสูงอายุทั้งประเทศ สถิติดังกล่าวสามารถพยากรณ์ได้ว่าการขาดแคลนผู้ดูแลทั่วไปจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าในอีก 20 ปีข้างหน้า และจำนวนผู้ดูแลผู้สูงอายุจะเพิ่มเป็น 3 เท่า สำหรับการดูแลผู้สูงอายุที่นอนติดเตียง ทั้งนี้ยังไม่รวมกลุ่มผู้มีปัญหาด้านสติปัญญาที่ต้องใช้ชีวิตอยู่จนชราภาพ ต้องการการดูแลซ้ำซ้อนคือฐานะผู้พิการและฐานะผู้สูงอายุพร้อมกัน

การเกิดภาวะวิกฤตผู้ดูแลที่กำลังจะถึงนี้ นับว่าเป็นปัญหาที่ท้าทายผู้ที่เกี่ยวข้องในการวางแผนและจัดบริการ ทั้งด้านสาธารณสุข ด้านเศรษฐกิจและด้านสวัสดิการสังคม ที่จะต้องมีการเตรียมการอย่างเร่งด่วน การช่วยกันวางแผนและเร่งรัดในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนผู้ดูแลผู้สูงอายุทั้งในระดับนโยบาย บริหารและบริการ มีการกำหนดแผนการผลิตและพัฒนากำลังคนด้านการดูแลผู้สูงอายุระดับชาติอย่างจริงจังและชัดเจน

มาตรฐานสถานบริบาลที่ต้องปรับ

คาดว่าประชากรผู้สูงอายุไทยที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้จะทบทวีขึ้นมหาศาล จากปี 2538 จำนวนผู้สูงอายุต้องพึ่งพิงญาติในการดูแล 52,013 คน จ้างดูแล 19,264 คน อยู่สถานบริการที่ต้องการการดูแลระดับปานกลางและสูง 1,445 และ 4,335 คนตามลำดับ จะทะยานเป็น 79,888 คนที่ต้องให้ญาติดูแล 31,955 คนที่ต้องจ้างดูแล ส่วนไปอยู่สถานบริการที่ต้องการการดูแลระดับปานกลางและสูงจะเป็น 25,298 และ 75,894 คนตามลำดับในปี 2558

จากการศึกษาเรื่อง ‘ระบบสถานบริบาลผู้สูงอายุ’ พบว่า ปัจจุบันฝั่งรัฐยังไร้สถานบริบาลรูปแบบนี้ แต่จะแฝงอยู่ในการให้บริการของสถานสงเคราะห์คนชรา (Residential home) ที่จะเป็นไปในลักษณะของการสงเคราะห์มากกว่าการให้บริการรักษาพยาบาล ขณะที่ฟากเอกชนแม้จะมีจำนวนสถานบริการกว่า 400 แห่ง แต่มีเพียง 4 แห่งเท่านั้นที่จดทะเบียนเป็นสถานบริบาลสำหรับผู้ป่วยสูงอายุเรื้อรัง

มาตรฐานการดูแลฟื้นฟูผู้สูงอายุในแต่ละแห่งจึงแตกต่างกัน อันเนื่องมาจากไม่มีการกำหนดมาตรฐานการให้บริการของสถานบริบาล ยังคงยึดมาตรฐานของโรงพยาบาลเป็นหลัก เช่นเดียวกันกับคุณลักษณะและสมรรถนะของผู้ให้บริการก็ยังไม่ได้กำหนดมาตรฐานชัดเจน บุคลากรส่วนใหญ่ในทีมสุขภาพจึงขาดทักษะความรู้ความชำนาญในการดูแลผู้ป่วยสูงอายุเรื้อรัง

นอกจากนั้น การที่สถานบริบาลและโรงพยาบาลเอกชนที่เปิดรับดูแลผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะใช้วิธีการปรับปรุงอาคารธรรมดามาเป็นสถานดูแลผู้สูงอายุ อุปกรณ์การดูแลและสภาพแวดล้อมจึงไม่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นระดับของเตียง ความปลอดภัยของห้องน้ำ แสงสว่างไม่เพียงพอ หรือกระทั่งพื้นลื่นหกล้มง่าย ทำให้สถานบริบาลเอกชนส่วนส่วนใหญ่จะเลี่ยงไปใช้การจดทะเบียนเป็นสถานพยาบาลสำหรับผู้ป่วยค้างคืนประเภททั่วไปแทน

ดัชนีชี้วัดข้างต้น หากนำมาเปรียบเทียบมาตรฐานของสถานบริบาลไทยกับอเมริกา อังกฤษ ญี่ปุ่น และสิงคโปร์แล้ว จะพบว่าสถานบริบาลไทยยังต้องพัฒนามาตรฐานการดูแล และการรับรองมาตรฐานอีกมาก หากคาดหวังว่าผู้สูงอายุไทยจะมีคุณภาพชีวิตใกล้เคียงกับผู้สูงอายุในประเทศพัฒนาแล้วเหล่านั้น

ข้อเสนอเชิงนโยบายว่าด้วยสถานบริบาล เสนอให้ภาครัฐแบ่งประเภทการขึ้นทะเบียนสถานพยาบาลให้ชัดเจนตามคุณลักษณะ เช่น โรงพยาบาล สถานบริบาล หรือบ้านพักคนชรา โดยเฉพาะการตั้งสถานบริบาลผู้สูงอายุ แยกออกมาจากบ้านพักคนชรา เนื่องจากเป็นการดูแลที่ต้องใช้ทักษะทางพยาบาล และจัดให้มีการบริการที่แบ่งตามระดับความต้องการการดูแลของผู้สูงอายุ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ที่ได้รับการสงเคราะห์เท่านั้น

ตลอดจนดึงพลังจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มาช่วยด้านนี้ ด้วยการส่งเสริมให้เข้ามามีส่วนร่วมจัดให้มีบริการสถานบริบาลสำหรับผู้สูงอายุที่ต้องการการดูแลในระดับสูง

ศูนย์อเนกประสงค์สร้างพลังและศักยภาพให้แก่ผู้สูงอายุ

‘ศูนย์อเนกประสงค์สำหรับผู้สูงอายุ’ หรือ Multipurpose Senior Center เกิดขึ้น ภายใต้หลักการที่ว่า “ศูนย์อเนกประสงค์เป็นของชุมชน โดยชุมชน เพื่อคนทุกวัย” ซึ่งก็หมายความว่า การจะทำให้ผู้สูงอายุสามารถพัฒนาศักยภาพของตัวเองได้ ไม่ใช่การให้ผู้สูงอายุไปรวมตัวอยู่ด้วยกันเพียงอย่างเดียว หากต้องประกอบด้วยคนวัยอื่นๆ ในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมด้วย ดึงเอาคนทุกกลุ่มวัยเข้ามาปฏิสัมพันธ์ร่วมเพื่อสร้างพลังและศักยภาพให้แก่ผู้สูงอายุ ซึ่งแตกต่างอย่างสำคัญระหว่างศูนย์อเนกประสงค์กับชมรมผู้สูงอายุในรูปแบบที่เคยเป็นมา

ถึงอย่างนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่า ศูนย์อเนกประสงค์จะเกิดขึ้นได้อย่างโดดๆ เพราะต้องยอมรับเช่นเดียวกันว่า มีชมรมผู้สูงอายุเป็นจำนวนมากในประเทศไทยที่มีการบริหารจัดการที่ดีและมีกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสามารถที่จะยกระดับขึ้นมาเป็นศูนย์อเนกประสงค์

เรียกว่า เป็นการต่อยอดจากต้นทุนเดิมที่มีอยู่ เพื่อให้เชื่อมร้อยกับความต้องการของชุมชนในแต่ละท้องถิ่นอย่างแท้จริงเพราะแนวความคิดในเรื่องศูนย์อเนกประสงค์ เป็นบริการทางสังคมที่ต้องการช่วยเสริมสร้างศักยภาพและสนับสนุนให้เกิดการติดต่อปฏิสัมพันธ์กับสังคม เพื่อให้ผู้สูงอายุได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ปราศจากภาวะการพึ่งพาให้นานที่สุด

ดูตัวอย่างที่ อบต.เขาสวนกวาง จ.ขอนแก่น

อบต.เขาสวนกวาง เป็น อบต.ขนาดเล็ก แต่มีแนวคิดจัดกิจกรรมให้แก่ผู้สูงอายุ โดยใช้งบงบประมาณในขั้นแรก จำนวน 100,000 บาท จากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ก็อนุมัติให้จัดตั้งศูนย์เอนกประสงค์สำหรับผู้สูงอายุขึ้น

ทั้งนี้ ในกระบวนการทำงาน เน้นการสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน มีคณะกรรมการบริหารศูนย์ อาทินายอำเภอ ผู้อำนวยการโรงเรียน พระสงฆ์ ฯลฯ เป็นกรรมการศูนย์ประมาณ 30 คน มีนายกอบต. เป็นประธาน

โดยกิจกรรมที่ดำเนินการ ได้แก่ การจัดให้ความรู้ตามความต้องการของผู้สูงอายุ กิจกรรมการอบรมการดูแลผู้สูงอายุ ทั้งตัวผู้สูงอายุเอง และผู้ดูแลผู้สูงอายุ มีการอบรมอาสาสมัคร และดูงานต่างพื้นที่

นอกจากนี้ ได้จัดบริการให้ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นและมีการฝึกอาชีพจากกรมการจัดหางาน เพื่อเพิ่มพูนความรู้ในการฝึกอาชีพ มีการอบรมครอบครัวสัมพันธ์ โดยจัดให้เข้าร่วมทุกวัย ทั้งผู้สูงอายุ วัยกลางคน และวัยเด็ก มีการจัดทำโครงการซ่อมแซมบ้านให้ผู้สูงอายุ เช่น สร้างส้วม ซ่อมหลังคา เป็นต้น โดยมีงบประมาณซ่อมให้บ้านละ 10,000 บาท เป็นค่าวัสดุโดยไม่ต้องจ้างช่างที่อื่น จะรวบรวมช่างในหมู่บ้านมาลงแขกกันโดยไม่มีค่าตอบแทนแต่จะมีการเลี้ยงข้าวเพื่อเป็นน้ำใจ

นอกจากบริการและกิจกรรมทางด้านสังคมแล้ว อบต.ก็ได้ให้มีในเรื่องของการออม โดยจัดตั้งโครงการวันละบาท โดยเริ่มต้นออมจาก 80 คน และกระจายสู่หมู่บ้านเพื่อจัดตั้งเป็นกองทุนไว้สำหรับให้สมาชิกกู้ไว้สำหรับเป็นค่าเล่าเรียนลูก เป็นต้น มีการจัดตั้งสมาคมฌาปณกิจสงเคราะห์ มีการเก็บคนละ 100 บาท และมีการสนับสนุนเงินเพื่อเป็นการทำขวัญ ได้แก่ เกิด ตาย หรือมีการเจ็บป่วย

กรณีนำร่องตัวอย่างของ อบต.เขาสวนกวางนี้ มีจุดแข็งคือ ในชุมชนมีความเข้มแข็ง มีส่วนร่วม ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี มีการเห็นเป้าหมายร่วมกัน คือ ให้ผู้สูงอายุและวัยอื่น ๆ มีคุณภาพชีวิตที่ดี

การเงินเพื่อการยังชีพของผู้สูงอายุ‘ระบบบำนาญแห่งชาติ’ทางเลือกเพื่อรอดของผู้สูงอายุไทย

วิกฤตผู้สูงอายุในประเทศไทยจึงกระทบทั้งระดับปัจเจกบุคลและสังคมโดยรวม โดยเฉพาะมิติการดำรงชีวิตในบั้นปลายอย่างมีคุณภาพตามสมควรของผู้สูงวัยที่จะเป็นประเด็นร้อนในอนาคต รัฐจึงมีพันธกิจในการโอบอุ้มประชากรกลุ่มนี้ด้วยการคลอด ‘ระบบบำนาญแห่งชาติ’ เพื่อคลี่คลายวิกฤตการณ์ดังกล่าวดังที่หลายประเทศเผชิญมาแล้ว

แม้ว่าปัจจุบันปัญหาด้านหลักประกันในการรักษาพยาบาลและหลักประกันในการดูแลสุขภาพระยะยาว ทว่าหากยังไร้หลักประกันด้านการเงินแล้ว คุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุไทยก็คงไม่ดีขึ้นมากนัก เพราะหลักประกันด้านรายได้ในยามชราภาพนี้ไม่เพียงจะทำให้ลูกหลานไม่ต้องแบกรับภาระผู้สูงวัยมากเกินฐานะตนเองแล้ว ยังสอดคล้องกับสังคมไทยในอนาคตที่ผู้สูงอายุจะโดดเดี่ยวมากขึ้นจากการไม่แต่งงานหรือเป็นครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น

ดังนั้น ระบบบำนาญแห่งชาติที่รัฐควรขับเคลื่อนให้ทันท่วงทีกับโครงสร้างประชากรไทยที่กำลังเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วควรเป็นการออมภาคบังคับ โดยแต่ละเดือนผู้ออมจะต้องจ่ายเงินสมทบเพื่อให้รัฐเอาไปบริหารจัดการ และจะได้คืนก็ต่อเมื่อเกษียน เช่นเดียวกับกองทุนบำเหน็จบำนาญของข้าราชการ และกองทุนประกันสังคมของลูกจ้างบริษัทเอกชน

ข้อมูลการสำรวจแรงงานนอกระบบ พ.ศ.2549 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติที่พบว่าในจำนวนผู้ที่มีงานทำ 35 ล้านคน เป็นแรงงานระบบที่มีหลักประกันเลย 10 ล้านคนมาเล็กน้อย ขณะที่อีก 20 ล้านคนไร้หลักประกันคุ้มครอง

ความเป็นไปได้เบื้องต้นในการผลักดันระบบบำนาญแห่งชาติให้เกิดขึ้นจริงในสังคมไทยมีอยู่ด้วยกัน 2 แบบ กล่าวคือ แบบที่หนึ่งเรียกว่าระบบบำนาญแบบสะสมทรัพย์ (Funded system) คือ ระหว่างที่ทำงาน ทุกอาชีพ จะต้องถูกรัฐบาลบังคับให้ออม เมื่อถึงเวลาจ่ายเงินบำนาญ รัฐบาลจึงจะนำเงินที่ออมไว้พร้อมผลตอบแทนจำนวนหนึ่งที่เกิดดอกออกผลจากการบริหารจัดการของรัฐบาลมาคืนให้ นั่นหมายความว่าเงินบำนาญที่จะได้รับนั้นมาจากยาดเหงื่อแรงงานาของผู้ออมเอง เพียงแต่ที่รัฐบังคับให้ออมเพราะกลัวว่ารัฐจะต้องแบกรับภาระมากเกินไปจากเหตุที่ประชาชนไม่รู้จักออมในช่วงเวลาที่ยังทำงานได้ รัฐจึงต้องบังคับ และคืนเงินบำนาญที่เป็นเหมือนหลักประกันรายได้ขั้นต่ำให้ผู้สูงอายุพอเลี้ยงตัวเองได้

ส่วนแบบที่สองเรียกว่า Pay as you go คือ จ่ายและไป เป็นระบบบำนาญที่ให้คนหนุ่มสาวเป็นผู้จ่าย ขณะที่รัฐจะนำเงินที่ได้นั้นไปจ่ายให้ผู้สูงอายุในขณะนั้นทันที เป็นการดถึงเงินจากกระเป๋าคนหนุ่มสาวไปโอบอุ้มคนชรานั่นเอง อย่างไรก็ตามยังมีแบบกึ่ง Pay as you go คือเงินที่คนหนุ่มสาวจ่ายในปัจจุบันอาจไม่ไปถึงผู้สูงอายุทันที หรือไม่ก็ถึงเพียงบางส่วนจากเงินทั้งหมดที่เก็บได้ ด้วยอีกส่วนที่เหลือจะเก็บออมไว้

ในช่วงเปลี่ยนผ่านของการนำระบบบำนาญแห่งชาติมาบังคับใช้นี้ รัฐอาจต้องดำเนินการควบคู่ไปกับระบบเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุก่อน เพื่อให้ระบบบำนาญแห่งชาติสะสมเงินไปสักพักหนึ่งแทนที่จะจ่ายเงินออกโดยทันที
กำลังโหลดความคิดเห็น