เรื่อง...นพ.กฤษดา ศิรามพุช,พบ.(จุฬาฯ)
ผู้อำนวยการสถาบันเวชศาสตร์อายุรวัฒน์นานาชาติ
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเวชศาสตร์ต้านความชรา
(American Board of Anti-aging Medicine)
เมื่อไม่กี่ปีมานี้วารสารการแพทย์อังกฤษหรือ British Medical Journal(BMJ) vol 326, p 1419, 1423, 1427 เมื่อปี 2003 ได้ตีพิมพ์ผลงานการคิดค้น “ค็อกเทล” ยาขึ้นเพื่อป้องกันโรคที่เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้คนตั้งแต่วัยกลางคนเสียชีวิต ขึ้นชื่อว่าค็อกเทลนั้น คอสุราอย่าเพิ่งฝันดีนะครับ ค็อกเทลทางการแพทย์คือการนำยาที่มีคุณสมบัติต่างกันหลายชนิดมาจัดรวมกันให้ผู้ป่วยโรคนั้นๆกิน เช่นค็อกเทลยาต้านไวรัสเอดส์เป็นต้น
พอมีเรื่องเอดส์ๆอดๆเข้ามาเริ่มสยองแล้วใช่ไหมครับ ไม่หรอกครับค็อกเทลยานี้เรียกว่า “โพลีพิล (Polypill)” ถ้าเอาเป็นภาษาไทยที่ผมตั้งให้คือ “สหโอสถ’ เก๋ไม่หยอก เจ้ายาสหโอสถนี้ประกอบด้วยาถึง 6 ชนิดด้วยกัน ประกอบด้วยยาลดไขมัน 1 ชนิด, ยาลดความดันโลหิตอีก 3 ชนิด, ยาป้องกันการเกาะตัวของหลอดเลือด 1 ชนิดและวิตามินลดระดับโฮโมซิสเทอีนอีก 1 ชนิด
จุดประสงค์ของสหโอสถนี้คือกินเพื่อป้องกัน ใช่ครับ เพื่อ “ป้องกัน” ไม่ใช่รักษานะครับ เพราะหัวหน้าทีมวิจัยนี้คือ ดร.นิโคลาส วาลด์ แห่งสถาบันเวชศาสตร์ปัองกันวูล์ฟสันกรุงลอนดอนเป็นผู้แนะนำเองว่ายานี้จะช่วยป้องกันปัจจัยเสี่ยงทั้งสี่ต่อโรคหัวใจ คือ ไขมันในเลือดสูง, ความดันโลหิตสูง, ระดับโฮโมซิสเทอีนสูงและเกล็ดเลือดผิดปกติ เนื่องจากโรคหัวใจเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตของผู้มีอายุตั้งแต่ 55 ปีมากที่สุด ยานี้จึงแนะนำให้รับประทานได้ตั้งแต่อายุ 55 ปีขึ้นไปครับ เพราะ ดร.วาลด์เชื่อว่าอายุเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเกิดโรคหัวใจมากกว่าปัจจัยอื่น
สรุปแล้วคือเจ้าสหโอสถนี้เป็นการเอายาสำหรับรักษาโรคที่พบบ่อยในผู้สูงอายุมารวมกันเพื่อป้องกันโรคก่อนที่โรคจะเกิดนั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นยาลดไขมันกลุ่มสแตติน(Statin), ยาลดความดันโลหิตสูง(ACE inhibitor, Diuretic, Beta-blocker), ยาต้านการจับตัวของเกล็ดเลือดแอสไพรินและกรดโฟลิกเพื่อช่วยลดโฮโมซิสเทอีน คุณต้องกินยารวมมิตรเหล่านี้เข้าไปให้มันอิ่มแทนข้าว เอ๊ย ให้มันออกฤทธิ์ป้องกันโรคร้าย
แต่จริงแล้วมีวิธีง่ายกว่านั้นครับ เหมือนที่ผมเคยบอกไว้ว่าอาหารถ้ากินให้ “เหมาะสม” มันก็เป็นยารักษาเราได้ แพทย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์ (A4M)แห่งสหรัฐอเมริกาก็เห็นเช่นเดียวกัน จึงแนะนำให้รับประทานอาหารที่เรียกว่า “สหโภชนา (Polymeal)” หรือโพลี่มีลขึ้น ไม่ใช่ชื่อภัตตาคารนะครับ ผมตั้งชื่อไทยให้โพลี่มีลจะได้เก๋ไม่แพ้สหโอสถ อาหารบำบัดแบบสหโภชนานี้ได้มีการศึกษาตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์อังกฤษ (BMJ เจ้าเดิม) เมื่อธันวาคมปี 2004 (คือปีรุ่งขึ้นหลังจากเจ้าสหโอสถยาหนึ่งกำมือนั้นออกตีพิมพ์) แล้วว่าให้ผลในการลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจลงได้ถึง 75% เหมือนกับโพลี่พิลครับ ช่วยเพิ่มอายุขัยเฉลี่ยด้วย ในผู้ชายอายุยืนขึ้น 6.6 ปีและ 4.8 ปีในผู้หญิง
ข้อดีที่แน่นอนอีกอย่างคือเป็นการรักษาที่ไม่ต้องใช้ยาซึ่งเป็นสารเคมีจึงมีความปลอดภัยสูง, ประหยัดและที่ยอดเยี่ยมเลยคือรสชาติดีกว่ายาแบบขาดลอย
ผมจะให้ดูตารางเปรียบเทียบยาสหโอสถกับอาหารสหโภชนาครับว่าอันไหนน่ากินกว่ากัน
เปรียบเทียบสูตรการรักษาโดยยาและการรักษาโดยอาหาร |
สหโอสถ(PolypillX | สหโภชนา (Polymeal) |
Statin | ไวน์ |
ACE inhibior | เนื้อปลาทะเลน้ำลึก |
Diuretic | ด้าร์คชอกโกแลต |
Beta-blocker | ผัก |
Aspirin | ผลไม้ |
Folic acid | กระเทียมและอัลมอนด์ |
เอาละครับ ตอนนี้หลายท่านคงตัดสินใจได้แล้วว่าอยากจะป้องกันโรคด้วยวิธีใด หลายท่านอาจสนใจวิธีสหโภชนบำบัดหรือรักษาโรคโดยอาหารมากกว่า ผมจึงขอขยายรายละเอียดถึงชนิดและปริมาณของสหโภชนาตามที่เขาใช้ในการศึกษาครั้งนี้ครับ
1)ไวน์ ให้รับประทานไวน์แดงวันละ 150 ซีซี. หรือประมาณครึ่งแก้ว
2)ด้าร์คชอกโกแลตวันละ 100 กรัม (1 ขีด)
3)ผักและผลไม้หลากสีวันละ 400 กรัม (4 ขีด)
4)กระเทียมวันละ 2.7 กรัม (4 กลีบ)
5)อัลมอนด์วันละ 68 กรัม
6)เนื้อปลาทะเลน้ำลึกครั้งละ 118 กรัม ให้รับประทาน 4 ครั้งต่อสัปดาห์
ที่มา: Franco OH et al. The Polymeal: a more natural, safer, and probably tastier (than the Polypill) strategy to reduce cardiovascular disease by more than 75%
BMJ. 2004 Dec 18;329(7840):1447 – 50
ขอโชว์อีกตารางหนึ่งที่แสดงความเสี่ยงของโรคหัวใจที่ลดลงต่ออาหารแต่ละชนิดพร้อมผลงานวิจัยอ้างอิงแต่ในแต่ละกลุ่ม
ชนิดของโภชนบำบัด | เปอร์เซนต์ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ (95% CI) | งานวิจัยอ้างอิง |
ไวน์แดง (150 ซีซี./วัน) | 32% | Di Castelnuovo et al 1 |
เนื้อปลา (114 กรัม 4 ครั้ง/สัปดาห์) | 14% | Whelton et al 2 |
ด้าร์คชอกโกแลต (100 กรัม/วัน) | 21% | Taubert et al 3 |
ผลไม้และผักสด (400 กรัม/วัน) | 21% | John et al 4 |
กระเทียม (2.7 กรัม/วัน) | 25% | Ackermann et al 5 |
อัลมอนด์ (68 กรัม/วัน) | 12.5% | Jenkins et al 6 Sabate et al 7 |
ประสิทธิภาพรวม (Combined effect) | 76% |
งานวิจัยอ้างอิงเรียงลำดับตามหมายเลขในตาราง
ในเรื่องของไวน์แดงนั้น มีสารเรสเวอราทรอล (Resveratrol) ที่ช่วยกระตุ้นยีนอายุยืน (Sirtuin Activating-compount,STAC) ด้วยนะครับ หากคุณไม่ดื่มของมึนเมา(ตัวผมเองก็เช่นกัน)ไม่ต้องกังวลไปครับ ปัจจุบันมีสารเรสเวอราทรอลที่อยู่ในรูปอาหารเสริมเป็นทางเลือกให้ครับ
ส่วนเรื่องของโกโก้หรือช็อกโกแลตนั้นมีหลักฐานว่าชาวแอสเท็คเป็นพวกแรกที่นำโกโก้มาชงกับน้ำรับประทานก่อนชาวยุโรปตั้งนาน คองควิสตาดอร์กระทาชายนาย เฮอร์นัน คอเตชชาวสเปนที่บุกอาณาจักรแอสเท็คในศตวรรษที่ 16 ได้พบกับพระเจ้ามองเตซูม่าที่สองกษัตริย์แห่งแอสเท็คและได้มีบันทึกไว้ว่า พระองค์เสวยโกโก้ซึ่งปรุงให้หวานด้วยน้ำผึ้งวันละประมาณ 50 ถ้วย หากวันใดพระองค์ต้องเข้าหอร่วมกับชายาก็โปรดที่จะเสวยเพิ่มอีก 1-2 ถ้วย มีบางท่านเคยถามผมว่าให้กินด้าร์คช้อคโกแลตนั้นไม่หวานไปหรือ?
ผมขออธิบายสักนิดนะครับว่าด้าร์คช็อกโกแลตที่ดีนั้นต้องมีรสขมปี๋ด้วยซ้ำเพราะเป็นช็อกโกแลตล้วนไม่มีส่วนผสมของน้ำตาลและโคเลสเตอรอลเลย ไม่ใช่ช็อกโกแลตสีน้ำตาลที่เรากินเล่นกันนะครับ ส่วนเรื่องของปลานั้นก็ขอให้เป็นปลาทะเลน้ำลึกที่จับได้ตามธรรมชาติจะได้มีสารพีซีบี,ตะกั่ว,ปรอทและโลหะหนักอื่นปนอยู่น้อยหน่อย เช่นปลาซาลมอนซึ่งมีทั้งประเภทที่มาจากฟาร์มเลี้ยงกับซาลมอนที่จับได้จากธรรมชาติ (Wild pacific salmon) ปริมาณสารปรอทในเนื้อปลาจะต่างกันลิบลับ นอกจากนั้นยังมีน้ำมันปลาโอเมก้า-3 ช่วยในการต้านการอักเสบและลดไขมันแอลดีแอลด้วยครับ
เราคนไทยก็มีสาเหตุการตายอันดับต้นๆคือโรคหัวใจและหลอดเลือดเช่นกันกับชาวอังกฤษ ดังนั้นหากเรานำแนวทางการกินยาป้องกันแบบโพลี่พิลหรือให้ดีกว่านั้นคือกินอาหารโภชนบำบัดแบบโพลี่มีล ซึ่งถูกกว่า, ปลอดภัยกว่าและอร่อยกว่า นอกจากนั้นคุณยังสามารถเริ่มต้นกินได้ตั้งแต่ก่อนอายุ 55 ปี (โพลี่พิลให้เริ่มกินเมื่อายุ 55 ปี)ด้วย อาหารแบบนี้คล้ายกับอาหารเมดิเตอร์เรเนียนหรือชาวญี่ปุ่นกินกัน จะเห็นว่าคนกลุ่มนี้เขามีอายุยืนกันจริงๆจังๆต่างจากเพื่อนมนุษย์ชาติอื่นอย่างเห็นได้ชัด แล้วคุณล่ะครับ อยากกินยาทีละเป็นกำมือเมื่อป่วยแล้วหรืออยากกินโภชนบำบัดเริ่มตั้งแต่วันนี้เพื่อให้ห่างไกลจากโรคร้ายครับ
พบคำแนะนำดี ๆ สำหรับผู้ที่ต้องการมีอายุยืนแบบไร้โรคได้จาก น.พ.กฤษดา แบบเต็ม ๆ ในงาน TCELS Day : Life Sciences Life Quality ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ วันที่ 28-30 พฤษภาคม 2551 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ 02-6445499 หรือ www.tcels.or.th
หมายเหตุ : สำหรับสถาบันเวชศาสตร์อายุรวัฒน์นานาชาติ (International Anti-Aging medicine Institute : IAAMI) นั้น จัดตั้งขึ้นเป็นครั้งแรกโดยการสนับสนุนของศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ของประเทศไทย (TCELS) โดยมี น.พ.กฤษดา ศิรามพุช เป็นผู้อำนวยการสถาบันฯ