xs
xsm
sm
md
lg

3 หน่วยงานประกาศสิทธิผู้โดยสารรถบัส กันตกเป็นเหยื่ออุบัติเหตุซ้ำซาก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สสส.จับมือ มสช.-ศวปถ.ประกาศสิทธิผู้นั่งรถโดยสารสาธารณะ 10 ข้อ พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคไม่ให้ตกเป็นเหยื่ออุบัติเหตุซ้ำซาก แนะรัฐบาลเร่งยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยรถโดยสาร ให้มีเข็มขัดนิรภัยทุกเบาะที่นั่งผู้โดยสาร พร้อมเร่งฝึกพัฒนาพนักงานขับรถให้เป็นอาชีพเฉพาะ และต้องมีใบประกอบวิชาชีพ

วันนี้ (10 เม.ย.) นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่เป็นวันหยุดยาวจะมีการเดินทางออกต่างจังหวัดจำนวนมาก ทั้งโดยรถส่วนตัวและรถประจำทาง ซึ่งในทุกปีจะมีอุบัติเหตุที่เกิดกับรถสาธารณะไม่น้อย โดยส่วนหนึ่งเกิดจากพนักงานขับรถไม่เคารพกฎจราจร ขับขี่รวดเร็ว ขณะที่ผู้โดยสารก็ไม่ได้เตือนหรือห้ามปรามการขับขี่ที่ขาดความระมัดระวังนั้นอันเนื่องมาจากไม่ได้ตระหนักในสิทธิของตนเองทั้งก่อน ระหว่าง และหลังนั่งรถโดยสารสาธารณะ

“ประชาชนที่ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะส่วนมากขาดความรู้เรื่องสิทธิผู้บริโภค แม้หลายครั้งพนักงานขับรถซึ่งถือเป็นสาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุจะขับรถด้วยความประมาท ขาดการระมัดระวัง ผู้โดยสารก็ยังละเลยที่จะพิทักษ์สิทธิของตนเอง จนกระทั่งต้องประสบกับอุบัติเหตุรถชนหรือไม่ก็พลิกคว่ำจนบาดเจ็บสาหัสหรือรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต” นพ.ธนะพงศ์ กล่าวและว่า อย่างไรก็ตาม มีแนวโน้มที่ดีเมื่อมีกรณีผู้โดยสารที่นั่งอยู่บนรถโดยสารปรับอากาศสีส้ม ปอ.2 ของบริษัทร่วมขนส่ง จำกัด สายสุราษฎร์ธานี-ภูเก็ต ได้แจ้งจับพนักงานขับรถที่ขับขี่อย่างหวาดเสียวเนื่องจากเมาสุราอย่างหนัก

แม้หลังจากสกัดจับได้พนักงานขับรถที่อยู่ในอาการเมามายสุราจะขัดขืนไม่ยินยอมให้ตรวจวัดแอลกอฮอล์ แต่ภายหลังเมื่อตรวจวัดได้ก็พบว่าระดับแอลกอฮอล์สูงถึง 134 มิลลิกรัม สอดคล้องกับคำสารภาพขิงคนขับเองที่ยอมรับว่าดื่มสุรามาทั้งคืนก่อนขับรถ ทางเจ้าหน้าที่จึงนำตัวไปควบคุมยัง สภ.เมืองสุราษฎร์ธานี ก่อนส่งฟ้องศาลต่อไป

นพ.ธนะพงศ์ กล่าวต่อว่า สิทธิของผู้นั่งรถโดยสารสาธารณะนั้น ปรากฏชัดในสิทธิของผู้บริโภคในส่วนของ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2541 ซึ่งได้บัญญัติสิทธิของผู้บริโภคที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายไว้ทั้งก่อนใช้บริการ เมื่อใช้บริการ และหลังใช้บริการ ซึ่งสิทธิทั้ง 3 ด้านนี้นับว่ามีความสำคัญมากสำหรับผู้นั่งรถโดยสารสาธารณะที่จะต้องตระหนักและเรียนรู้ที่จะใช้ประโยชน์

ดังนั้น เพื่อพิทักษ์สิทธิของผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่อาจจะเกิดอุบัติเหตุรถโดยสารขึ้น ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) ร่วมกับศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) ภายใต้การสนับสนุนของกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงได้ประกาศสิทธิของผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ 10 ข้อเพื่อเป็นแนวทางให้ประชาชนนำไปปฏิบัติ ได้แก่ 1.ผู้ใช้บริการมีสิทธิที่จะได้รับข้อมูลข่าวสาร คำพรรณนาคุณภาพเกี่ยวกับบริการรถโดยสาร รวมทั้งความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยที่ถูกต้องเป็นจริง ครบถ้วน เพียงพอต่อการตัดสินใจใช้บริการ 2.ผู้ใช้บริการมีสิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในด้านสัญญา และราคาค่าบริการ 3.ผู้ใช้บริการมีอิสระในการเลือกใช้บริการรถโดยสารด้วยความสมัครใจ และปราศจากการชักจูงใจอันไม่เป็นธรรม 4.ผู้ใช้บริการมีสิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยในทุกๆ ด้านจากการใช้บริการรถโดยสาร 5.ผู้ใช้บริการมีสิทธิที่จะได้รับการบริการจากรถโดยสารและผู้ให้บริการที่มีคุณภาพมาตรฐาน

6.ผู้ใช้บริการมีสิทธิร้องเรียนหรือฟ้องร้องเพื่อให้ผู้ให้บริการหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขปัญหา เยียวยา หรือชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้น 7.ผู้ใช้บริการมีสิทธิที่จะได้รับการชดใช้ความเสียหายจากการประกันภัยโดยไม่มีการประวิงเวลา หรือบังคับให้ประนีประนอมยอมความ หรือสิทธิการฟ้องคดีเรียกร้องค่าเสียหาย หากพบว่าได้รับความเสียหายเพิ่มเติมจากค่าเสียหายที่ได้รับมาแล้ว

8.ผู้ใช้บริการมีสิทธิที่จะได้รับการชดใช้ความเสียหายทั้งทางร่างกาย จิตใจ อนามัย เสรีภาพ ทรัพย์สิน และสิทธิอื่นๆ ที่ถูกละเมิด 9.ผู้ใช้บริการที่สิทธิที่จะได้รับการชดใช้ด้วยหลักแห่งพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด และ 10.ผู้ใช้บริการมีสิทธิที่จะรวมตัวกันเพื่อพิทักษ์สิทธิของตนและของผู้อื่น

นพ.ธนะพงศ์ กล่าวต่อว่า นอกจากการประกาศสิทธิผู้โดยสาร 10 ข้อข้างต้นแล้ว ยังต้องเร่งยกระดับมาตรฐานรถโดยสารขนาดใหญ่ประเภทหมวด 2, 3 และรถทัศนาจรด้วย โดยก้าวแรกจะต้องสนับสนุนมาตรฐานรถให้มีความปลอดภัยแข็งแรงมากขึ้น ด้วยการกำหนดให้เบาะผู้โดยสารทุกที่นั่งมีเข็มขัดนิรภัย โดยเข็มขัดนิรภัยจะต้องแข็งแรงยึดแน่นหนากับเบาะที่นั่ง

เร่งฝึกอบรมและพัฒนาพนักงานขับรถ โดยกำหนดให้เป็นการประกอบอาชีพเฉพาะที่ต้องมีใบอนุญาตประกอบอาชีพ ตลอดจนส่งเสริมพนักงานขับรถให้มีความมั่นคงด้านอาชีพ มีสวัสดิการที่ดี และมีชั่วโมงการทำงานที่เหมาะสม ไม่ต้องขับนานๆ เพียงเพื่อจะมีรายได้พอเลี้ยงปากท้อง

“รัฐบาลควรออกกฎหมายจำกัดความเร็วของรถโดยสารสาธารณะ และต้องบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมมาตรฐานรถโดยสารสาธารณะอย่างเข้มงวด และที่สำคัญหน่วยงานราชการควรเป็นแบบอย่างในการเช่าหรือซื้อรถโดยสารที่มีมาตรฐานความปลอดภัย มีเข็มขัดนิรภัยสำหรับผู้โดยสาร พนักงานขับรถมีความชำนาญ ผู้ประกอบการมีการทำประกันภัยชั้นหนึ่ง หรือผู้ประกอบการรถทัศนาจรที่ผ่านเกณฑ์รถ 5 ดาวของกรมการขนส่งทางบก”

นพ.ธนะพงศ์ กล่าวต่อว่า หลังจากยกระดับมาตรฐานเบื้องต้นแล้ว รัฐบาลจะต้องส่งเสริมผู้ประกอบการในหลายๆ ด้านเพื่อสร้างมาตรฐานความปลอดภัยของโดยสารสาธารณะขึ้นมา โดยทบทวนระบบสัมปทาน เพื่อให้เกิดการจัดสัมปทานที่เป็นธรรม ใช้มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการสามารถพัฒนาคุณภาพรถโดยสารสาธารณะ เช่น ลดหย่อนภาษีอุปกรณ์ที่ส่งเสริมความปลอดภัยเพื่อลดต้นทุนของผู้ประกอบการ หรือนำเงินจากแหล่งอื่นๆ เช่น ภาษีน้ำมันและกองทุนต่างๆ มาอุดหนุน ตลอดจนรัฐควรเข้ามาลงทุนเองเพื่อให้เกิดรถสาธารณะที่ได้มาตรฐาน และระบบการเดินรถที่ปลอดภัย โดยให้ทุกภาคส่วนของสังคมเข้ามามีส่วนร่วม

กำลังโหลดความคิดเห็น