xs
xsm
sm
md
lg

“ไชยา” ประกาศผลักดันกฎหมาย 2 ฉบับ ภายในรัฐบาลนี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ไชยา” ประกาศเร่งผลักดันกฎหมาย 2 ฉบับ ภายในรัฐบาลนี้ ทั้ง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาความสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพสุขภาพ เพื่อเยียวยาคนไข้-แพทย์ เห็นดีไม่ให้แพทย์ถูกฟ้องอาญา พร้อมเรียกทุกฝ่ายหารือ เตรียมทำประชาพิจารณ์ฟังความเห็น ด้านแพทย์ชนบทหนุน ชื่นชม “สมัคร” เตือนควรเร่งให้กฎหมายคุ้มครองผู้เสียหายก่อน จากนั้น 1 ปี ค่อยดันกฎหมายคุ้มครองแพทย์ ลดแรงต้าน

นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า กรณีที่ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี กล่าวผ่านรายการ “สนทนาประสาสมัคร” แสดงความเห็นใจแพทย์ที่ถูกฟ้องร้องและถูกดำเนินคดีทางอาญา จนแพทย์ในโรงพยาบาลหลายแห่งไม่กล้าทำการผ่าตัด จึงต้องส่งต่อไปยังโรงพยาบาลใหญ่นั้น ในรัฐบาลชุดนี้จะพยายามเร่งผลักดันกฎหมาย 2 ฉบับ คือ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ...และ ร่าง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาความสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพสุขภาพ พ.ศ. ...โดยในส่วนของร่าง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาความผู้ประกอบวิชาชีพสุขภาพ ในเร็วๆ นี้ จะมีการเรียกทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาหารือ อาทิ แพทยสภา เครือข่ายผู้ได้รับความเสียหายทางการแพทย์ โดยเป็นการพูดคุยด้วยเหตุด้วยผล และหลังจากมีการหารือแล้ว จะมีการทำประชาพิจารณ์ เพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อไป

“ผมเห็นร่าง พ.ร.บ.ที่เสนอโดยแพทยสภาแล้ว เห็นว่า ก็ดี แต่จะต้องให้หลายฝ่ายมาร่วมกันแสดงความคิดเห็น ซึ่งหลักในการพิจารณาความผิดพลาดที่เกิดขึ้นควรมุ่งพิจารณาว่า แพทย์เจตนาหรือไม่เจตนา ซึ่งอาชีพแพทย์ทำหน้าที่ในการดูแลสุขภาพ ไม่มีใครอยากให้คนไข้ตาย แม้ว่าบางครั้งแพทย์จะไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือก็ไม่ยอมให้ตายต่อหน้าต่อตา พยายามเป่าปากช่วยชีวิต เป็นความภาคภูมิใจของผู้ที่ประกอบวิชาชีพ เมื่อมีเรื่องการฟ้องร้องแพทย์ให้ติดคุก จากที่เมื่อก่อนพ่อแม่ก็ดีใจที่ลูกสอบติดแพทย์ได้ แต่ตอนนี้เด็กที่สอบติดแพทย์ลาออกกันหมด”นายไชยา กล่าว

นายไชยา กล่าวต่อว่า การรับผิดทางอาญาหรือไม่ บางคนมีมุมมองที่ว่า การที่ช่วยให้แพทย์ไม่ต้องรับผิดทางอาญา จะทำให้แพทย์สะเพร่าไม่ตั้งใจทำงานอย่างจริงจัง ซึ่งการที่เห็นอย่างนั้น เป็นเพราะผู้เสียหายมีลูกหรือญาติที่เสียชีวิต ทำให้เสียใจ คิดตลอดเวลาว่ามีแต่ความเจ็บปวด ซึ่งควรทำใจ และอย่าเอาส่วนที่ไม่ดีมาคิด ซึ่งตนบอกเสมอว่า การจะคบใครก็ควรเอาส่วนที่ดีมาคบกัน ปัญหาต่างๆ ก็จะคลี่คลายไป

“คนที่ฟ้องร้องแพทย์ คิดว่า คนที่เรียนจบแพทย์ได้เป็นคนรวย ยกมือไหว้แล้วมีคนเอาเงินมาให้ ผมได้ไปในพื้นที่โรงพยาบาลชุมชนหลายแห่ง เห็นหมอเอาเชือกมาร้อยหูกางเกงแทนเข็มขัด เห็นแล้วก็ห่อเหี่ยวใจ ขณะที่ รพ.เอกชน แต่ละแห่ง 5 ดาว แต่งตัวดูดี แพทยชนบทกลับกางเกงมีรอยปะ หูกางเกงก็จะหลุด อาชีพแพทย์เป็นอย่างนี้หรือ แต่เขาก็ภูมิใจในงาน ภูมิใจที่อยู่ภายใต้พระบรมโพธิสมภาร” นายไชยา กล่าว

นายไชยา กล่าวด้วยว่า ส่วน พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ก็จะต้องพิจารณาว่า ผู้เสียหายพอใจในการเยียวยาและได้รับการชดเชยหรือไม่ ถือเป็นหลักของกฎหมายนี้ อย่างไรก็ดี ในวันที่ 18 มี.ค.จะยังไม่มีการพิจารณากฎหมายทั้ง 2 ฉบับ ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สำหรับเงินกองทุนชดเชยผู้เสียหายที่ได้ริเริ่มก่อตั้งขณะนี้มีเงินในกองทุน 3-4 ล้านบาทแล้ว
เนื่องจากเมื่อมีการร่างกฎหมายขึ้นมา บังคับใช้ทุกฝ่ายก็ควรจะยอมรับ โดยไม่ปฏิเสธการรับผิดจากคดีในทางแพ่งแต่อย่าให้ติดตะราง ส่วนผู้เสียหายก็ได้รับการเยียวยาอย่างเหมาะสม มีเกณฑ์คล้ายกับ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535

ด้าน นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ เลขาธิการมูลนิธิแพทย์ชนบท กล่าวว่า เป็นสิ่งที่น่าชื่นชมที่ท่านนายกฯลงมาแก้ปัญหาการฟ้องร้องแพทย์ การผลักดันกฎหมายนี้เป็นสิ่งที่ควรทำ เพราะแพทย์กำลังอยู่ในภาวะถูกกดดันทุกทางทำให้เริ่มมีการแพทย์แบบปกป้องตัวเอง ซึ่งจะส่งผลเสียต่อผู้ป่วยและมีค่าใช้จ่ายในการตรวจที่ไม่จำเป็นเพิ่มขึ้นมาก แต่ในขณะที่กำลังมีภาวะขัดแย้งสูงระหว่างผู้เสียหายทางการแพทย์และแพทย์ ควรเร่งผลักดัน พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขก่อน ซึ่งทั้งผู้ที่สูญเสียและแพทย์เองอยากให้มีโดยเร็ว จะช่วยทั้งกรณีที่เกิดความสูญเสียจากเหตุสุดวิสัยทางการแพทย์และแพทย์ไม่ได้เจตนา เช่น แพ้ยา เสียชีวิตจากการให้ยาสลบ ให้เลือดผิดหมู่ โดยมีงานวิจัยในหลายประเทศว่าวิธีนี้ประสบความสำเร็จอย่างมากในการแก้ปัญหาการฟ้องร้องแพทย์ พร้อมทั้งพัฒนาระบบการแพทย์ นำเหตุที่เกิดมาให้แพทย์เรียนรู้ป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำขึ้นอีก ส่วนกรณีที่เกิดความสูญเสีย แพทย์ก็สามารถแนะนำให้ผู้ที่สูญเสียไปรับเงินจากกองทุนชดเชยฯได้ ซึ่งจะเกิดความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน

นพ.พงศ์เทพ กล่าวต่อว่า ส่วนการผลักดันกฎหมายให้แพทย์ไม่ต้องรับผิดทางอาญา ควรทำจากนั้น 1 ปี จึงจะไม่มีผู้ที่ได้รับความสูญเสียทางการแพทย์ออกมาแสดงความเห็นคัดค้าน มิฉะนั้นอาจทำให้ความสัมพันธ์ยิ่งแย่ลงอีก ซึ่งสำหรับการแก้ปัญหาระยะสั้นในระหว่างนี้ศาลยุติธรรมได้พยายามสร้างกลไกไกล่เกลี่ยเพื่อให้คดีเข้าสู่ศาลอาญาให้น้อยที่สุด คงจะช่วยได้อีกส่วนหนึ่ง

“ขณะนี้มีความขัดแย้งกันสูง ถ้าเริ่มด้วยสิ่งที่ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันก่อนจะดีกว่า ในส่วนพระราชบัญญัติกองทุนชดเชยผู้ได้รับความเสียหายทางการแพทย์นั้น ขณะนี้ผ่านคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว ถึงขั้นตอนที่ ครม.จะนำเสนอเข้าสภาต่อไป ซึ่งยังมีปัญหาด้านงบประมาณสำหรับกองทุนชดเชยนั้น ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่นายกฯควรผลักดันของบจากสำนักงบประมาณ ถ้าทำสำเร็จจะเป็นคุณานุปการแก่ประเทศไทย” นพ.พงศ์เทพ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น