xs
xsm
sm
md
lg

พิษเลิก กรอ.เด็กไม่มีเงินเรียน สวนดุสิตลาออกแล้วร้อยละ 10

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กรอ.ทำพิษ หลังยกเลิก 1 ปีทำเด็กไม่มีเงินเรียนต่อ สวนดุสิตลาออกไปแล้วร้อยละ 10 พบส่วนใหญ่เลือกไปเรียนอาชีวะแทนเพราะได้รับทุนถ้วนหน้า

ผศ.ดร.ศิโรจน์ ผลพันธ์ธิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต (มสด.) กล่าวว่า หลังจากที่รัฐบาลมีนโยบายยกเลิกกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) ทำให้ขณะนี้ มสด.ประสบปัญหาเช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยอื่นๆ เนื่องจากนักศึกษาที่เคยได้รับทุน กรอ.ไม่มีทุนทรัพย์ที่จะศึกษาต่อ โดยในปีที่ผ่านมานักศึกษา มสด.จำนวน 1,800 คน ได้ยื่นขอทุนจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) แต่ กยศ.สามารถจัดสรรทุนการศึกษาให้กับนักศึกษาได้เพียง 700 ราย เท่านั้น โดยนักศึกษาที่ไม่ได้รับทุน กยศ.ส่วนใหญ่ติดเงื่อนไขที่ กยศ.กำหนดว่า ครอบครัวจะต้องมีรายได้ไม่เกิน 1.5 แสนบาทต่อปี ซึ่งบางครอบครัวมีรายได้เกินเพียงเล็กน้อยแต่มีลูกหลายคน ทำให้นักศึกษาจำนวนมากขาดแคลนทุนทรัพย์จนไม่สามารถเรียนต่อได้

“ปีที่ผ่านมามีนักศึกษา มสด.ขอลาออกจากมหาวิทยาลัยไปถึง ร้อยละ 10 จากจำนวนนักศึกษาทั้งหมด 5,500 คน โดยมีสาเหตุจากไม่มีเงินเรียนต่อ ซึ่งหลังการยกเลิก กรอ. มหาวิทยาลัยราชภัฏ และมหาวิทยาลัยเอกชนที่ผู้ปกครองไม่ได้มีฐานะดีมากนัก ประสบปัญหาเช่นเดียวกันหมด มีนักศึกษาลาออกจากสถาบันเพราะไม่มีเงินเรียนต่อประมาณ ร้อยละ10 แทบทุกแห่ง ซึ่งจากการติดตามนักศึกษาที่ลาออกจาก มสด.ไป พบว่าส่วนใหญ่เด็กไปศึกษาต่อในระดับประกาศนีบัตรวิชาชีพชั้นสูง หรือ ปวส.ของสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เนื่องจาก กยศ.จะจัดสรรเงินทุนให้กับนักศึกษาในสายอาชีพในสัดส่วนสูงกว่าสายอุดมศึกษา และส่วนใหญ่จะได้รับทุนอย่างทั่วถึง”

อธิการบดี มสด.กล่าวต่อไปอีกว่า ส่วนนักศึกษาบางคนที่ไม่ได้รับทุน กรอ. ซึ่งทางบ้านยังสามารถจ่ายค่าเล่าเรียนได้ แต่ไม่มีเงินสำหรับใช้จ่ายประจำวัน ทาง มสด.ได้ให้นักศึกษากลุ่มนี้ เข้ามาทำงานกับทางมหาวิทยาลัย โดยมีเงินเดือนให้เดือนละ 3,000 บาท ซึ่งต้องทำงาน 75 ชั่วโมงต่อเดือนในช่วงเวลาว่าง ก็สามารถช่วยแก้ปัญหาได้บางส่วน แต่หากทางมหาวิทยาลัยจะเข้าไปดูแลนักศึกษาที่ไม่ได้รับทุน กรอ.ทั้งหมด ต้องใช้งบประมาณถึง 40 ล้านบาท ซึ่ง มสด.ไม่สามารถแบกรับภาระไหว ตนอยากให้รัฐบาลเร่งดำเนินการเรื่องทุน กรอ.และ กยศ.โดยเร็ว เพื่อให้การให้ทุนการศึกษาครอบคลุมเด็กที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ทุกกลุ่ม และไม่กระทบต่อการเรียนของนักศึกษากลางคัน
กำลังโหลดความคิดเห็น