xs
xsm
sm
md
lg

ผลวิจัย ชี้ เหตุเตียงหักในครอบครัวไทย คู่นอกใจอันดับหนึ่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผลวิจัย ชี้ ครอบครัวไทยแตก แยกทาง เหตุคู่นอกใจอันดับหนึ่ง พบหม้อข้าวไม่ทันดำปีเดียวเลิก ใช้เวลาคิดเร็วสุดแค่ 1 เดือน นานสุด 7 ปี เกินครึ่งบอกตรงกัน ก่อนอยู่ ไม่เคยเห็นนิสัยไม่ดีของคู่ตัวเอง ไม่จดทะเบียนทิ้งคู่มากกว่ากว่าจด เด็กเศร้าคิดเทียบบ้านอื่น ทำตัวไม่ถูกขาดพ่อ-ไร้แม่ จิตแพทย์ แนะ 7 อ.อยู่หลังเลิกอย่างมีความสุข ให้อภัย อย่าโยนบาปให้ลูก เผยอยู่แบบไม่ผูกมัดเยอะขึ้น สังคมฉาบฉวย อยากรับอย่างเดียว เชื่ออนาคตประชากรไร้คุณภาพ

วันนี้ (13 มี.ค.) ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) “มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว” จัดเสวนา “บันทึกรักบทที่ 4 เลิก ร้าง อย่างสร้างสุข” โดย ผศ.ณัฏฐ์ษา สนิทวงศ์ ณ อยุธยา คณะสังคมศาสตร์สงเคราะห์และสวัสดิการสังคม. มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ กล่าวว่า การสำรวจพ่อ/แม่ เลี้ยงเดี่ยวที่ต้องเลี้ยงลูกคนเดียว 1,550 ราย 19 จังหวัดทั่วประเทศ ในเดือน ต.ค.2549 -มี.ค.2550 พบส่วนใหญ่ 73.4% เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว มีพ่อเลี้ยงเดี่ยวเพียง 1 ใน 4 มีผู้จดทะเบียนสมรสเพียง 56.7% สาเหตุการเป็นพ่อ/แม่เลี้ยงเดี่ยว มากที่สุด 40.1% เพราะหย่าร้าง 31.3% เป็นม่ายคู่เสียชีวิต 28.6% แยกทางกัน

“ระยะเวลาการใช้ชีวิตคู่ที่น้อยที่สุด คือ 1 ปี นานที่สุด 52 ปี การตัดสินใจก่อนหย่าหรือแยกทางเร็วที่สุด 1 เดือน นานที่สุด 7 ปี เหตุผลการเลือกคู่ 73.1% เลือกเพราะรัก 14% เพราะความจำเป็นอื่น เหงา อายุมากแล้ว 12.9% ความรักเป็นรองเลือกตามความเหมาะสม การเลือกเพราะเหมาะสมจะหย่าร้างสูงสุด ทั้งนี้ กลุ่มที่จดทะเบียนสมรสและไม่จด ระบุตรงกัน 48% ว่าปัญหาของคู่ตนเองคือนอกใจ ซึ่งพ่อเลี้ยงเดี่ยวจำนวนหนึ่งก็บอกว่าภรรยานอกใจ ปัญหาที่รองลงมาคือ ไม่รับผิดชอบ ติดเหล้า เล่นการพนัน”ผศ.ณัฏฐ์ษา กล่าว

ผศ.ณัฏฐ์ษา กล่าวอีกว่า กลุ่มตัวอย่างเกินครึ่งบอกว่าพฤติกรรมที่ทำให้เลิกกัน เช่น เจ้าชู้ ทำร้ายร่างกาย เล่นการพนัน ก่อนอยู่ด้วยกันไม่เคยรู้เลย ที่น่าเห็นใจ คือ พ่อ/แม่ ที่เป็นฝ่ายดูแลลูก ส่วนใหญ่ไม่ได้รับความช่วยเหลือจากคู่ตน คู่ที่ไม่จดทะเบียนสมรส จะทอดทิ้งคู่มากกว่าคู่ที่จด มีปัญหาครอบครัวมากกว่าด้วย ซึ่งสถิติการจดทะเบียนและหย่ายังห่างไกลความจริง เพราะมีการอยู่โดยไม่จดทะเบียนกว่าครึ่ง และเกิดในคนทุกชนชั้น สิ่งที่พ่อ/แม่เลี้ยงเดี่ยวเกินครึ่ง ต้องการคือบริการให้คำปรึกษา เนื่องจากส่วนใหญ่ทำตัวไม่ถูก กังวลจะเลี้ยงลูกคนเดียวอย่างไร รวมถึงเครียด

“เมื่อต้องเป็นพ่อ/แม่ เลี้ยงเดี่ยว ทั้งพ่อ แม่ และลูก บอกตรงกันว่า ความสัมพันธ์ในครอบครัวลดลง ทั้งพูดคุย ทานข้าว เพราะภาระมากขึ้น ปัญหาครอบครัวที่เจอมากที่สุดคือ การเงิน ไม่มีเวลาอบรมดูแลลูก ด้านจิตใจ เครียด เหงา ขณะที่เด็ก 72.6% ยอมรับว่า เคยเปรียบเทียบครอบครัวตัวเองกับครอบครัวอื่น และรู้สึกตรงกันว่าเสียใจที่พ่อ แม่ เลิกกัน บางคนบอกว่า ทำตัวไม่ถูกที่ต้องไปอยู่คนหนึ่ง และไม่ได้เจออีกคนหนึ่ง ไม่มีพ่อให้กราบในวันพ่อ วันแม่ ไม่มีแม่ให้กราบ” ผศ.ณัฏฐ์ษา กล่าว

ด้านพญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ ผอ.ศูนย์สุขภาพจิตที่ 13 กรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ปัญหาการใช้ชีวิตหลังแยกกันอยู่ คือ ปล่อยให้ความรู้สึกไม่ดีในอดีตทำลายปัจจุบัน วิธีปรับตัว คือ 7 อ.ได้แก่ 1.อภัยทั้งกับคู่ที่เลิกกัน อภัยให้ตัวเอง หากยังเกลียด ยังแค้น จะไม่สามารถอยู่อย่างมีความสุขได้ 2.อารมณ์ เริ่มด้วยมองโลกแง่ดี เป็นการเริ่มต้นใหม่ได้อิสระกลับมา 3.อนามัยของตัวเอง เพราะช่วงชีวิตทุกข์ บุคลิกภาพจะดูโทรมลง การดูแลร่างกาย เป็นการให้ความสุขกับตัวเอง และจะเห็นคุณค่าในตัวเองมากขึ้น 4.อาทรต่อคนรอบข้าง ช่วงเวลาทุกข์อาจไม่เห็นความรักของคนรอบข้าง ทั้งพ่อ แม่ หรือ ลูก ต้องเปิดใจรับความอาทร และอาทรผู้อื่นบ้าง จะะทำให้รู้สึกไม่โดดเดี่ยว

พญ.อัมพร กล่าวว่า ส่วน อ.ที่ 5 อาชีพ ช่วงทุกข์ประสิทธิภาพการทำงานอาจลด ควรคิดถึงการสร้างอาชีพให้มั่นคง 6.อำนาจ ให้คิดว่าเมื่อเลิกกันก็ควบคุมชีวิตตนเองได้ 7.อดทน เพราะพูดง่ายทำยาก เช่น อภัย ให้โอกาสตัวเอง ส่วนการดูแลบุตรเมื่อต้องเป็นพ่อ/แม่เลี้ยงเดี่ยวคือ ให้เด็กรู้สึกถึงความรักจากทั้ง พ่อ และ แม่ ให้รู้ว่าโตมาจากความรัก ปัญหาคือถ้ายังไม่อภัยคู่ของตน มักไปลงที่ลูก ควรคิดว่าไม่มีใครดีที่สุด หรือคนดีอาจไม่เหมาะกับเรา และแม้จะทำดีที่สุดแล้ว อาจยังไม่เหมาะกับคนอื่นก็ได้ และสร้างโอกาสดูแลลูกร่วมกัน ให้ลูกมั่นใจจะดำเนินชีวิตต่อ เพราะรู้ว่ามีความรักจากพ่อและแม่ ซึ่งจะทำให้เด็กไม่สร้างปัญหาสังคมในภายหลัง

“ปัจจุบันมีครอบครัวแบบไม่ผูกมัด อยู่ด้วยกันแต่ไม่แต่งงาน หรือแต่งแต่ไม่จดทะเบียนสมรส เพราะสังคมชอบความอิสระ เป็นปัจเจกมากขึ้น มีความสัมพันธ์ฉาบฉวย อยากรับ แต่ไม่อยากให้ หาทางเลือกให้ตัวเองมีความสุข ไม่ผูกมัดกัน ยึดถืออิสระ สิ่งเหล่านี้ถือเป็นปัญหาและมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น กระทบต่อโครงสร้างสังคม ที่จะมีประชากรโลกลดลง และประชาชนจะไม่มีคุณภาพ เพราะคนที่ขาดโอกาสทางการศึกษา สังคม จะกลายเป็นกลุ่มที่ไม่มีทางเลือก ใช้ชีวิตอย่างธรรมชาติ มีลูกโดยไม่วางแผน ขณะที่กลุ่มคนที่มีความพร้อมกลับเลือกที่จะไม่มีลูก ทำให้คุณภาพประชากรลดลง เกิดเป็นปัญหาสังคมวนเวียนกันในที่สุด” พญ.อัมพร กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น