xs
xsm
sm
md
lg

“คุณหญิงวงศ์จันทร์” บุก ศธ.ร้องบรรจุภาษาที่ 2 ใน PAT 7

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คุณหญิงวงศ์จันทร์ บุก ศธ.เรียกร้องให้บรรจุภาษาต่างประเทศที่ 2 ไว้ใน PAT 7 โดยนำผลประชาพิจารณ์มายืนยันว่า หากไม่มีการสอบภาษาที่ 2 เด็กมัธยมจะเลือกเรียนภาษาน้อยลง อย่าง ร.ร.ศรีอยุธยา แว่วว่าเลิกสอนภาษาฝรั่งเศส ด้าน บุญลือ ตั้งคณะทำงานมาศึกษาเรื่องนี้


วันนี้ (12 มี.ค.) ที่กระทรวงศึกษาธิการ คุณหญิงวงศ์จันทร์ พินัยนิติศาสตร์ อุปนายกสมาคมครูสอนภาษาฝรั่งเศสแห่งประเทศไทย เปิดเผยภายหลังเข้าพบนายบุญลือ ประเสริฐโสภา รมช.ศธ.ว่า ขอให้พิจารณาว่าควรมีการวัดผลการศึกษาของนักเรียนที่เลือกเรียนภาษาที่ 2 และให้นำเรื่องความถนัดด้านภาษาต่างประเทศที่ 2 ไปกำหนดเพิ่มในกลุ่มของการทดสอบความถนัดเฉพาะด้าน (Professional Aptitude Test หรือ PAT) เป็น PAT 7 จากเดิมที่สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ได้กำหนด PAT ไว้แล้ว 6 กลุ่ม คือ PAT 1 ศักยภาพทางคณิตศาสตร์ PAT 2 วัดศักยภาพทางวิทยาศาสตร์ PAT 3 ศักยภาพทางวิศวกรรมศาสตร์ PAT 4 ศักยภาพด้านครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ PAT 5 ศักยภาพทางด้านศิลปกรรมศาสตร์ และ PAT 6 ศักยภาพทางด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์

ซึ่งตนได้นำผลการประชาพิจารณ์เรื่อง “การวัดศักยภาพภาษาต่างประเทศที่ 2 ในระบบแอดมิชชัน ปี 2553” เมื่อวันที่ 1 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยมีคณาจารย์ผู้สอนภาษาฝรั่งเศส เยอรมัน จีน ญี่ปุ่น ฝ่ายบริหารของโรงเรียนมัธยมศึกษา นิสิต-นักศึกษา พญ.กมลพรรณ ชีวพันธุศรี นายกสมาคมเครือข่ายผู้ปกครองแห่งชาติ มีความเห็นในทิศทางเดียวกันว่าควรบรรจุการวัดศักยภาพความถนัดภาษาต่างประเทศที่ 2 ในการสอบแอดมิชชัน ปี 2553 ด้วย

คุณหญิงวงศ์จันทร์ กล่าวถึงการที่ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ระบุว่า การวัดผลศักยภาพภาษาต่างประเทศที่ 2 มีอยู่ในคะแนนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตร (GPAX) นั้น ต้องมองมาตรฐานการให้เกรดของแต่ละแห่งไม่เท่ากัน แล้วจะเชื่อมั่นได้อย่างไรว่าคะแนน GPAX จะเป็นตัวสะท้อนศักยภาพที่ดีได้ และน้ำหนักของภาษาต่างประเทศที่ 2 ใน GPAX ไม่น่าจะเพียงพอที่จะใช้วัดศักยภาพและความถนัดได้ แต่ขณะที่การวัดศักยภาพทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ก็มีการวัดผลรวมใน GPAX ยังมีการกำหนดแยกมาเป็น PAT 1 และ PAT 2 ในแอดมิชชั่นส์ ปี 2553 ดังนั้นจึงไม่ยุติธรรมที่เด็กในสายมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ไม่มีการวัดศักยภาพตามความถนัดที่เลือกเรียนภาษาต่างประเทศที่ 2

“ไทยต้องการสร้างบุคคลมาเพื่อเข้าในเวทีการแข่งขันของโลกแต่กลับเมินเฉยต่อการสนับสนุนเยาวชนเราเรียนภาษาต่างประเทศอื่น นอกเหนือจากภาษาอังกฤษ จริงอยู่ที่ภาษาอังกฤษสำคัญแต่การรู้ภาษาต่างประเทศมากกว่า 1 ภาษาเป็นสิ่งจำเป็น และหากไม่ให้ความสำคัญต่อไปเด็กจะเลิกสนใจเพราะเรียนไปไม่ได้นำไปใช้ ขณะเดียวกันโรงเรียนมัธยมจะลังเลว่าควรเปิดให้เด็กเรียนหรือไม่ เชื่อว่าหลังจากเปิดเทอมปีการศึกษา 2551 จำนวนนักเรียน ที่เลือกเรียนสายศิลป์ภาษาจะลดลง”

คุณหญิงวงศ์จันทร์ อธิบายว่า เพราะแอดมิชชันปี 2553 ไม่จัดให้ประเมินผลภาษาต่างประเทศที่ 2 ฉะนั้นโรงเรียนขนาดใหญ่ที่เคยสอนภาษาฝรั่งเศสบางโรงต้องเลิกสอนภาษาฝรั่งเศส เช่น โรงเรียนศรีอยุธยาที่สอนภาษาฝรั่งเศสมานานได้ข่าวว่าเทอมหน้าจะไม่มีการสอนภาษาฝรั่งเศส ซึ่งตนจะให้ ดร.มณฑล สงวนเสริมศรี ประธาน ทปอ.พิจารณารอบคอบถี่ถ้วน โดยให้คำนึงถึงผลกระทบที่เกิดในอนาคต

ด้าน นายบุญลือ กล่าวว่า ตนห็นความสำคัญของการเรียนภาษาต่างประเทศที่ 2 และปัญหาดังกล่าวตนจะตั้งคณะทำงานไปศึกษาผลประชาพิจารณ์ที่ทาง คุณหญิงวงศ์จันทร์ นำมามอบให้ และจะหารือกับผู้ที่เกี่ยวทุกภาคส่วน


กำลังโหลดความคิดเห็น