หากกล่าวถึงประเภทรูปแบบละครที่กำลังได้รับความนิยมในวงกว้างอย่างมากในปัจจุบัน หลีกไม่พ้น ละครซิตคอม (Situation Comedy) เพราะจากการเก็บข้อมูลจากเทปโทรทัศน์ที่ออกอากาศช่วงเดือนกันยายน-ธันวาคม ปีที่ผ่านมา โดยโครงการศึกษาและเฝ้าระวังสื่อเพื่อสุขภาวะของสังคม หรือมิเดียมอนิเตอร์ พบว่า ฟรีทีวี 6 ช่องมีซิตคอมที่ฉายอยู่ 14 เรื่องจาก 7 ค่าย
*** เสียงหัวเราะเจืออคติเกลื่อนจอ
ผศ.ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ ผู้อำนวยการโครงการศึกษาและเฝ้าระวังสื่อเพื่อสุขภาวะของสังคมบอกถึงผลการศึกษา “อคติและภาพตัวแทนในละครซิตคอม” ว่า แก่นหลักของซิตคอม คือ เหตุการณ์ที่เป็นตัวกำหนดเรื่องราว ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับครอบครัว ความสัมพันธ์ของคนเมืองในลักษณะเพื่อนบ้าน หัวหน้างาน โดยตัวละครหลักจะเป็นชนชั้นกลาง ศูนย์กลางของเรื่องจะเน้นไปที่ตัวละครชายมากกว่าตัวละครหญิง ซึ่งเพิ่มให้สถานการณ์มีความสนุกสนานมากกว่าละครทั่วไป ด้วยตัวละครที่ให้ภาพตัวแทนเป็นสาวเซ็กซี่ คนพิการ หรือลักษณะเด่นของนักแสดงประกอบ อาทิ ผิวดำ ตัวเตี้ย การล้อชื่อพ่อแม่ และมุกตลกคาเฟ่ เป็นต้น
สิ่งหนึ่งที่พบในซิตคอม คือ อคติทางเชื้อชาติ และอคติทางเพศ ภาพตัวแทนของคนอีสานที่มองแบบเหมารวมและยึดติดไว้อย่างถาวรตายตัว เช่น เมื่อพูดถึงคนอีสานจะนึกถึงภาพของคนที่ด้อยการศึกษา จน คนที่จะต้องมีอาชีพเป็นคนใช้ ขับวินมอเตอร์ไซค์ เป็นต้น ซึ่งการฉายความคิดนี้ซ้ำๆ จะทำให้เกิดความเชื่อว่าคนอีสานเป็นเช่นนี้ไปโดยธรรมชาติ ส่วนอคติทางเพศที่เกิดขึ้นนั้น เกิดจากการสร้างตัวละครหญิงที่มีหน้าที่การงานด้อยกว่าเพศชาย และปรากฏอคติและการเหยียดเพศที่ 3 อย่างเด่นชัด เช่น ตัวละครจะถูกกำหนดให้เป็นตัวตลกโดยมีระดับความเข้มข้นของพฤติกรรมที่วี้ดว้าย กระตู้วู้ บ้าผู้ชาย พูดลามกได้สนุกปาก หรือแต่งตัวประหลาด เช่น ตัวละครชื่อก๊อบ ในละครเรื่องเป็นต่อ นอกจากนี้อคติความงาม การเหยียดรูปร่างหน้าตา ที่แสดงออกจากตัวละครชายที่มีต่อตัวละครหญิงแสดงความไม่เท่าเทียมในเชิงคุณค่า เกือบทุกเรื่องใช้มุกตลกล้อเลียนโดยคำด่าเกี่ยวกับหน้าตาปรากฏแทบจะทุก 2-3 นาทีในซิตคอมบางเรื่อง
***ดูซ้ำๆ ชี้นำ ย้ำความเชื่อ
นพ.กัมปนาท ตันสิถบุตรกุล จิตแพทย์ กล่าวว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงในละคร ก็คือ ปัญหาการใช้ความรุนแรง หรือสารเสพติด เพราะไม่ว่าจะเป็นละครประเภทใด ซิตคอม หรือหลังข่าวก็ไม่มีความแตกต่างกัน โครงเรื่อง ลักษณะตัวละครก็ไม่ต่าง เพียงแค่เพิ่มอารมณ์ขันเข้าไปเท่านั้น ซึ่งการฉายซ้ำ หรือการตอกย้ำซ้ำในระยะเวลาประมาณ 2-3 เดือน คตินั้นจึงจะทำงานโดยอัตโนมัติ
“การใช้ฉากในเมือง หรือการกระทำใดๆ ไม่ว่าจะเป็นการดูถูก ล้อเลียน หากถูกนำมาใช้ซ้ำ หรือพูดทุกตอนก็จะมีผลต่อคนดูอยู่แล้ว และการติดนี้ก็จะเหมือนอาการติดยา เสพจนชิน เมื่อไม่ได้ดูหรือไม่มีการกระทำที่เคยเห็นก็จะหงุดหงิด อคติจึงทำงานจึงค่อยๆ แฝงไปในเสียงหัวเราะ แม้จะไม่อันตรายต่อคนดู แต่มันเป็นการถ่ายทอดทางสังคม จึงนับว่ามีผลกระทบระยะยาว”
นพ.กัมปนาท กล่าวต่อว่า หากจะลดจะต้องงดรายการประเภทนี้โดยใช้ระยะเวลานานประมาณ 1 ปี เพื่อปรับสภาพจิตใจให้ไร้อคติ ในเวลาเดียวกันก็ต้องเลือกรับสิ่งที่มีประโยชน์และมองคนให้หลากหลายมากขึ้น
“วิธีดูละครให้สนุก คือ จะต้องดูว่าตัวละครแต่ละตัวมีบุคลิกภาพการแสดงออก มีวิธีการคิด และการแก้ปัญหาอย่างไร มากกว่าจะคอยดูว่าจะมีฉากรุนแรงเมื่อใด การตอบโต้ของตัวละครจะเป็นอย่างไร” จิตแพทย์ กล่าว
***ทางออกของอารมณ์ขัน
ผศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านสตรีศึกษา ให้ความเห็นว่า ปฏิเสธไม่ได้ว่าละครซิตคอมเป็นสื่อที่สร้างเสียงหัวเราะให้แก่คนหมู่มาก แต่นั่นอาจจะทำให้เกิดความเคยชินและสะท้อนคติให้ฝังในระบบความคิด จะเห็นว่าซิตคอมทำหน้าที่ลดลักษณะของบุคคลให้เหลือเพียงจุดเดียว ทั้งๆ ที่คนมีหลายมิติ แต่ละครเลือกแค่เพียงลักษณะเดียวมาสื่อซ้ำแล้วซ้ำอีก
“ภาพตัวแทนมีอิทธิพลมาก การแบ่งแยกและเปรียบเทียบมันก็ตอกย้ำส่วนหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตาม ภาพตัวแทนมีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ปรับไปตามสภาพสังคมในเวลานั้นๆ และยังมีผลต่อการเคลื่อนไหวของสังคมในเวลานั้นด้วย แต่ทั้งนี้ความหลากหลายก็ยังมีไม่พอ”
ผู้เชี่ยวชาญด้านสตรีศึกษา เสนอเทคนิคสำหรับผู้ผลิตละครและผู้ชมละครซิตคอมเพื่อเปลี่ยนภาพตัวแทนง่ายๆ ว่ามี 3 วิธี ได้แก่ 1.สามารถนำผู้ที่มีภาพด้อยกว่ามาเป็นตัวเอกในสังคม แทนที่จะเป็นตัวประกอบ เช่น ระเบิดเถิดเทิงที่มีตัวเอกเป็นคนธรรมดา 2.แทนที่ภาพบวกลงในภาพลบ เช่น คนมักจะพูดว่าผอมเท่านั้นจึงจะสวย แต่หากใส่ความคิดที่ว่าถึงอ้วนก็สวยได้ แล้วให้ความหมายย้ำๆ ก็สามารถที่จะสร้างภาพบวกได้เช่นกัน และ 3.คงภาพตัวแทนเดิมไว้ แต่เดิมสิ่งที่เป็นมิติและความหมายลงไปในตัวละครมากขึ้น เนื้อเรื่องในแต่ละตอนจะต้องมีการคลี่คลายให้เพิ่มความหมายของการล้อเลียนหรือมีสาระให้มากกว่ามุกตลก
“ผู้ชมจะต้องมีการเรียนรู้ในซิตคอมมากขึ้น อาจจะทำให้เราเข้าใจ ยอมรับ และเคารพในความแตกต่างหลากหลายในการอยู่ร่วมกันในสังคมมากขึ้น ซึ่งนี่เองจะทำให้สังคมดีขึ้นมาเอง” ผศ.ดร.วิลาสินี แนะ
ขณะที่ ผศ.ดร.อัศวิน เนตรโพธิ์แก้ว ผู้อำนวยการดุษฎีบัณฑิตทางนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่า ซิตคอมเป็นละครที่มีอิทธิพลมากในการศึกษาความเป็นไปในสังคม โดยสถานการณ์หรรษา เนื่องจากเค้าโครงเรื่องสร้างมาจากสถานการณ์ปัจจุบันที่สังคมกำลังเป็นอยู่ แต่ทุกสิ่งทุกอย่างก็คือมายาภาพที่ผ่านการสร้างสรรค์ทางกระบวนการผลิตไปแล้วนั่นเอง เพราะฉะนั้นเมื่อมองให้ลึก ภาพเหล่านี้จะมีมายาคติแฝงอยู่ แต่เราจะทำอย่างไรที่จะหมุนให้ความเชื่อเหล่านี้เป็นภาพบวก และเป็นประโยชน์ต่อสังคม
“ประเด็นชนชั้นเป็นอีกมิติหนึ่งที่น่าสนใจ แม้จะพูดว่าไม่มีการแบ่งแยก แต่โดยคำหรือวลีทำให้ได้รู้ว่าแท้จริงแล้ว เมืองไทยมีการแบ่งชนชั้นอยู่ เพียงแต่ละครที่อยู่ในซิตคอมจะไม่ทำให้คนแต่ละชนชั้นเชื่อมเข้าหากัน หรือเป็นมิตรกัน อาจจะเห็นไม่ตรงกัน แต่อยู่ด้วยกันในสังคมได้อย่างไม่มีปัญหา เชื่อว่าแม้แต่ละครตลกก็จะช่วยได้ในเรื่องนี้”ผศ.ดร.อัศวิน กล่าวทิ้งท้าย
แม้ซิตคอมจะมีไม่มากนัก เมื่อเทียบกับรายการอื่นๆ แต่พลังอำนาจจากเสียงหัวเราะมิได้หมายความว่าจะไม่ส่งผลใดต่อสังคมเลย ตรงกันข้ามเสียงหัวเราะนั้นกลับแฝงด้วยความคิด ความเชื่อ และความรุนแรงบางอย่างเอาไว้ ทุกๆ ครั้งที่เสียงหัวเราะในซิตคอมเกิดขึ้นมันได้สร้าง และผลิตซ้ำความไม่เท่าเทียมของคนในมิติต่างๆ เอาไว้ ได้แต่หวังว่าการสั่นของเส้นเสียงหัวเราะต่อไปคนดูจะได้ฉุกคิดว่ามีอะไรแฝงอยู่ การดูละครคงไม่สะดุดนัก