อดีต ส.ส.ร.ชี้ รัฐบาลโยกย้ายข้าราชการ ส่อขัดรัฐธรรมนูญ เหตุใช้อำนาจมิชอบ ยุล่าชื่อถอดถอน-ยื่นผู้ตรวจการสภา สอบจริยธรรม
นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ อดีตรองประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงกรณีการโยกย้ายข้าราชการ ว่า การใช้อำนาจของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือรัฐมนตรี ต้องไม่ขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ แต่การโยกย้ายข้าราชการขณะนี้ได้เกิดคำถามว่าอาจเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ใน 5 มาตรา คือ 1.มาตรา 3 ที่ระบุว่า การปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานของรัฐ ต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม จึงเป็นคำถามถึงการใช้อำนาจโยกย้าย ว่า เป็นไปตามหลักนิติธรรมหรือไม่ 2.มาตรา 266 ระบุว่า ส.ส.และ ส.ว.ต้องไม่ใช้อำนาจก้าวก่าย หรือแทรกแซงเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง และผู้อื่นโดยการบรรจุโยกย้ายข้าราชการ ตำแหน่งของข้าราชการ
ทั้งนี้ กรณีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สั่งย้าย นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ อดีตเลขาธิการมูลนิธิแพทย์ชนบท ข้าราชการระดับ 8 ด้วยวาจา โดยให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขย้ายมาอยู่หน้าห้องรัฐมนตรี ถือเป็นการก้าวก่ายและแทรกแซงอย่างชัดเจน เพราะรัฐมนตรีมีอำนาจโยกย้ายข้าราชการในระดับ 10 และ 11 เท่านั้น ส่วนข้าราชการระดับ 8 เป็นหน้าที่ของปลัดกระทรวง
นพ.ชูชัย กล่าวว่า 3.มาตรา 270 กรณีการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่ส่อในทางทุจริตต่อหน้าที่ ซึ่งการโยกย้าย นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล ออกจากตำแหน่งเลขาธิการ อย. โดยให้เหตุผลว่าไม่สนองต่อนโยบาย โดยไม่ระบุนโยบายที่ชัดเจน อาจเข้าข่ายการทุจริตต่อหน้าที่ 4.มาตรา 279 ที่ระบุถึงจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ว่า การโยกย้าย เลื่อนตำแหน่ง และการลงโทษ ต้องเป็นไปตามระบบคุณธรรมและคำนึงถึงพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลดังกล่าวด้วย จึงต้องพิจารณาว่า การย้าย นพ.ศิริวัฒน์ ที่ไม่มีประวัติมัวหมองและเป็นที่ประจักษ์ต่อสังคมถูกต้องหรือไม่ และ 5.ในมาตรา 64 วรรค 2 ระบุว่า ข้าราชการมีเสรีภาพในการรวมกลุ่มเช่นเดียวกับคนทั่วไป โดยไม่กระทบต่อประสิทธิภาพในการบริหารราชการแผ่นดินและบริการสาธารณะ ซึ่งการที่มีคำสั่งถึงข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ ห้ามลงชื่อถอดถอนนั้น ถือว่าอาจขัดต่อกฎหมาย และการเคลื่อนไหวของแพทย์ชนบทก็ไม่ได้ใช่เวลาราชการ และไม่ได้เรียกร้องเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน
“ขอเรียกร้องไปยังข้าราชการในกระทรวงสาธารณสุขว่า ไม่ต้องกลัวการข่มขู่จากการใช้อำนาจบาตรใหญ่ เพราะบ้านเมืองเราไม่ใช่บ้านป่าเมืองเถื่อน นอกจากนี้ เครือข่ายผู้ป่วย เครือข่ายประชาคมสุขภาพ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เครือข่ายแพทย์ชนบท สามารถดำเนินการเข้าชื่อถอดถอนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เสนอต่อประธานวุฒิสภาได้ รวมถึงการร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภาถึงจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพราะการโยกย้ายข้าราชการที่มีคุณธรรม เชื่อว่า จะนำสู่ความรุนแรงในไม่ช้า เพราะประชาชนเริ่มมีความรู้สึกไม่พอใจถึงความไม่เป็นธรรมเกิดขึ้น” นพ.ชูชัย กล่าว