รมช.สาธารณสุข หนุนแพทย์ไทยและแพทย์ทางเลือก เร่งผลิตหมอนวดป้อนตลาดทั้งในและนอกประเทศ เนื่องจากการนวดเป็นได้ทั้งการรักษา บรรเทา ฟื้นฟู และส่งเสริมสุขภาพ ชี้เป็นอาชีพที่รายได้งาม ส่งมอบบริการได้ถึงบ้าน โกยเงินได้ปีละกว่าพันล้านบาท
นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า จากรายงานของกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก พบว่า ขณะนี้การนวดแผนไทยกำลังเป็นที่นิยมทั้งในและต่างประเทศ สามารถสร้างรายได้เข้าประเทศได้มากถึงปีละกว่า 1,200 ล้านบาท โดยหมอนวดไทยเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศอย่างมาก จึงควรส่งเสริมให้มีการฝึกอบรมหมอนวดแผนไทย เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของตลาดแรงงาน
ทั้งนี้ การนวดสามารถส่งเสริมสุขภาพ บรรเทา รักษา หรือฟื้นฟูอาการเจ็บป่วยได้หลายโรค โดยมีกลุ่มอาการที่นวดแล้วหายขาด เช่น หัวไหล่ติด อักเสบเฉียบพลัน ข้อเท้าแพลง สันนิบาตมือ-เท้าตก สันนิบาตตาตก ปวดคอ ตะคริวน่อง และยังมีอาการป่วยที่สามารถนวดบรรเทาอาการได้ เช่น อาการปวดเข่าเฉียบพลันหรือเรื้อรัง สมรรถภาพทางเพศชายหย่อน (Erectile dysfunction) และยังใช้การนวดเพื่อป้องกันหรือแก้ไขโรคแทรกซ้อนได้ เช่น โรคพาร์กินสัน โรคอัมพาตครึ่งซีก โรคอัมพฤกษ์ครึ่งซีก ซึ่งมักจะพบในผู้สูงอายุเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งขณะนี้ทั่วโลกรวมทั้งไทยกำลังมีจำนวนผู้สูงอายุมากขึ้น มั่นใจว่าการนวดแผนไทย จะเป็นอาชีพที่เป็นที่ต้องการของสังคม และสามารถไปให้บริการถึงบ้านได้ แตกต่างจากหมอแผนปัจจุบัน ซึ่งมักจะให้บริการที่สถานพยาบาลมากกว่า
ด้านนพ.ลือชา วนรัตน์ อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ขณะนี้ กรมพัฒน์ฯ ผลิตหมอนวดหลักสูตร 800 ชั่วโมง ซึ่งมีคุณภาพทั้งด้านวิชาการและมีทักษะการนวดไทย เป็นหลักสูตรสูงสุดของการนวดไทยในปัจจุบัน สามารถสอบใบประกอบโรคศิลปะ สาขาการแพทย์แผนไทย ประเภทการนวดไทยได้ หลักสูตรดังกล่าวมีการเรียนด้านภาษาอังกฤษและคอมพิวเตอร์เพิ่มจากทักษะอื่น ผลิตแล้วจำนวน 6 รุ่น ประมาณ 500 คน กระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาค
นอกจากนี้ ได้ร่วมกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงานฯ จัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สาขาการนวดไทย มี 3 หลักสูตร คือ หลักสูตร 150 ชั่วโมงไม่เกิน 330 ชั่วโมง หลักสูตร 330 ชั่วโมงขึ้นไป ไม่เกิน 800 ชั่วโมง และหลักสูตรมากกว่า 800 ชั่วโมง มีความรู้ระดับขั้นชำนาญ สามารถเดินทางไปประกอบอาชีพที่ต่างประเทศได้
นพ.ลือชา กล่าวต่อว่า สำหรับการเปิดบริการการนวดเพื่อบำบัด รักษา ฟื้นฟูในสถานพยาบาลต่างๆ ควบคู่กับการแพทย์แผนปัจจุบัน ขณะนี้สามารถดำเนินการได้ประมาณร้อยละ 70 ของสถานบริการ โดยให้บริการนวดตัว นวดเท้า อัตราค่าบริการครั้งละ 200 และ 150 บาท การอบ ประคบสมุนไพรครั้งละ 100 บาท