xs
xsm
sm
md
lg

อย.เตรียมเฉ่งกาแฟปลุกนกเขา ชี้โฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อย.เตรียมเฉ่งกาแฟปลุกนกเขา ชี้โฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาต โอ้อวดเกินจริง จำหน่ายอาหารไม่บริสุทธิ์ เตือนประชาชนอย่าตกเป็นเหยื่อ ย้ำไม่มีอาหารหรือยาที่ทำให้ซู่ซ่าได้


นพ.นิพนธ์ โพธิ์พัฒนชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า จากการตรวจสอบกาแฟสมุนไพร เมจิค เมนที่ผสมสมุนไพรจีนเก๋ากี้ หรือที่เรียกกันว่า ฮ่วยกี้ โดยอ้างว่าดื่มแล้วจะช่วยเสริมสมรรถภาพทางเพศ ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลจากการศึกษาวิจัยที่สรุปได้ว่าช่วยในเรื่องการเพิ่มสมรรถภาพทางเพศได้ ทั้งนี้ หาก อย.จะทำการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ดังกล่าวด้วยว่าผู้ประกอบการรายนี้มีส่วนรู้เห็นกับการโฆษณาที่โอ้อวดสรรพคุณเกินจริง และหลอกลวงประชาชนหรือไม่ ซึ่งหากพิสูจน์ได้ว่าผู้ประกอบการมีเจตนาที่จะจัดทำโฆษณาที่จะโอ้อวดเป็นเท็จ ซึ่งบริษัทและผู้จัดจำหน่ายอาจมีความผิด 3 ข้อหาด้วยกัน

“ข้อแรกหากโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท และหากโฆษณาโอ้อวดเป็นเท็จเกินจริง จำคุก 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และ 3 หากส่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบว่า มีการเติมสารอื่นลงไปในอาหาร ถือว่ามีความผิดฐานจำหน่ายอาหารที่ไม่บริสุทธิ์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งผู้นำเข้าและผู้จำหน่ายด้วย” นพ.นิพนธ์ กล่าว

นพ.นิพนธ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ จากการตรวจเลขสารบบอาหารดังกล่าวพบว่าบริษัทนำเข้าโดยบริษัท บี ที เลขที่ 169/98 อาคารเสริมทรัพย์ ถนนรัชดาภิเษก แขวง/เขตดินแดง กทม.ได้ขอจดทะเบียนกับ อย.ในชื่อกาแฟสำเร็จรูปตรา เพาเวอร์ บีที ผลิตในประเทศจีน ซึ่ง อย.ได้ไปยังบริษัทดังกล่าวเก็บตัวอย่างมาส่งให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจหาสารอื่นๆ ในกาแฟและป็นหลักฐานในการดำเนินคดีด้วย

“ไม่มีอาหารหรือยาใดที่ช่วยเสริมสมรรถภาพทางเพศได้อย่างถาวร เว้นแต่จะรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงสมบูรณ์ จิตใจแจ่มใส ทานอาหารครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เมื่อร่างกายสมบูรณ์ระดับฮอร์โมนในร่างกายก็จะดีและสุขภาพทางเพศก็จะดีเอง รวมถึงที่ผ่านมากว่า 100 ปี ที่รู้จักกาแฟก็ไม่ได้เคยมีข้อมูลในประวัติศาสตร์ว่าดื่มกาแฟแล้วจะเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ ซึ่งไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ใดๆ มายืนยันด้วยจนถึงขณะนี้” นพ.นิพนธ์ กล่าว

นพ.นิพนธ์ กล่าวด้วยว่า เครื่องหมายรับรองจาก อย.เป็นเพียงการประเมินในเรื่องคุณภาพมาตรฐานผลิตภัณฑ์ว่าปลอดภัย เป็นไปตามข้อกำหนดของกฎหมาย แต่ไม่ได้รวมถึงการอนุญาตในการโฆษณาประโยชน์สรรพคุณอวดอ้างในเชิงรักษาโรคแต่อย่างใด ขอเตือนประชาชนอย่างหลงเชื่อ หากพบโทร.แจ้งได้ที่ สายด่วน อย.1556 หรือที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนั้นๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น