xs
xsm
sm
md
lg

“สมชาย-บุญลือ” พอใจตรวจสนามโอเน็ต แต่ยังพบเด็กไม่ได้เข้าสอบอีกเป็นพัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“สมชาย-บุญลือ” พอใจหลังลงพื้นที่เยี่ยมสนามสอบโอเน็ตใน กทม.ผอ.สทศ.เผยมีเด็กที่มีเหตุสุดวิสัยไม่ได้มาสอบ 5 ราย ขณะที่ 1 พันรายไม่รายชื่อเตรียมเข้าหารือในที่ประชุม สทศ.เพื่อแก้ปัญหา รมว.ศธ.กำชับจัดสอบให้เด็กที่มีเหตุสุดวิสัย เพื่อให้โอกาสเด็ก

เมื่อเวลา 10.00 น.วันนี้ (29 ก.พ.) นายบุญลือ ประเสริฐโสภา รมช.ศึกษาธิการ พร้อมด้วยนางอุทุมพร จามรมาน ผู้อำนวยการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ได้เดินทางตรวจเยี่ยมการจัดสอบแบบทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) ประจำปี 2550 สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ซึ่งเป็นวันแรกของการสอบโอเน็ต ที่สนามสอบโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรี จ.นนทบุรี

นายบุญลือ กล่าวว่า การดำเนินการจัดสอบเป็นไปด้วยความเรียบร้อยดี และเท่าที่ได้พูดคุยกับนักเรียนที่เข้าสอบ พบว่า นักเรียนมีความพร้อม และเตรียมตัวในการเข้าสอบเป็นอย่างดี และอยากฝากถึงนักเรียนชั้น ม.6 ทุกคน ว่า ขณะนี้มีสถาบันอุดมศึกษาที่จะรองรับนักเรียนที่ต้องการจะเข้าเรียนมหาวิทยาลัยเป็นจำนวนมาก ดังนั้น จึงไม่อยากให้ไปยึดติด ว่าจะต้องเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงเท่านั้น และเมื่อพลาดหวังจากการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยในระบบกลางการรับนิสิต นักศึกษา หรือแอดมิสชั่น ก็ยังมีทางเลือกอีกมาก เพราะจุดนี้ไม่ใช่สิ่งทุดท้ายในชีวิต แต่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของชีวิต ที่จะต้องก้าวต่อไป ซึ่งการตรวจเยี่ยมสนามสอบปีนี้ได้เชิญนักร้องขวัญใจวัยรุ่น “เนส” นายธนดล นิลนพรัตน์ ศิลปินสังกัดแกรมมี่ มาร่วมเป็นกำลังใจ และเป็นแบบอย่างให้กับนักเรียนที่เข้าสอบโอเน็ตในครั้งนี้ด้วย

ด้าน นางอุทุมพร กล่าวว่า ขณะนี้มีปัญหานักเรียนประมาณ 1,000 คน ไม่สามารถเข้าสอบโอเน็ตได้ เนื่องจากไม่มีรายชื่อ ประกอบด้วย นักเรียนโรงเรียนมัธยมศึกษาทั่วไป นักเรียนสายอาชีวศึกษาและการศึกษานอกโรงเรียน และกลุ่มนักเรียนที่เกิดเหตุสุดวิสัยซึ่งขณะนี้แจ้งเข้ามาจำนวน 5 ราย เป็นเด็กที่ป่วยรอผ่าตัดมะเร็ง ประสบอุบัติเหตุ อย่างไรก็ตามปัญหาดังกล่าวจะนำเข้าพิจารณาในการประชุมคณะกรรมการ สทศ.ในวันที่ 7 มี.ค.นี้ เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาต่อไป
เบื้องต้นคาดว่า สทศ.จะต้องจัดสอบให้เด็กกลุ่มนี้ แต่ต้องพิจารณาถึงการดำเนินการ และค่าใช้จ่ายด้วย ว่าใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ แต่ดูแนวโน้มแล้ว สทศ.คงจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง เพราะไม่อยากผลักภาระให้เด็ก ทั้งนี้ คาดว่าจะต้องใช้งบประมาณในการดำเนินการจัดสอบให้กับเด็กกลุ่มนี้ประมาณ 50 ล้านบาท อย่างไรก็ตามขณะนี้ได้ประสานไปยังโรงเรียนของนักเรียนที่ปัญหาสุดวิสัยจนสอบไมได้ให้แจ้งรายชื่อนักเรียนมาภายในวันที่ 4 มีนาคมและกรณีนักเรียนที่รายชื่อตกหล่นแจ้งมาภายในวันที่ 5 มีนาคมนี้

ผอ.สทศ.กล่าวด้วยว่าสำหรับกรณีนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 1 หมื่นกว่าคนที่เป็นเด็กตกหล่นเนื่องจากสถานศึกษาไม่ได้คีย์ข้อมูลการสอบโอเน็ตผ่านทางระบบอินเทอร์เน็ตต้องมาพิจารณาว่าจะมีการสอบให้ภายหลังวันสอบโอเน็ต ป.6 ในวันที่ 4 มีนาคมนี้หรือไม่ เพราะที่ผ่านมาทางโรงเรียนเองก็ไม่ได้สนใจที่จะสอบและคิดว่าไม่ได้นำผลคะแนนไปใช้อะไรซึ่งหากจะจัดสอบจะต้องใช้งบประมาณมากถึง 200 ล้านบาทซึ่งในส่วนนี้สทศ.เองคงไม่รับผิดชอบค่าใช้จ่ายแต่หน่วยงานต้นสังกัดของโรงเรียนควรรับผิดชอบงบประมาณเอง ซึ่ง สทศ.จะนำเรื่องนี้ไปพิจารณาไปที่ประชุมคณะกรรมการ สทศ.ด้วย

“เท่าที่ได้รับรายงานจากศูนย์สอบต่างๆ เรียบร้อยดี ส่วนสนามสอบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รับรายงานว่ามีปัญหานักเรียนจำนวน 13 คน จาก ร.ร.สุไหงโกลก จ.นราธิวาส ได้เดินทางมาสอบแต่ไม่สามารถเข้าสอบได้ เนื่องจากไม่มีเลขที่นั่งสอบทำให้ต้องมาเก้อและต้องฝ่ากระสุนกลับไป อย่างไรก็ตาม สทศ.ได้มีการเตรียมการ ในการรองรับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด เช่น ขู่วางระเบิด ก็ให้ยกเลิกการสอบไปก่อน และดำเนินการสอบให้ใหม่ ขณะเดียวกันมีการปรับเวลาการสอบวิชาสุดท้ายให้เร็วขึ้นเพื่อให้เสร็จก่อน 5 โมงเย็น เนื่องจากเกรงว่าจะเกิดอันตรายกับเด็ก ส่วนกรณีนักเรียนจากโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย จ.เชียงใหม่ จำนวน 300 คน ที่มีการระบุว่าไม่มีเลขที่นั่งสอบ แต่ทางสนามสอบกลับให้เข้าสอบได้ นั้น ตนได้สอบถามไปยังโรงเรียนดังกล่าวแล้วพบว่าเด็กทุกคนมีเลขที่นั่งสอบ” นางอุทุมพร กล่าวและว่าสำหรับการประกาศผลสอบโอเน็ตชั้น ม.6 คาดว่า จะประกาศได้ก่อนวันที่ 10 เม.ย. เพื่อให้เด็กนำคะแนนไปสมัครแอดมิชชัน ที่จะเริ่มเปิดรับสมัครในวันที่ 11 เม.ย.2551

จากนั้นเวลา 14.00 น.ที่โรงเรียนสารวิทยา นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ศึกษาธิการ พร้อมคณะได้เดินทางมาตรวจเยี่ยมสนามสอบ โดย นายสมชาย เปิดเผยภายหลังตรวจเยี่ยมสนามสอบว่า เท่าที่ได้รับการรายงานการดำเนินการจัดสอบโอเน็ตจาก ผอ.สทศ.รู้สึกพอใจ และผลการสอบที่ผ่านมาเป็นยอมรับของนักเรียน ผู้ปกครอง และโรงเรียน ส่วนปัญหารายชื่อนักเรียนตกหล่นจนไม่สามารถเข้าสอบโอเน็ตได้นั้น เป็นปัญหาเล็กน้อยสามารถแก้ไขได้ ซึ่งปัญหามาจากการรับส่งข้อมูลนักเรียนของโรงเรียนกับ สทศ.ที่ยังเป็นปัญหา ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะต้องไปทำความเข้าใจกับโรงเรียนต่างๆ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาอีก และเห็นด้วยที่ สทศ.จะจัดสอบให้กับเด็กที่เกิดเหตุสุดวิสัย เพราะเป็นการเปิดโอกาสให้กับเด็กได้เข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย

ทั้งนี้ โอเน็ตเป็นเครื่องมือวัดคุณภาพของนักเรียนและครูในโรงเรียน ซึ่งหากเด็กได้คะแนนโอเน็ตน้อย แสดงว่า มีปัญหาเรื่องการเรียนการสอนต้องไปปรับปรุง และการที่ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กำหนดให้นำโอเน็ตมาใช้ในการคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยแสดงว่าคะแนนดังกล่าวเป็นที่ยอมรับและช่วยในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ดังนั้น ทุกคนต้องตั้งใจสอบ

ต่อข้อถามว่า จะมีการนำผลสอบโอเน็ตของนักเรียน ป.6 มาใช้ในการคัดเลือกเข้า ม.1 หรือไม่ นายสมชาย กล่าวว่า เรื่องนี้ทาง สพฐ.ต้องไปศึกษาดูว่าคะแนนดังกล่าวเป็นอย่างไร และสามารถนำมาใช้ได้หรือไม่ แต่ในปีนี้คงใช้ไม่ทัน อย่างไรก็ตามขณะนี้เป็นโลกของการแข่งขัน แต่เรื่องของการแข่งขันไม่ใช่เรื่องยาก จึงอยากฝากนักเรียนให้ขยัน ตั้งใจเรียน อ่านหนังสือ และเตรียมตัวให้พร้อมกับการสอบโอเน็ต และอยากบอกว่าถึงแม้นักเรียนจะไม่สามารถเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยปิดได้ก็ยังมีมหาวิทยาลัยเปิดและมหาวิทยาลัยเอกชนอีกจำนวนมากที่จะรับนักเรียน ดังนั้น ไม่ต้องเสียใจถ้าจะพลาดโอกาสแอดมิชชัน
กำลังโหลดความคิดเห็น