xs
xsm
sm
md
lg

กรมสุขภาพจิต เตือนคนรัก-เกลียด “แม้ว” คุมสติ แนะมองขำๆ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กรมสุขภาพจิต แนะทั้งคนรักและเกลียด “แม้ว” ควบคุมสติอารมณ์ มองการเมือง ขำๆ เหมือนข่าวบันเทิง ทะเลาะกันเป็นปกติ ห่วงนักข่าว แกนนำการเมือง แยกหน้าที่-ความรู้สึก อย่าอินมากจนไหล กลายเป็นคนไร้วุฒิภาวะทางอารมณ์ ใช้14 ตุลา-16 ตุลา เป็นบทเรียน

วานนี้ (28 ก.พ.)นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักสุขภาพจิตสังคม กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองภายหลังจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางกลับประเทศไทย ที่อาจทำให้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองและสังคม เนื่องจากมีทั้งฝ่ายที่สนับสนุนให้กำลังใจ พ.ต.ท.ทักษิณ และฝ่ายที่ไม่ชื่นชม ซึ่งสังคมไทยเป็นประชาธิปไตย ดังนั้น จึงสามารถแสดงออกการความคิด ความรู้สึก หรือการเคลื่อนไหวชุมนุมได้อย่างอิสระถือเป็นสิทธิส่วนบุคคลที่พึงกระทำได้ แต่จะต้องอยู่ในขอบเขตและไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้อื่น

“สิ่งที่น่าห่วง คือ กลุ่มเสี่ยงที่มีอาชีพจะต้องติดตามข่าวสารอยู่ตลอดเวลา เช่น แกนนำทางการเมืองฝ่ายต่างๆ ผู้สื่อข่าวที่จะต้องเกาะติดข่าวสาร เป็นหน้าที่ที่ต้องแก้ปัญหาที่ดีที่สุด คือ จะต้องแยกหน้าที่กับความรู้สึกทางอารมณ์ขาดออกจากกัน ไม่ควรปล่อยให้เกิดความรู้สึกอินหรือไหลไปตามอารมณ์ เพราะจะเท่ากับกลายเป็นคนที่ไม่มีวุฒิทางภาวะ”นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า สำหรับกลุ่มเสี่ยง ที่ปฏิบัติตามหน้าที่แล้วทำให้เกิดความเครียด ไม่สามารถแยกความรู้สึกได้ อยากให้มองว่าข่าวสารทางการเมือง เป็นเหมือนข่าวบันเทิง ที่มีการทะเลาะโต้เถียงกันเป็นเรื่องปกติ แต่หากเป็นช่วงสถานการณ์วิกฤตให้ใช้กลไกทางจิตผ่อนเรื่องหนักให้เป็นเบา มองเชิงสร้างสรรค์ โดยคิดให้เป็นเรื่องตลกขบขันแทน ซึ่งนอกจากจะช่วยลดความรู้สึกตัวเองแล้วยังลดการกก่อพฤติกรรมที่สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่นด้วย

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวด้วยว่า ปัจจัยสำคัญที่อาจนำไปสู่ความขัดแย้งทางความคิดได้ คือ การติดตามข่าวสารทางการเมือง ทั้งทางโทรทัศน์ วิทยุ และหนังสือพิมพ์ ซึ่งจะผลักดันให้เกิดความเครียดเพิ่มขึ้น ดังนั้น หากเมื่อใดที่รู้สึกมีอารมณ์ร่วมกับข่าวสารที่ได้รับรู้มา หรือเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง เช่น รู้สึกโกรธ โมโห จนอดกลั้นไม่ไหว โดยการงดการรับรู้ข่าวสารต่างๆ และหันไปฟังเพลง ดูหนัง เพื่อผ่อนคลายความรู้สึก ที่สำคัญควรงดการสนทนาเรื่องทางการเมืองที่ยังมีอารมณ์ร่วมอยู่ด้วย หากสามารถทำได้สำเร็จก็จะช่วยคลี่คลายภาวะทางอารมณ์ได้

“สิ่งที่เป็นห่วง คือ การที่ประชาชนรู้สึกตื่นกลัวการเมือง การแบ่งพรรคแบ่งพวก เพราะมีทั้งคนที่ชอบและไม่ชอบ จนอาจนำไปสู่การเกิดม็อบหรือฝูงชน และนำไปสู่ความขัดแย้งทางสังคม ซึ่งประวัติศาสตร์สังคมไทยที่การเรียนรู้ความเจ็บปวดจากเหตุการณ์รุนแรงทั้ง 14 ตุลาคม และ 16 ตุลาคมมาแล้วเชื่อว่าผู้ใหญ่ในบ้านเมืองจะไม่ตอบโจทย์ในสิ่งที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น