xs
xsm
sm
md
lg

กองทุนกู้ยืมใหม่ ทำให้ผู้กู้เลือกสาขาจบแล้วมีงานทำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สุเมธ เผยกองทุนใหม่ ยึดหลักการ กรอ.3 ข้อ ส่งผลให้ผู้เรียนเลือกเรียนสาขาที่จบแล้วมีงานทำ-ตั้งใจเรียนให้จบ ด้าน นายก สสอท.เห็นด้วยรัฐบาลฟื้น กรอ.ไม่จำเป็นต้องให้ทุกคนได้กู้

ดร.สุเมธ แย้มนุ่น เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) แสดงความคิดเห็นว่า การจัดตั้งกองทุนใหม่จะใช้ชื่ออะไรไม่สำคัญ แต่ต้องดูหลักการของกองทุน ซึ่งกองทุนใหม่ใช้หลักการ กรอ.ที่มี 3 ข้อหลัก คือ 1.การจัดสรรงบประมาณ ต้องดูแลให้ชัดเจนว่ารายได้ในอนาคตมีจริงหรือไม่ 2.การผูกกับรายได้ในอนาคต คือ การชำระคืนแบบเดียวกับระบบภาษี และ 3.ผู้เรียนเป็นผู้รับผิดชอบเงินที่กู้ เพราะในสัญญาไม่มีผู้ค้ำประกัน ผู้เรียนต้องคำประกันโดยเอาอนาคตของตนเองมาค้ำ

ซึ่งหลักการเหล่านี้ จะทำให้ผู้เรียนระมัดระวังในการเลือกสาขาเรียนมากขึ้น เพื่อให้เรียนจบแล้วมีงานทำ รวมทั้งตั้งใจเรียนให้จบ และกองทุนใหม่ ยังสะท้อนแนวคิดการปฏิรูปการเงินเพื่อการอุดมศึกษาตามที่ สกอ.เสนอ คือ การอุดหนุนเงินผ่านผู้เรียนโดยให้ผู้เรียนกู้เรียน และการที่รัฐอุดหนุนให้สถานศึกษาในรูปแบบกองทุนต่างๆ อาทิ กองทุนพัฒนาอาจารย์ กองทุนสนับสนุนการวิจัย กองทุนทรัพย์สินถาวร เพื่อพัฒนามหาวิทยาลัย เป็นต้น คงต้องรอข้อสรุปอีกครั้ง วันที่ 4 มี.ค.นี้

นายสุเมธ กล่าวต่อว่า คณะทำงานยังมีข้อเสนอให้ สกอ.เตรียมข้อมูลเกี่ยวกับคณะวิชาต่างๆ เพื่อจัดลำดับความต้องการนั้น สกอ.ได้ส่งมอบข้อมูลพื้นฐานแต่ละหลักสูตร แบ่งตามกลุ่มสาขาวิชาต่างๆ ในระดับปริญญาตรี ซึ่งมีกว่า 1,000 หลักสูตร เรียบร้อยแล้ว และยังได้ประมาณการค่าใช้จ่ายเพื่อกู้เงิน ตั้งแต่ 60,000-150,000 บาท

ขณะที่ รศ.ดร.จีรเดช อู่สวัสดิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในฐานะนายกสมาคมสถาบันอุดมศึกษาแห่งประเทศไทย (สสอท.) ระบุว่า รัฐบาลต้องบอกให้ชัดเจนว่า จะฟื้น กรอ.หรือไม่ จะปรับเปลี่ยนอย่างไร มีหลักเกณฑ์การกู้ยืมอย่างไร โดยเร็วเพื่อทุกฝ่ายได้เตรียมตัว โดยเฉพาะนักเรียนที่จะเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยจะตัดสินใจเลือกที่จะเรียนต่อในมหาวิทยาลัยรัฐ หรือเอกชนดี เพราะค่าเล่าเรียนของเอกชนแพง แต่จัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพ

“หากรัฐบาลฟื้น กรอ.ตนเห็นด้วย เพียงแต่ไม่จำเป็นต้องให้ทุกคนได้กู้ ควรมีการกำหนดรายได้ของครอบครัวผู้ที่จะกู้ได้อย่าง กยศ.ให้สูงกว่า 15,000 บาทต่อปี”
กำลังโหลดความคิดเห็น