xs
xsm
sm
md
lg

สธ.ชี้เครื่องในหมูจากออสซี่ ไม่ฆ่าเชื้อ หวั่นปนเชื้อโรคจี้ อย.ตรวจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ไชยา” แฉไทยนำเข้าเครื่องในหมูสดจากออสซี่ขึ้นเหลา ทำจังก์ฟูด อาหารสัตว์ หวั่นปนเชื้อไวรัส โรคระบาด จี้ อย.ตรวจสอบด่วน จุ้นพาณิชย์ชี้สาเหตุหมูแพง เพราะต้นทุนอาหารสุกรสูงขึ้น และการคำนวณราคาเนื้อหมูของพาณิชย์ทำให้ผู้ประกอบการขาดทุน

วันนี้ (25 ก.พ.) นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ตนได้รับการร้องเรียนจากผู้เลี้ยงสุกรใน จ.นครปฐม เรื่องการนำเข้าเครื่องในหมูจากต่างประเทศ เพื่อมาขายในท้องตลาด ซึ่งพบว่า เครื่องในหมูสดเหล่านี้นำเข้าจากประเทศออสเตรเลีย โดยไม่ผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อ หรือต้มสุก เพื่อนำเข้ามาผลิตเป็นอาหารขยะ (junk food) และยังนำมาเป็นอาหารในภัตตาคารด้วย ซึ่งในฐานะของ สธ.ที่ดูแลเรื่องสุขภาพมีความเป็นห่วงเรื่องคุณภาพ ความปลอดภัยของเนื้อหมู ซึ่งตนได้สั่งการให้ นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัด สธ. เร่งตรวจสอบ และมอบนโยบายให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เข้มงวดกับการตรวจสอบเนื้อสัตว์ชำแหละ แปรรูป เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคด้วย

“มีคนในฟาร์มหมูบอกผมว่า เครื่องในหมูที่นำเข้าจากออสเตรเลียนั้น มีความสดมาก ขนาดส่งมาถึงไทยแล้ว เมื่อแกะกล่องออกดู เลือดสดๆ ยังไหลออกมาจากถุง ซึ่งอันตรายมาก หากมีไวรัส หรือโรคระบาดแปลกปลอมมากับเครื่องในหมูเหล่านั้น ผู้ที่สัมผัสเนื้อหมูอาจจะป่วยได้ นอกจากนี้ ยังมีการนำเครื่องในหมูไปผลิตอาหารสัตว์อย่างสุนัข แมว ซึ่งหากเกิดการติดเชื้อ อาจเป็นอันตราย และยิ่งสัตว์เหล่านั้นวิ่งเข้าไปในฟาร์มหมู อาจเป็นต้นเหตุให้หมูตายยกฟาร์มได้ ดังนั้น ปัญหาหมูแพงจะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น ซึ่งพอสธ.รู้ปัญหา ก้ไม่ใช่ยื่นมือไปได้ เพราะไม่ใช่หน้าที่เรา ทำได้เพียงประสานให้ผู้ประกอบการได้หารือกับกระทรวงพาณิชย์ในการแก้ไขปัญหาเท่านั้น” นายไชยา กล่าว

นายไชยา กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ ข้อมูลของผู้ประกอบการที่เล่าให้ฟังถึงสาเหตุที่ทำให้ราคาแพง เนื่องจากปัจจุบันต้นทุนการเลี้ยงสุกรเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะวัตถุดิบทางการเกษตรที่นำมาดัดแปลงเป็นอาหารของสุกรมีราคาสูงขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากเกษตรกรหันไปสนใจส่งวัตถุดิบทางการเกษตรไปแปรรูปเป็นพลังงานมากกว่า เพราะมีราคาได้กว่า จึงทำส่งผลกระทบเป็นวงจรทำให้ราคาเนื้อสุกรเพิ่มสูงขึ้น ตามไปด้วย

“อีกปัญหาหนึ่ง คือ กระบวนการในการคำนวณราคาเนื้อหมูของกระทรวงพาณิชย์ ที่จะคำนวณจากหมูเป็นๆ ยังไม่ผ่านการชำแหละ 100 กิโลกรัมประมาณ 6 พันบาท แต่เมื่อผ่านกระบวนการชำแหละ แปรรูปแล้ว จะทำให้เหลือเนื้อหมูเพียง 90 กิโลกรัมเท่านั้น ส่วนที่หายไปเป็นเลือด และน้ำจากตัวหมู ซึ่งจุดนี้เป็นปัญหาทำให้เกษตร ผู้ประกอบการฟาร์มเลี้ยงหมูขาดทุนเพิ่มขึ้นอีก และในจำนวน 90 กิโลกรัม มีเนื้อหมูแดงที่สามารถนำไปขายได้ราคาดีเพียง 38 กิโลกรัมเท่านั้น” นายไชยา กล่าว

ด้าน นพ.นิพนธ์ โพธิ์พัฒนชัย รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า โดยขั้นตอนการตรวจสอบอาหารนำเข้าตามปกติ ของ พ.ร.บ.อาหารที่ อย.ดูแลอยู่นั้น จะมีการสุ่มตรวจอาหารเพื่อตรวจสอบความปลอดภัย อาทิ มีการนำเข้าเห็ดหอมก็ต้องมีการสุ่มตรวจสอบโลหะหนัก สารปนเปื้อนทั้งปรอท สารตะกั่วอยู่เสมอๆ รวมถึงเนื้อสัตว์ด้วยเช่นกัน แต่ขณะนี้อยู่ระหว่างการเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการนำเข้าและสุ่มตรวจเครื่องในสุกรโดยเฉพาะ
กำลังโหลดความคิดเห็น