xs
xsm
sm
md
lg

กรมวิทย์ยันโรคมือเท้าปากในไทยไม่รุนแรง‏ถึงชีวิต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เผย ผลตรวจเชื้อโรคมือ เท้า ปาก ในเมืองไทยส่วนใหญ่ เป็นเชื้อไวรัสคอกซากี เอ 16 ซึ่งเป็นเชื้อไม่รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต พร้อมประสานกรมควบคุมโรค ติดตามสถานการณ์ การระบาดของโรค และเฝ้าระวังเชื้อที่เป็นสาเหตุการระบาดอย่างใกล้ชิด

นายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีการแพร่ระบาดของโรคมือ เท้า ปาก ซึ่งล่าสุดพบผู้ป่วย 2 รายในกรุงเทพมหานคร และจากการเฝ้าระวังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคดังกล่าว โดยผลการเฝ้าระวังทางห้องปฏิบัติการ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สอดคล้องกับข้อมูลของการระบาดของสำนัก-ระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ว่า มีการระบาดของโรคจริงและมีแนวโน้มสูงขึ้น ซึ่งจากข้อมูลสถาบันวิจัย-วิทยาศาสตร์สาธารณสุข พบว่า ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ถึง ธันวาคม 2550 มีตัวอย่างจากผู้ป่วยส่งตรวจสูงขึ้นจากเดิม 6 เท่าตัว เมื่อเทียบกับจำนวนตัวอย่างใน 6 เดือนแรกของปี 2550 และสูงสุดในรอบ 10 ปี โดยจำนวนตัวอย่างจากผู้ป่วยส่งตรวจทั่วประเทศปี 2550 ทั้งหมด 2,533 ราย โดยพบเชื้อไวรัสคอกซากี เอ 16 (coxsackie A 16) เป็นสาเหตุการระบาดเป็นส่วนใหญ่ ผู้ป่วยมักไม่มีอาการรุนแรง ซึ่งแตกต่างจากต่างประเทศที่พบเชื้อไวรัสเอนเตอโร 71 (enteroviruses 71) ที่อาจรุนแรงถึงเสียชีวิต

ทั้งนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะติดตามสถานการณ์การระบาดและเฝ้าระวังเชื้อที่เป็นสาเหตุของการระบาดของโรค โดยจะประสานงานกับกรมควบคุมโรคอย่างใกล้ชิด โรคมือ เท้า ปาก มักพบในกลุ่มทารกและเด็กอายุน้อยกว่า 10 ปี โดยเฉพาะอายุต่ำกว่า 5 ปี สำหรับอาการของโรคดังกล่าว ผู้ป่วยจะมีอาการไข้ร่วมกับตุ่มเล็กๆ เกิดขึ้นที่ผิวหนังบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า และในปาก ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง หายเองได้ หรืออาจพบอาการเพียงเล็กน้อย เช่น มีไข้ ปวดศรีษะ คลื่นไส้ ปวดเมื่อย เจ็บปากกลืนน้ำลายไม่ได้ พบตุ่มแผลในปาก แผลที่เพดานอ่อนลิ้นและกระพุ้งแก้ม เป็นสาเหตุให้เด็กไม่ดูดนม และไม่กินอาหาร เป็นต้น จะมีอาการประมาณ 3-5 วัน แล้วหายเองได้ แต่บางราย จะมีอาการรุนแรง ขึ้นอยู่กับชนิดของไวรัส เพราะโรคมือ เท้า ปาก เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสที่อยู่ในลำไส้ของคน (enteroviruses) ซึ่งมีหลายชนิด เช่น ไวรัสคอกซากี เอ 16 ผู้ป่วยมีอาการไม่รุนแรง สามารถหาย เป็นปกติภายใน 7-10 วัน และที่พบได้อีกคือ สายพันธุ์ไวรัสเอนเตอโร 71 (enteroviruses 71) อาการโดยทั่วไปเหมือนไวรัสคอกซากี เอ 16 แต่ผู้ป่วยบางรายจะมีอาการทางสมองร่วมด้วยและอาจก่อให้เกิดโรครุนแรงถึงเสียชีวิต

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การระบาดของโรคมือ เท้า ปาก ในประเทศไทย แบ่งเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม และเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นช่วงที่เด็กเปิดเรียน ทั้งนี้ โรคดังกล่าวที่พบในประเทศไทยยังไม่มีความรุนแรงถึงขั้นทำให้เสียชีวิต แต่เนื่องจากเป็นโรคที่ติดต่อกันได้ง่ายโดยการรับเชื้อเข้าทางปาก จมูก การไอ จาม หรือติดมากับมือที่สัมผัสสิ่งของ และการใช้ภาชนะในการรับประทานอาหารหรือน้ำดื่มร่วมกัน จึงต้องมีการเฝ้าระวังกันอย่างต่อเนื่อง สำหรับวิธีป้องกันและควบคุมโรคที่ได้ผลดี คือ ต้องรักษาสุขอนามัย ความสะอาดในการกินอยู่ หมั่นล้างมือให้สะอาด ใช้ช้อนกลาง และหลีกเลี่ยงการอยู่ร่วมกันแบบแออัด เพราะเป็นสาเหตุของการติดต่อและแพร่กระจายของโรคได้อย่างรวดเร็ว จึงขอฝากถึงครูและผู้ปกครองหากพบเด็กป่วยต้องแยกตัวให้อยู่กับบ้านเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด แต่หากเกิดการระบาดในเด็กจำนวนมากต้องใช้มาตรการปิดโรงเรียนชั่วคราว แล้วทำความสะอาดบริเวณที่คาดว่าจะมีการปนเปื้อนของเชื้อโรคโดยใช้น้ำยาฆ่าเชื้อที่มีส่วนผสมของสารคลอรีน หรือไอโอดีน จึงจะทำลายเชื้อชนิดนี้ได้


กำลังโหลดความคิดเห็น