xs
xsm
sm
md
lg

รอฟื้นเมกะโปรเจกต์ “รบ.หมัก” ทุ่มพันล้าน ตั้งโรงงานวัคซีนไข้เลือดออก-เอดส์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“หมอธวัช” ผลักดันตั้งโรงงานผลิตวัคซีนไข้เลือดออก-เอดส์ เข้าแผนเมกะโปรเจกต์ “รัฐบาลหมัก” หลังงานวิจัยวัคซีนทั้ง 2 ตัวได้ผลดี เตรียมพร้อมจดสิทธิบัตรในไทยเป็นครั้งแรก ระบุใช้งบก่อตั้งอย่างน้อยแห่งละ 1 พันล้านบาท แนะเปิดให้กูรูเอกชนเข้าดำเนินการ เหตุรัฐยังขาดผู้เชี่ยวชาญ-อภ.รับภาระหนักแล้ว

นพ.ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า หากรัฐบาลจะฟื้นโครงการเมกะโปรเจกต์มาดำเนินการต่อ ตนจะเสนอผ่านทางกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้รัฐบาลพิจารณาโครงการก่อตั้งโรงงานผลิตวัคซีนชนิดใหม่ เป็นหนึ่งในโครงการเมกะโปรเจกต์ระดับชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัคซีนไข้เลือดออก ที่คิดค้นวิจัยโดยคนไทย และขณะนี้อยู่ในการทดลองขั้นสุดท้ายด้วยการทดลองในคนกลุ่มใหญ่ ซึ่งจะป้องกันได้ 4 สายพันธุ์ สามารถใช้ได้ทั่วโลก จากนั้นจะดำเนินการจดสิทธิบัตร จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องตั้งโรงงานผลิตวัคซีนชนิดนี้ในประเทศไทย

นพ.ธวัช กล่าวอีกว่า เช่นเดียวกับวัคซีนเอดส์ที่จะใช้ป้องกันเชื้อในสายพันธุ์ที่ระบาดในประเทศ เหลือเวลาในการวิจัยอีก 1 ปีครึ่ง น่าจะได้ผลสรุป จากนั้นจะดำเนินการจดสิทธิบัตรที่ประเทศไทย นับเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่จะมีการจดสิทธิบัตรวัคซีน โดยขณะนี้ได้มีการตั้งคณะทำงานร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) เพื่อศึกษาขั้นตอน วิธีการและเตรียมความพร้อมในการจดสิทธิบัตร ช่วงเวลานี้รัฐจะต้องตัดสินใจว่าจะเป็นผู้ลงทุนในการก่อตั้งโรงงานผลิตวัคซีนทั้ง 2 ชนิดนี้เอง หรือจะเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามาดำเนินการแล้วทำบันทึกข้อตกลงกับรัฐ

ทั้งนี้ การดำเนินการก่อตั้งโรงงานผลิตวัคซีนหากเป็นโรงงานขนาดย่อม จะใช้งบประมาณอย่างน้อย 1 พันล้านบาทต่อแห่ง หากต้องการเพิ่มกำลังการผลิตให้มากขึ้นก็จะต้องใช้งบประมาณในการก่อตั้งมากขึ้น คาดว่าจะใช้เวลาในการก่อสร้าง 2 ปี จึงจะแล้วเสร็จและใช้เวลาอีก 2 ปีในการผลิตยาตัวอย่างเพื่อวิเคราะห์คุณภาพ หากดำเนินการตั้งแต่ตอนนี้เชื่อว่าอีก 4 ปีจะสามารถผลิตวัคซีนได้

“การจะก่อตั้งโรงงานผลิตวัคซีนชนิดใหม่ หรือไม่ควรคิดตั้งแต่ตอนนี้ จะรอให้วัคซีนเสร็จก่อนไม่ได้ รัฐต้องเร่งพิจารณาว่าจะดำเนินการเอง หรือให้เอกชนร่วมทุน แต่หากรัฐจะดำเนินการเองประสบการณ์สอนเราว่า เราไม่มีปัญหาเรื่องเงิน แต่มีปัญหาด้านการขาดบุคลากรผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ที่สำคัญ หากรัฐจะทำเองก็คงต้องโยนให้เป็นหน้าที่ขององค์การเภสัชกรรม(อภ.) ซึ่งผมมองว่า อภ.มีความรับผิดชอบที่มากอยู่แล้วในการก่อตั้งและเตรียมผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่และไข้หวัดนก” นพ.ธวัช กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น