xs
xsm
sm
md
lg

ชม "พระเมรุและสิ่งปลูกสร้าง" ในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ "พระพี่นางฯ"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สิ่งก่อสร้างพระเมรุและอาคารประกอบในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
 

สิ่งก่อสร้างพระเมรุและอาคารภายในมณฑลพิธีท้องสนามหลวง

  • พระเมรุ
    พระเมรุสมเด็จพระเจ้าพี่นาง เธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เป็นกุฎาคารเรือนยอดประธานมณฑลสร้างหันหน้าไปทางทิศตะวันตก เป็นพระเมรุทรงปราสาทจัตุรมุขย่อมุมไม้สิบสอง ยอดปักพระสิปตปฎลเศวตฉัตร จากฐานถึงยอดฉัตรสูง ๓๗.๘๕ เมตร กว้าง ๓๑.๘๐ เมตร ยาว ๓๙.๘๐ เมตร สร้างด้วยไม้ โครงสร้างภายในเป็นเหล็กประดับด้วยกระดาษทองย่นตกแต่งด้วยลวดลาย ฐานพระเมรุ จัดทำเป็น ๒ ระดับ มีบันไดทอดถึงตลอดทั้ง ๔ ทิศ ระดับแรกเรียกว่า ฐานชาลา ประดับด้วยรูปเทวดานั่งคุกเข่า พระหัตถ์ถือบังแทรกตรงกลางเป็นโคมไฟ ประดับตามพนักฐานชาลา ด้านในมีรูปเทวดาประทับยืนถือฉัตรเครื่องสูงรายรอบ ระดับที่สองหรือฐานบน เรียกว่า ฐานพระเมรุ เป็นฐานสิงห์ มีบันไดทางขึ้นจากฐานชาลาทั้ง ๔ ทิศ

    โถงกลางใหญ่ตั้งพระ จิตกาธานขนาดใหญ่สำหรับประดิษฐานพระโกศ เพื่อถวายพระเพลิง ทางด้านทิศเหนือของพระจิตกาธานมีรางยื่นออกไปนอกมุขเป็นสะพานเกริน เพื่อใช้เป็นที่เคลื่อน พระโกศจากพระยานมาศสามลำคานขึ้นบนพระเมรุ

  • องค์พระเมรุทั้งด้านในและ ด้านนอก ประดับตกแต่งด้วยกระดาษทองย่นเกือบทั้งหมด ใช้สีทองเป็นหลักและประกอบด้วยสีอื่นๆ ที่เป็นสีอ่อนหวาน เหมาะกับพระอุปนิสัยและพระจริยวัตรที่นุ่มนวล สง่างามของพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
  • พระที่นั่งทรงธรรม

    พระที่นั่งทรงธรรม เป็นอาคารโถง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของพระเมรุ ใช้เป็นสถานที่สำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับทรงธรรมและทรงประกอบพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลในการออกพระเมรุพระศพ รวมทั้งมีที่สำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ คณะองคมนตรี คณะรัฐมนตรี ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน สมาชิกรัฐสภา ตลอดจนคณะฑูตานุทูต เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท

    ภายในพระที่นั่งทรงธรรม เป็นที่ตั้งอาสนะพระสงฆ์ และธรรมมาสน์ เป็นที่ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลและเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อทรงพักพระอิริยาบถ ซึ่งตรงกับมุขด้านหน้าของพระเมรุ มุขเหนือและใต้เป็นที่สำหรับข้าราชการเข้าเฝ้า
  • หอเปลื้อง

    หอเปลื้องตั้งอยู่ทางทิศตะวัน ออก ตรงมุขหลังของพระเมรุเป็นอาคารขนาดเล็ก ภายในเขต ราชวัติ หันหน้าเข้าหาพระเมรุ ลักษณะเป็นอาคารทรงไทย มีฝากั้นโดยรอบ หอเปลื้องเป็นสถานที่สำหรับเก็บพระโกศหลังจากได้เชิญพระศพขึ้นประดิษฐานบนจิตกาธานแล้ว และใช้เป็นที่เก็บสัมภาระต่างๆในการพระราชพิธี เช่น ฟืน ดอกไม้จันทน์ ขันน้ำ ซึ่งจะต้องตั้งน้ำสำหรับเลี้ยงเพลิงเวลาเมื่อพระราชทานเพลิง
  • ซ่างหรือสำส้าง

    ซ่างหรือสำส้าง เป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า สร้างขึ้นที่มุมทั้งสี่บนชาลาพระเมรุ ใช้เป็นที่สำหรับพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรม ตลอดงานพระเมรุ ตั้งแต่พระโกศพระศพประดิษฐานบน พระจิตกาธาน จนกว่าจะพระราชทานเพลิงเสร็จ คือจะมีพระพิธีธรรม ๔ สำรับ นั่งอยู่ประจำซ่างโดยจะผลัดกันสวดทีละซ่างเวียนกันไป

  • ทับเกษตร

    ทับเกษตร คือ อาคารที่ปลูกริมแนวรั้วราชวัติ โดยสร้างเป็นอาคารโถงทรงไทย ทับเกษตรนี้ใช้เป็นที่สำหรับข้าราชการที่มาในพระราชพิธีพักและฟังสวดพระอภิธรรม

  • ศาลาลูกขุน

    ศาลาลูกขุน เป็นอาคารโถงทรงโรง สร้างตรงปลายปีกพระที่นั่งทรงธรรม ทั้งด้านทิศเหนือและด้านทิศใต้ ใช้เป็นที่เฝ้าของข้าราชการ

  • ทิม

  • ทิมเป็นอาคารจำนวน ๖ หลัง สร้างติดรั้วราชวัติทั้ง ๔ ทิศ ด้านเหนือใต้ด้านละ ๑ หลัง ด้านตะวันตกและตะวันออกด้านละ ๒ หลัง ด้านหน้าเปิดโล่ง หลังคาเป็นลักษณะหลังคาปะรำ (หลังคาแบน) ใช้สำหรับเจ้าพนักงาน พระสงฆ์ แพทย์หลวงพักและใช้เป็นที่ตั้งเครื่องประโคมพระศพด้วย

  • ราชวัติ

    ราชวัติ เป็นแนวรั้วกั้นเป็นเขตปริมณฑลของพระเมรุทั้ง ๔ ด้าน

    สิ่งก่อสร้างภายนอก มณฑลพิธีท้องสนามหลวง

  • พลับพลายก
    พลับพลายกที่สร้างมี ๓ หลัง ตั้งที่ท้องสนามหลวง นอกรั้วราชวัติ ด้านทิศเหนือ ๑ หลัง ที่หน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท ๑ หลัง และที่หน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามอีกหนึ่งหลัง

    หลังที่ท้องสนามหลวง ใช้สำหรับเสด็จรับพระศพลงจากราชรถ หลังที่หน้าวัดพระเชตุพนวิมล มังคลาราม ใช้สำหรับเสด็จส่งพระศพขึ้นราชรถ หลังที่หน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท สำหรับเจ้านายฝ่ายในประทับ ทอดพระเนตรกระบวน และถวายบังคมพระศพ

  • เกย

    เกย มีลักษณะเป็นยกพื้นสี่เหลี่ยมย่อไม้แปด ตั้งอยู่ด้านหน้าประตูกำแพงแก้วด้านทิศตะวันตกของพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวัง มีบันไดขึ้นลงสามข้าง ด้านตะวันตกเป็นที่เทียบพระยานมาศสามลำคาน สำหรับอัญเชิญพระโกศพระศพขึ้นประดิษฐาน ด้านตะวันออกเป็นที่อัญเชิญพระโกศจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทขึ้นเกย ด้านเหนือและใต้ สำหรับเจ้าพนักงาน

    นอกจากนี้อาจมีการสร้าง ซุ้มรับดอกไม้จันทน์สำหรับเป็นที่ให้ประชาชนได้นำดอกไม้จันทน์มาถวายเป็นราชสักการะเป็นจุดๆ รอบสนามหลวงอีกด้วย




    บทความโดย ไพบูลย์ ผลมาก
    ผู้อำนวยการสำนักสถาปัตยกรรม




  • ตัวอย่างทับเกษตร











    กำลังโหลดความคิดเห็น