xs
xsm
sm
md
lg

ร้านเกมลามหนัก รุกคืบล้อมโรงเรียน ผุดโปรโมชันล่อใจเด็ก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ร้านเกมลามหนัก สำรวจพบโรงเรียนบางแห่งถูกร้านเกมล้อมเกือบ 20 ร้าน เด็กเข้าไปมั่วสุมวันละ 4-5 ชั่วโมง เจ้าของร้านเสนอโปรโมชันล่อใจเด็กทั้งแจกทั้งแถม สสส.วอนขอให้เจ้าของร้านเกมทำธุรกิจอย่างมีคุณธรรม ควรคำนึงถึงผลเสียต่อเยาวชน

จากที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สมาคมผู้บำเพ็ญประโยชน์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ดำเนินโครงการแผนที่สุขภาพ เพื่อเพิ่มพื้นที่ดี ลดพื้นที่เสี่ยงรอบโรงเรียนโดยมีสถาบันการศึกษาเข้าร่วม 153 แห่ง จากการสำรวจพื้นที่รอบๆ โรงเรียนในรัศมี 5 กิโลเมตร พบว่า ร้านเกมเป็นพื้นที่เสี่ยงอันดับหนึ่งในสายตาของเด็กๆ ที่เข้าร่วมโครงการ

น.ส.วนิดา พันลำ อายุ 16 ปี นักเรียนชั้น ม.5/1 โรงเรียนตะพานหิน อ.ตะพานหิน จ.พิจิตร แกนนำในการสำรวจพื้นที่ตามโครงการแผนที่สุขภาพฯ ของโรงเรียนตะพานหิน เปิดเผยว่า ตนและเพื่อนๆ อีก 68 คน ที่เข้าร่วมโครงการ เห็นว่า ร้านเกมเป็นสถานที่ที่สร้างสิ่งเร้ามากมายต่อเยาวชน ส่งผลให้เพื่อนๆ ของตนติดเกม ไม่ไปเรียนหนังสือ ทำให้เสียการเรียน ซึ่งนักเรียนบางคนใช้เวลาอยู่ในร้านเกมวันละ 4-5 ชั่วโมง โดยต้องเสียค่าบริการชั่วโมงละ 15-20 บาท

น.ส.วนิดา กล่าวต่อไปว่า จากการสำรวจพบว่า รอบๆ โรงเรียนตะพานหินในรัศมีไม่เกิน 5 กิโลเมตร มีร้านเกมเกือบ 20 ร้าน เปิดดำเนินการในรูปแบบที่แตกต่างกันไป ร้านเกมบางแห่งซ่อนตัวอยู่ในร้านเสริมสวย และยังมีหลายๆ แห่งทำเป็นร้านในลักษณะปิดทึบ ซ่อนเร้น ทำให้คนภายนอกไม่สามารถมองเข้าในร้านได้ ซึ่งไม่มีทางรู้ได้ว่าข้างในนั้น ทำอะไรกันบ้าง

“ตอนนี้เกมที่ฮิตๆ กัน คือ เกมคาบาล เด็กๆ จะติดกันมาก และทางร้านเองก็มีโปรโมชันมาล่อใจเด็กๆ ด้วย อย่างบางร้านให้ส่วนลดพิเศษสำหรับคนที่ไปเล่นบ่อยๆ หรือบางที่ถ้าใครเล่นครบ 10 ชั่วโมง ก็จะได้เล่นฟรีอีก 1 ชั่วโมง” น.ส.วนิดา กล่าว

ส่วนอาจารย์วัลลาห์ สายอุบล อาจารย์โรงเรียนตะพานหิน อ.ตะพานหิน จ.พิจิตร กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากนักเรียนได้เข้าไปสำรวจร้านเกม และจัดทำแผนที่สุขภาพ เพื่อชี้ให้เห็นถึงพื้นที่เสี่ยงที่รอบๆ โรงเรียนแล้ว สถานการณ์ต่างๆ ก็ดีขึ้น ทางโรงเรียนและเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าไปพูดคุยกับเจ้าของร้านเกม ให้ช่วยกันสอดส่งดูแล จะต้องไม่อนุญาตให้นักเรียนเข้าไปเล่นก่อนเวลา 16.00 น.และห้ามเปิดเกิน 22.00 น.

“เด็กที่ติดเกมส่วนใหญ่อยู่ในระดับ ม.ต้น ซึ่งเด็กวัยนี้ ยังหักห้ามจิตใจของตัวเองไม่ค่อยได้ นึกแต่จะทำให้ตัวเองมีความสุขอย่างเดียว ไม่ได้มองอนาคตไกลๆ ซึ่งครูหรือผู้ปกครองต้องช่วยกันดูแลอย่างใกล้ชิด อาจจะต้องใช้การบังคับบ้างในบางครั้ง” อาจารย์วัลลาห์ ให้ความเห็น

ทางด้าน นพ.กำจร ตติยะกวี กรรมการบริหารแผนสนับสนุนโครงการเปิดรับทั่วไปและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้ความเห็นว่า เกมอาจจะส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมของเด็กที่เล่น หากเกมนั้นแฝงด้วยความรุนแรง อาจจะทำให้เด็กมีความก้าวร้าวมากขึ้น ซึ่งพ่อแม่ผู้ปกครองต้องดูแลอย่างใกล้ชิด หากเด็กอยากจะเล่นจริงๆ อาจจะต้องใช้วิธีให้รางวัล คือถ้าเรียนได้เกรดดีๆ ก็อาจจะอนุญาตให้เล่นได้

นพ.กำจร ยังกล่าวด้วยว่า นอกจากผู้ปกครองแล้ว กลไกที่จะช่วยกันแก้ปัญหานี้ยังต้องร่วมมือกันหลายๆ ฝ่ายทั้งในส่วนของเจ้าหน้าที่รัฐ และที่สำคัญ คือ ผู้ประกอบการเจ้าของร้านเกม จะต้องคำนึงถึงอนาคตของชาติเป็นสำคัญ ควรดำเนินธุรกิจอย่างมีคุณธรรมและจริยธรรม ไม่แสวงหาผลประโยชน์โดยที่ทำร้ายเด็กๆ ไปด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น